ยอดผู้เสียชีวิตจากพายุไซโคลน
กำลังแรงที่พัดเข้าถล่มพื้นที่ทางใต้ของบังคลาเทศ เพิ่มขึ้นเกิน1 พันคนแล้ว ขณะที่นานาชาติเร่งให้ความช่วยเหลือ ด้านกรมทรัพยากรธรณี เตือนประชาชนเฝ้าระวังภัยน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มช่วงนี้ โดยเฉพาะ จ.ชุมพร สุราษฎร์ และนครศรีธรรมราช
(17พย.) สำนักข่าว ยูเอ็นบี ของปากีสถานเปิดเผยว่า
ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างไม่เป็นทางการที่รวบรวมได้จากแหล่งข่าวท้องถิ่น จนถึงขณะนี้น่าจะเกิน 1,100 คนแล้ว นับตั้งแต่ที่พายุที่เกิดในอ่าวเบงกอล พัดเข้าถล่มชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเมื่อคืนวันพฤหัสบดี และมีผู้สูญหายอีกอย่างน้อย 300 คน ขณะที่ทางการยังคงยืนยันยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 785 ราย แต่ยอมรับว่าตัวเลขจริงอาจจะสูงกว่านี้ เมื่อข้อมูลจากต่างจังหวัดเริ่มทะยอยเข้ามายังส่วนกลาง และก็เชื่อว่า ภัยพิบัติครั้งนี้จะไม่เลวร้ายเท่ากับไซโคลนเมื่อปี 2534 ที่คร่าชีวิตผู้คนไป 1 แสน 3 หมื่น 8 พันราย และปี 2513 ที่คร่าชีวิตผู้คนไป 5 แสนราย
พายุไซโคลนลูกนี้ยังได้ทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย เรือกสวนไร่นาและฟาร์มประมงได้รับความเสียหายหนัก รวมถึงถนนและไฟฟ้าถูกตัดขาด แม้แต่ในกรุงธากา เมืองหลวงของประเทศ ทำให้การติดต่อสื่อสารและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความยากลำบาก
ขณะที่นานาชาติเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อการบรรเทาทุกข์ โดยสหรัฐได้แสดงความเสียใจกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นและประกาศพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลบังคลาเทศและประเทศ ผู้บริจาคอื่นๆอย่างเต็มที่ ขณะที่เยอรมนีจะมอบเงินช่วยเหลือฉุกเฉินแก่บังคลาเทศ 2 แสนยูโร หรือประมาณ 10 ล้านบาท
ด้านนายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งเตือนขอให้ประชาชนในพื้นที่ภูเขาสูง หุบเขา และหมู่บ้านที่อยู่ติดเส้นทางน้ำบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะในเขตอำเภอพะโต๊ะ หลังสวนจังหวัดชุมพร อำเภอวิภาวดี คีรีรัฐนิคม บ้านตาขุน พนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอลานสกา ร่อนพิบูลย์ ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เฝ้าระวังภัยน้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม
เนื่องจากได้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง
วัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตรและเริ่มมีน้ำหลากในบางพื้นที่แล้วขอให้ประ ชาชนตรวจเฝ้าระวังภัยอย่างใกล้ชิดในระยะ 1-2 วันนี้ และเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง ซึ่งอาจเกิดดินไหลมาปิดทับเส้นทาง หรือหินร่วงจากหน้าผาข้างถนน พร้อมทั้งให้อาสาสมัครเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่มของกรมทรัพยากรธรณี วัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามที่ได้มีการอบรมไว้แล้ว