คุมตัวทีมฆ่านายก อบจ.แพร่ ส่งกองปราบฯสางคดี

ผู้ช่วย ผบ.ตร.พร้อมบิ๊กตำรวจนำกำลังคอมมานโดฯ 20 นาย คุมทีมสังหารนายก อบจ.แพร่เข้ากรุง ส่งตัวให้กองปราบฯคุมฝากขัง-ดำเนินคดี ขณะที่ "วงกต มณีรินทร์"สั่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานพร้อมขยายผลสืบสวน ด้านลูกสาวโกรักษ์โวยตำรวจหวังสร้างผลงาน ทั้งที่ไม่มีหลักฐานมัดพ่อบงการฆ่า

กองปราบฯ เวลา 10.45 น.วันที่ 30 ตุลาคม

พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ผู้ช่วย ผบ.ตร.,พล.ต.ต.ปัญญา มาเม่น รอง ผบช.ก.,พ.ต.อ.ประยนต์ ลาเสือ ,พ.ต.อ.ฐิติราช หนองหาญพิทักษ์ รอง ผบก.ป.,พ.ต.อ.ประเสริฐ พัฒนาดี ผกก.4 บก.ป. พร้อมกำลังตำรวจหน่วยคอมมานโด,กองปราบปรามอาวุธครบมือจำนวน 20 นาย ควบคุมตัวนายจงรักษ์ ศุภศิริ หรือโกรัก อายุ 55 ปี ญาติ น.ส.ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู หรือแม่เลี้ยงติ๊ก อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาใช้จ้างวานฆ่า,นายธานี หรือเอช วงศ์แพทย์ อายุ 31 ปี มือปืน,นายอิทธิกร หรือเล็ก อึ้งตระกูล อายุ 30 ปี และนายเกียรติศักดิ์ หรือ หนุ่ย ปงลังกา อายุ 25 ปี คนชี้เป้า ผู้ต้องหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จากสนามบินกรมการบินพาณิชย์ อ.เมือง จ.แพร่ มายังกองบินตำรวจ ย่านบางเขน เพื่อนำตัวมาสอบสวนดำเนินคดีที่กองปราบปราม หลังผู้ต้องหาทั้งหมดถูกจับกุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อมาถึงกองปราบปราม น.ส.สุลักษภณา ศุภศิริ อายุ 25 ปี และ น.ส.สุทธิดา ศุภศิริ อายุ 20 ปี บุตรสาวของนายจงรักษ์ ต่างโผเข้าสวมกอดบิดาและร่ำไห้ด้วยความเสียใจ


เนื่องจากเชื่อว่าบิดาไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับคดีที่เกิดขึ้น โดยได้นำเสื้อแจ๊คเก็ตมาคลุมใบหน้าของบิดา พร้อมร้องขอความเป็นธรรมต่อสื่อมวลชน โดยน.ส.สุลักษภณากล่าวว่า บิดาของตนมีความสนิทสนมกับ น.พ.ชาญชัยเป็นอย่างดี รวมทั้ง น.พ.ชาญชัยก็เป็นผู้ทำคลอดตนและพี่น้องทั้ง 3 คน ที่ผ่านมา บิดาทำแต่งานซึ่งครอบครัวประกอบธุรกิจส่วนตัว ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพียงแต่เรามีญาติเป็น ส.ส.จึงถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้อง คดีนี้ตนอยากขอความเป็นธรรมให้กับครอบครัวตนบ้าง บิดายังไม่ได้ให้การใด ๆ แต่ตำรวจก็พามาแถลงข่าวจนตกเป็นจำเลยสังคมไปแล้ว

“ตำรวจต้องการผลงานว่าสามารถทำคดีได้รวดเร็ว แต่ไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้บริสุทธิ์ว่าจะรู้สึกอย่างไร หนูกับน้องสาวเชื่อมั่นว่า บิดาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้เลยแม้แต่นิดเดียว และคนในครอบครัวเราก็ไม่เคยรู้จักกับกลุ่มผู้ต้องหาที่ตำรวจจับกุมไว้ทั้ง 3 คนเลย ก็เพิ่งจะเคยเห็นหน้าเป็นครั้งแรก”
น.ส.สุลักษภณา กล่าวทั้งน้ำตา


ด้าน พล.ต.ต.ปัญญากล่าวว่า

คดีนี้ พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ รอง ผบ.ตร.ได้มีคำสั่งให้โอนคดีมาให้กองปราบปรามดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว โดยให้ตั้งคณะพนักงานสอบสวนขึ้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน และขยายผลการสอบสวนให้ถึงที่สุด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าพนักงานสอบสวนพร้อมจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

“คดีนี้ยังมีผู้ต้องหาอีก 2 ราย คือ นายเจตริน หรือทิด อินทร์ประดิษฐ์ อายุ 25 ปี ซึ่งทำหน้าที่ขับรถจักรยานยนต์พามือปืนไปก่อเหตุ และศาลได้อนุมัติหมายจับแล้ว ส่วนอีกรายเป็นผู้หาอาวุธปืนมาให้ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน ส่วนผู้บงการนั้นพนักงานสอบสวนจะดำเนินคดีตามพยานหลักฐาน คงต้องขอเวลาอีกระยะหนึ่ง ส่วนปมการสังหารยังคงมุ่งไปที่เรื่องความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่นเป็นหลัก”
รอง ผบช.ก.กล่าว

ต่อมา เวลา 15.00 น. พ.ต.อ.ประเสริฐ พร้อมด้วย พ.ต.ท.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผกก.4 บก.ป.,พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ รามสวัสดิ์ พงส. (สบ 3) พ.ต.ท.สอาด การลพ พ.ต.ท.วิริยะ สุจริต พงส.(สบ2 ) กลุ่มงานสอบสวน บก.ป. พร้อมกำลังได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปยื่นคำร้องผลัดฟ้องฝากขังครั้งแรกที่ศาลอาญา

ทั้งนี้คำร้องฝากขังผู้ต้องหาระบุว่า ด้วยเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจภูธรภาค 5 และกองปราบปรามได้จับกุมนายธานี ตามหมายจับศาลจังหวัดแพร่ ที่ จ.243/2550 ลงวันที่ 29 ต.ค. ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือ 1 อัน โดยจับกุมได้ที่สำนักงานตำรวจภูธร จ.แพร่ ต.ทุ่งกวาง อ.เมือง จ.แพร่

ต่อมา ได้จับกุมนายจงรักษ์ นายเกียรติศักดิ์ และนายอิทธิกร ในวันดังกล่าว


ตามหมายจับศาลจังหวัดแพร่ที่ จ.247, 245 และ246 ตามลำดับ โดยจับกุมนายจงรักษ์ข้อหา ใช้จ้างวานฆ่า ส่วนอีก 2 คนถูกจับกุมในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 83 และ84 ในคดีฆ่า น.พ.ชาญชัย ศิลปอวยชัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เสียชีวิต เหตุเกิดบริเวณริมสระว่ายน้ำ สนามกีฬา อบจ.แพร่ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ เมื่อเวลา 06.15 น. วันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา

จากการสืบสวนสอบสวนทราบว่า นายจงรักษ์เป็นผู้ใช้จ้างวานนายธานี มือปืน เป็นเงิน 50,000 บาทให้ไปฆ่า น.พ.ชาญชัย

เนื่องจากขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่น โดยนายธานีได้ไปหาผู้ร่วมลงมือ คือ นายเกียรติศักดิ์ นายอิทธิกร และนายเจตริน หรือทิด อินทร์ประดิษฐ์ มาแบ่งหน้าที่กันทำ โดยให้นายเกียรติศักดิ์ และนายอิทธิกร เป็นผู้ตรวจสอบเส้นทาง ติดตามพฤติกรรมผู้ตาย และช่วยเหลือดูเส้นทางหลบหนี ส่วนนายธานีเป็นผู้ลงมือยิง น.พ.ชาญชัย 7 นัดแล้วขึ้นรถจักรยานยนต์ที่นายเจตรินเป็นผู้ขับขี่หลบหนีไป ซึ่งในชั้นจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 3 คนให้การรับสารภาพ ส่วนนายจงรักษ์ให้การปฏิเสธ


ส่วนชั้นสอบสวนนายธานีให้การรับสารภาพ นายเกียรติศักดิ์ให้การภารเสธ ส่วนที่เหลือให้การปฏิเสธ

จากนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงมีคำสั่งให้กองปราบปรามสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งการควบคุมตัวผู้ต้องหาครบ 48 ชั่วโมงแล้ว แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นเนื่องจากยังต้องสอบปากคำพยานอีก 30 ปาก รอผลการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหา รอผลการตรวจอาวุธปืนและเครื่องกระสุน และรอผลตรวจทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ จึงขอฝากขังผู้ต้องหาต่อไปอีกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค.-10 พ.ย.

โดยพนักงานสอบสวนได้ขอคัดค้านการประกันตัว


เนื่องจากความผิดในคดีนี้มีโทษถึงประหารชีวิต ผู้ถูกฆ่าเป็นนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งมีชื่อเสียง ส่วนผู้บงการเป็นผู้มีอิทธิพล ผู้ลงมือกระทำผิดเป็นมือปืนรับจ้าง นอกจากนี้พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์เกรงกลัวว่าจะถูกกลุ่มผู้ต้องหาฆ่าปิดปาก เกรงว่าหากได้รับการประกันตัวกลุ่มผู้ต้องหาจะกลับไปข่มขู่พยานหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตามหากศาลอนุญาตให้ฝากขังพนักงานสอบสวนขอให้ศาลเป็นผู้ควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดโดยไม่ขอรับตัวกลับซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตตามคำขอของพนักงานสอบสวนจึงให้นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพระหว่างการสอบสวนดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่พนักงานสอบสวนไม่ขอรับตัวผู้ต้องหาทั้งหมดกลับมาสอบสวนควบคุมตัวที่สถานีตำรวจเนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89 ได้มีการแก้ไขและประกาศใช้แล้ว

โดยเฉพาะในมาตรา 89/1 ระบุว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณา เมื่อพนักงาานสอบสวนพนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายขังร้องขอ หรือมีศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในสถานที่อื่นตามที่บุคคลดังกล่าวร้องขอ หรือตามที่ศาลเห็นสมควรนอกจากเรือนจำก็ได้ โดยให้อยู่ในความควบคุมของผู้ร้องขอ หรือเจ้าพนักงานตามที่ศาลกำหนด ในการนี้ศาลจะกำหนดระยะเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้

ในการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ศาลจจะดำเนินการไต่สวนหรือให้ผู้เสียหายหรือเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องตามหมายขังคัดค้านก่อนมีคำสั่งก็ได้

ทั้งนี้สถานที่อื่นตามวรรคหนึ่งต้องมิใช่สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนโดยมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย เมื่อศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้วหากภายหลังผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการตามวรรคสามหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายขังได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์