สธ.สั่งสอบ ผับ จัดแข่งดื่มเบียร์ หลังหนุ่มดับคาวง เผยช่วยกันปั๊มหัวใจแต่ไม่รอด!
อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตกรณีนี้ไม่ใช่การเสียชีวิตตามปกติ จึงต้องรอผลการชันสูตรก่อนว่า การเสียชีวิตเกิดจากสาเหตุอะไร เพราะมีโอกาสเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสำลักจากการกินดื่มอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้น หรือการดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมากๆ ในเวลาสั้นๆ ทำให้ปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงเกินกว่าระดับร่างกายทนไหว
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ จะให้ตรวจสอบด้วยว่า ผู้ประกอบการเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ด้วยหรือไม่ ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดจัดการแข่งขันการดื่มเบียร์ ถ้าหากเข้าข่ายกระทำผิดจริง เจ้าหน้าที่ก็จะเรียกผู้ประกอบการมาชี้แจงและพิจารณาความผิด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเตือน คือ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ ในเวลาสั้นๆ อย่างรวดเร็ว และไม่ว่าจะดื่มแอลกอฮอล์มากหรือน้อยก็ไม่ส่งผลดีสุขภาพ
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการ สคร.ที่ 5 ราชบุรี กล่าวว่า จากการประสานงานกับ สสจ.เพชรบุรี ก็ทราบว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เป็นเหมือนกับแข่งกินกัน ซึ่งน่าจะเกิดจากการสำลักและทำให้หัวใจหยุดเต้น โดยมีการปั๊มหัวใจแล้วส่งโรงพยาบาลแต่ก็ยังเสียชีวิต ซึ่งขอเตือนว่า การแข่งกันดื่มกินไม่ว่าอะไรก็ตาม ล้วนมีอันตราย เพราะเสี่ยงต่อการสำลักได้
โดยเฉพาะเหล้าเบียร์ยิ่งดื่มมากๆ ก็จะมีฤทธิ์กดประสาทก็ยิ่งอันตรายมากขึ้น โดยจะมีการตรวจสอบว่า เคสที่เกิดขึ้นนี้เป็นการจัดกิจกรรมหรือเป็นเทคนิคการค้าของผู้ประกอบการร้านค้าหรือไม่ หรือว่าเป็นการจัดการแข่งขันกันเองในหมู่ของการกินเลี้ยง ซึ่งหากจัดกันเองก็ไมสามารถเอาผิดได้
นพ.สมาน กล่าวว่า แต่หากเป็นกิจกรรมที่ร้านค้าจัดขึ้น ก็จะผิดมาตรา 30 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เรื่องการขายลักษณะต้องห้ามขาย คือ การขายโดยการชิงโชค ชิงรางวัล เพราะมีการแข่งขันมีรางวัล ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากจัดเป็นอีเวนต์ มีสาวเชียร์มาด้วย ถือเป็นกิจกรรมสื่อสารการตลาด จะเข้าข่ายผิดตามมาตรา 32 เรื่องการโฆษณาสื่อสารการตลาด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือท้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเริ่มพบว่า มีรายงานเข้ามามากขึ้นถึงการใช้กลยุทธ์เช่นนี้ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ ร้านค้าที่จัดแข่งดื่มเบียร์ถือว่าเป็นโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จึงอยากให้กระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หรือสื่อสารต่อสาธารณะว่า เป็นพฤติกรรมทั้งที่เป็นพฤติกรรมอันตรายมาก
ด้าน ผ.ศ.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า ตามหลักการแล้วกรณีนี้ถือว่าผิดกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าที่จัดแข่งขัน จะต้องรับผิดในประเด็นที่สามารถเล็งเห็นผลได้ว่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือชีวิตได้ ซึ่งจะต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถ้าหากในทางแพ่งเป็นการกระทำละเมิดของร้าน ซึ่งต้องชดใช้ค่าเสียหายและควรทำให้เป็นแบบอย่างในการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง เพื่อป้องปรามมิให้เกิดความสูญเสียจากกิจกรรมสุ่มเสี่ยงแบบนี้อีก