"พฤติกรรมการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย ตามกฎหมายจะต้องเสนอข้อมูลให้อัยการเสนอศาลขอให้เพิ่มโทษ ทั้งนี้ หากอยู่ระหว่างการรอการลงโทษจะต้องนับรวมโทษเก่าและโทษในคดีที่ถูกจับกุมดำเนินคดีล่าสุดด้วย แม้ผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษ ตามหลักอาชญาวิทยาผู้ต้องหารายนี้ไม่สามารถใช้โปรแกรมใดบำบัดหรือปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยได้ มีทางเดียว คือ ต้องจำคุกเพื่อกันออกจากสังคม ไม่ให้มีโอกาสไปทำร้ายสังคมได้อีก
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงเหตุฆ่าปาดคอชิงไอโฟน ชายหนุ่ม วัย 26 ปี เมื่อคืนวันที่ 4 ม.ค. ว่า นายกิตติกร คนร้ายที่ก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ นายวศิน นั้น เคยมีประวัติถูกคุมประพฤติในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ , พ.ร.ก.สารระเหย , บุกรุกในเวลากลางคืน , ทำร้ายร่างกายผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์รวม 3 คดี ก่อเหตุต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 , 2550 และ 2553 แต่ไม่เข้ารายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด
ต่อมาพนักงานคุมประพฤติได้รายงานศาลและศาลได้ออกหมายจับแล้วทั้ง 3 คดี กระทั่งถูกจับกุมในคดีเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา ศาลแขวงสมุทรปราการ จึงสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะพฤติการณ์ โดยเสนอความเห็นว่า ผู้ต้องหารายนี้ไม่เหมาะกับวิธีการคุมประพฤติ ศาลจึงพิพากษาจำคุก 1 เดือน เมื่อพ้นโทษออกมาก็ก่อเหตุร้ายขึ้นอีก
"กรณีดังกล่าว นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม จึงสั่งการให้กลุ่มพัฒนาพฤตินิสัย ประกอบด้วย กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน , กรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ บูรณาการการจัดเก็บข้อมูลผู้กระทำผิดซ้ำ เพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้คนกลุ่มนี้ออกมาทำร้ายสังคม"
ด้าน นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงประวัติการต้องโทษของนายกิตติกรว่า นายกิตติกรถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ต้องโทษครั้งแรกในคดีมีน้ำกระท่อมในครอบครอง โดยมีสถานะเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งในคดีครอบครองน้ำกระท่อมมีอัตราโทษไม่สูง นายกิตติกรจึงมีโทษปรับและติดคุกเพียง 1 เดือน แต่เมื่อออกไปกระทำความผิดซ้ำนายกิตติกรจะถูกจัดให้เป็นนักโทษชั้นเลว และจะส่งผลให้เป็นผู้ต้องขังที่ต้องได้รับโทษจำคุกยาวนานขึ้น