รอดยาก!! ทนายคู่ใจ ชี้ ไอต้อม มีสิทธิ์โดนประหาร
จากกรณีคนร้ายเข้าทำร้ายร่างกาย นายวศิน เหลืองแจ่ม อายุ 26 ปี บัณฑิตหนุ่มจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อดีตพนักงานภาคพื้นดินของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วเตรียมจะเข้าสอบเป็นนักบินพลเรือน โดยล่าสุดตำรวจสามารถจับกุมตัว นายกิตติกร หรือต้อม วิกาหะ อายุ 26 ปี ชาว อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ผู้ต้องหาฆ่าชิงทรัพย์นายวศิน ได้พร้อมของกลาง จยย.ยามาฮ่า เอ็มแสลช ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน มีดทำครัวปลายแหลม ยาว 10 นิ้ว หมวกกันน็อกสีดำ ปืนอัดลม โทรศัพท์ไอโฟน 6 สีขาว โทรศัพท์ไอโฟน 5 เอส สีขาว โทรศัพท์ซัมซุง สีขาว ไอแพ็ด สีดำ บัตรเอทีเอ็ม กุญแจรถ และเงินสด 340 บาท จับกุมได้ที่บริเวณหมู่บ้านเคหะเอื้ออาทร ซอยวัดกู้ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. เพจ "ทนายคู่ใจ" ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็นถึงกรณีดังกล่าวว่า อย่าคิดว่าคดีฆ่าชิงทรัพ ย์ถ้าจำเลยรับสารภาพจะลดโทษให้จำเลยเสมอไปนะ ถ้าฝ่ายตำรวจมีพยานหลักฐานที่หนักแน่นมากพอ ต่อให้จำเลยรับสารภาพ ทั้งชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ ชั้นศาล ศาลก็อาจจะไม่ลดโทษให้แม้แต่ 1 วันก็ได้ ยิ่งกรณีนี้มีคลิปก่อเหตุชัดเจน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 "เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้"
การรับสารภาพก็เป็นเหตุบรรเทาโทษอย่างหนึ่ง "ถ้า" ไม่ใช่การรับสารภาพเพราะจำนนด้วยหลักฐานของตำรวจ ผมมองว่าคลิปมันชัดว่าใครทำ มันจะมาให้การรับสารภาพตอนหลัง ก็ไม่เป็นประโยชน์เท่าไร เรื่องนี้มีแนวตัดสินของศาลสูงไว้เหมือนกันกรณีคล้ายๆ กัน "คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2535 ลำพังแต่พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำมาสืบ ก็เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยได้ การที่จำเลยรับสารภาพจึงเป็นการจำนนต่อพยานหลักฐานประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะร้ายแรงมาก จึงไม่สมควรลดโทษให้" ผมว่าสูงในศาลไม่ว่ามุมไหนยากที่จะได้ลดโทษ ทีนี้ในข้อหาชิงทรัพย์เนี่ยโทษไม่ได้เบาๆ นะครับ (ทั้งที่ไม่ได้เบาแต่ทำไมคนร้ายไม่เกรงกลัวเลยผมก็ไม่เข้าใจ)"
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ในวรรค 6 วรรคสุดท้าย"ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต"งานนี้สงสัยไอ้หนุ่มต้อมจะรอดยาก
ต่อมา นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ เจ้าของเพจ "ทนายคู่ใจ" ให้สัมภาษณ์ "เดลินิวส์ออนไลน์" เพิ่มเติมว่า เรื่องนี้กรมราชทัณฑ์ ต้องรับผิดชอบ คนร้ายออกมายังไม่ถึงเดือน มาฆ่าคนตายเสียแล้ว แสดงว่าทางกรมราชทัณฑ์ล้มเหลวในการทำให้ผู้ต้องหาสำนึกผิดในการกระทำความผิดในเรือนจำ ไม่สามารถปรับทัศนคติผู้ก่อเหตุได้ ยิ่งเน้นลงโทษด้วยการแก้แค้น ยิ่งไม่ทำให้ผู้ก่อเหตุรู้สึกว่าต้องปรับตัวหรือสำนึกในความผิดบาป กรณีนี้ชัดเจนมาก อยากให้มีการตีแผ่ถึงสาเหตุการตัดสินใจลงมือของคนกระทำความผิดคนนี้มาก ว่าอะไรทำให้เขารู้สึกเฉยชาต่อการฆ่าคนตาย ทั้งที่เคยต้องโทษมาแล้ว ไม่เช่นนั้นกระบวนการยุติธรรมปลายน้ำ ก็วนอยู่ในอ่าง ไม่ได้ไปไหนซะที
อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวว่า สำหรับ นายกิตติกร ผู้ต้องหารายนี้เคยต้องโทษผ่านเรือนจำมาแล้วถึง 8 ครั้ง ก็ยังสามารถออกมาก่อคดีอุกฉกรรจ์ได้อีก