นอกจากนี้ ทางสืบสวนยังพบว่ามีแรงงานชาวพม่าที่อยู่ในการดูแลของ พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ที่เข้าเมืองโดยมิได้รับอนุญาตจำนวนหลายคน ทั้งยังพบว่ามีการทารุณแรงงานชาวพม่า หลายคนทำงานโดยมิได้รับค่าตอบแทน และได้รับแจ้งว่าหนึ่งในจำนวนแรงงานพม่าชื่อนายอีต้า ถูก พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ฆ่าฝังไว้ในไร่ จากการขุดบริเวณไร่หลังบ้านที่ ต.กลัดหลวง พบโครงกระดูกจำนวน 3 โครงถูกฝังอยู่ โดย 1 โครงที่ถูกขุดพบมีร่องรอยถูกกระสุนปืนที่กะโหลกศีรษะ ซึ่งเมื่อตรวจพิสูจน์ทาง DNA แล้วพบว่าเป็นโครงกระดูกของนายอีต้า แรงงานชาวพม่าที่สูญหายไป เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงติดตามตัว และจับกุมตัว พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ได้ที่ปึกเตียนวิลล่า อ.ท่ายาง แจ้งข้อกล่าวหา 3 คดีหลักคือ ค้ามนุษย์ ลักทรัพย์ และฆ่าผู้อื่นโดยปิดบังอำพรางศพ และควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางเพชรบุรี กระทั่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ต่อมาวันที่ 1 ก.พ.2558 ศาลเพชรบุรีได้นัดพิจารณาคดีฆ่าผู้อื่น แต่ พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ไม่มาศาลทั้งยังมิได้ให้ตัวแทนมาแสดงเหตุผลต่อศาลว่าผิดนัดด้วยเหตุใด ศาลจึงออกหมายจับ ให้ออกหมายจับ และให้ยึดหลักทรัพย์ประกันขอปล่อยตัวชั่วคราวขอยื่นประกันตัวไว้มูลค่า 3,000,000 บาทและนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 1 พ.ค.2558 แต่ปรากฏว่าพ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา มีเพียง นายอัคร และนายเอก บุตรชาย จำเลยร่วมในคดีฆ่าผู้อื่นฯ น.ส.ศิวารายา ณ สงขลา ภรรยาคนที่ 4 ของ พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ และทนายความมาฟังคำพิพากษาเท่านั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ไม่มาศาล มีพฤติการณ์หลบหนีคดี จึงอ่านคำพิพากษาลับหลัง โดยได้พิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งของโจทย์และจำเลย รวมทั้งพยาน คือ นายสรพงษ์ หรือกะลา และนายโย่ง ชาวพม่า คนงานในไร่ พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ให้การตรงกันว่า เหตุการณ์ฆาตกรรมนายอีต้า ดังกล่าว เกิดเมื่อประมาณเดือนก.พ. 2547 เนื่องจาก พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ ไม่พอใจที่นายอีต้า สนิทสนมกัน นางวิลสา จันทรบัญชร ภรรยาคนที่ 3 ของตน จึงให้นายกะลาจับกุมนายอีต้า ไปในไร่แล้วใช้อาวุธปืนจ่อยิงก่อนขุดหลุมฝัง โดยมีนายเอก ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ส่วนนายโย่งหลบหนีมาได้
ทั้งนี้ศาลพิจารณาว่าคำให้การของนายอีต้าและนายโย่งสอดคล้องกัน นอกจากนี้จากผลการตรวจสอบนิติวิทยาศาสตร์พบว่า กะโหลกที่ขุดพบในจุดที่นายกะลา ชี้ว่าฝังศพนายอีต้า มีรอย กระสุนปืน และพบเศษชิ้นส่วนกระสุนปืน นำกะโหลกไปตรวจสอบ DNA เทียบกับ บิดา และลูกชายนายอีต้าพบว่าตรงกัน จึงยืนยันว่าเป็นกะโหลกของนายอีต้า ที่ถูกฆาตกรรมโดยการยิงที่ศีรษะตรงกับคำให้การนายกะลา
ศาลจึงพิพากษาประหารชีวิต พ.ต.อ.นพ.สุพัฒน์ และนายเอก เลาหะวัฒนะ บุตรชาย ข้อหาร่วมกันฆ่าแรงงานชาวพม่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ร่วมกันฝัง ปิดบัง ซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังการตาย หรือเหตุแห่งการตายและการกระทำใดๆ แก่ศพก่อนมีการชันสูตรพลิกศพเพื่อการอำพรางคดี ส่วนนายอัคร เลาหะวัฒนะ บุตรชายอีกคนที่ร่วมก่อคดี ขณะเกิดเหตุอายุ 19 ปีเศษ ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง พิพากษาลงโทษจำคุก 25 ปี 3 เดือน
Cr::khaosod.co.th