นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นกรณีที่ ล่าสุดสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง รับปากจะเจรจากับวัดพระธรรมกายให้พระเทพญาณมหามุนี หรือพระธัมมชโย วัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาในคดีสมคบฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ให้เข้าสู่กระบวนการตามกฏหมายนั้น เพื่อให้ขั้นตอนตามหมายจับได้ยุติ ขณะที่ในส่วนของคดีที่ดีเอสไอสรุปสำนวนส่งอัยการเพื่อทำความเห็นสั่งฟ้องศาลหรือไม่ในวันที่ 13 ก.ค.นี้ คดีก็ยังจะคงเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าพระธัมมชโยจะเข้ามอบตัวหรือไม่ก็ตาม แต่การที่พระธัมมชโย ผู้ต้องหาถูกศาลอนุมัติหมายจับแล้วนั้น ไม่ยอมมอบตัว แต่ก็ไม่หลบหนีและท้าทายด้วยการหลบอยู่ในวัดพระธรรมกายนั้น จะเป็นปัญหาต่อกฏหมายบ้านเมืองและการบังคับใช้อำนาจรัฐ ขณะที่พระธัมมชโยเอง หากเจ้าหน้าที่จับกุมตัวก็จะต้องถูกจับสึก
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ดังนั้น ทางออกในเรื่องนี้หากพระธัมมชโย ยอมมอบตัวที่วัดพิชยญาติการาม ก็น่าจะเป็นเงื่อนไขที่พอรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้าพระธัมมชโย ท่านยังไม่ยอมมอบตัวอีก คนในสังคมไทยก็คงจะมีกระแสต่อต้านมากขึ้น และจะทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ได้รับความชอบธรรมที่จะบุกเข้าจับกุมตัวและถ้าเลยมาถึงขั้นตอนนี้ทางคณะสงฆ์ก็คงยินยอมเห็นด้วยที่จะให้พระธัมมชโย ถูกจับสึกพ้นจากความเป็นพระ
"ที่ผ่านมา พระธัมมชโย ต้องการให้ดีเอสไอเข้าไปรับแจ้งข้อกล่าวหาที่วัดพระธรรมกาย แต่หากเป็นเงื่อนไขที่พระธัมมชโย ยอมเดินทางออกจากวัดพระธรรมกายมามอบตัวที่วัดพิชยญาติการาม ซึ่งก็แสดงว่าพระธัมมชโย ยอมถอย และไม่ถือว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองยอมอ่อนข้อให้ผู้ต้องหา ทั้งนี้ ถ้าเป็นที่วัดพิชยญาติฯ ถือได้ว่าเป็นสถานที่ของรัฐได้เพราะเป็นที่ทำการของเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ซึ่งก็เหมือนเมื่อครั้งปี2542" นายไพบูลย์ กล่าว
ทั้งนี้ การที่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ รับเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสขบวนรถคันสุดท้ายที่พระธัมมชโย จะไม่ต้องถูกจับกุมตัวและไม่ถูกจับสึกด้วย ซึ่งถ้าพระธัมมชโยยังดื้อดึงไม่อาศัยรถขบวนนี้อีก คงไม่พ้นมาตรการต้องให้สึกเท่านั้น