ตะลึงแก๊งจับปลาการ์ตูน ส่งขึ้นเครื่องบินขายห้างดัง
ตะลึงแก๊งจับปลาการ์ตูน เตรียมส่งปลาสวยงาม 35 กล่องส่งเครื่องบินขายห้างดัง ผู้ว่าฯ ตรังชี้เอาผิดไม่ได้ หวั่นปลาการ์ตูนหมดทะเล อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลเร่งออกก.ม.คุ้มครอง 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน "ดร.ธรณ์" โวยรัฐมนตรีไม่สนใจ เสนอเพิ่มชื่อปลา-กุ้งสวยงามเป็นสัตว์คุ้มครอง
หลังจาก "คม ชัด ลึก" รายงานปัญหาการเปิดอควาเรียมหรือสวนสัตว์น้ำเค็มเอกชน ซึ่งทำให้เกิดขบวนการลักลอบจับปลาสวยงามหายากในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุดพบแก๊งจับปลาการ์ตูนจากตรังถูกจับขณะส่งปลาสวยงามบรรจุกล่องโฟม 35 ลังไปให้ศูนย์การค้าชื่อดังในกรุงเทพฯ ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เร่งออกประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน
เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา นายสิทธิสาร ศรีชุมพวง รองประมงจังหวัดตรัง พ.ต.ท.ปกป้อง ท่อแก้ว หน.ชุดป้องกันและปราบปรามทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่งได้ตรวจค้นรถกระบะ ยี่ห้อโตโยต้า สีบรอนซ์ ทะเบียน บค-2306 ตรัง ซึ่งบรรทุกลังโฟมปิดผนึกอย่างดีจำนวน 35 กล่อง ขณะขับเข้ามาภายในบริเวณท่าอากาศยานจังหวัดตรัง
จากการตรวจสอบกล่องโฟมพบว่าภายในมีปลาทะเลสวยงามหายากหลายชนิด เช่น ปลาผีเสื้อ ปลานกแอ่น ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ ฯลฯ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมผู้ขนย้ายซึ่งเป็นชาย 2 คนได้ เนื่องจากเจ้าของมีเอกสารการขนย้ายถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมอ้างว่าเป็นปลาสวยงามที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง
นายสิทธิสาร กล่าวว่า ปลาสวยงามที่จับได้นั้นเป็นปลาทะเลที่เอกชนยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงเองได้ จะมีบางชนิดที่เพาะเลี้ยงได้โดยศูนย์ประมงน้ำกร่อยใน จ.กระบี่ จากการสอบถามเชิงลึกทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปลาในกล่องโฟมทั้งหมดลักลอบจับจากอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และกำลังจะส่งไปยังศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่ไม่ทราบว่าใครหรือผู้ใดเป็นผู้มารับของ ส่วนสาเหตุที่ต้องปล่อยตัวผู้ขนย้ายก็เพราะกฎระเบียบที่มีอยู่ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะตรังยังไม่ประกาศห้ามจับปลา หรือห้ามขนย้ายปลาทะเลสวยงาม มีเพียงแค่ จ.ภูเก็ต เท่านั้น
ด้านนายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จังหวัดตรังมีนโยบายชัดเจนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาได้สั่งกำชับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเพิ่มความเข้มงวดกับเรื่องดังกล่าวเป็นพิเศษ หลังจากพบผู้ลักลอบส่งปลาสวยงามไปขายที่ศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถจับกุมผู้ใดได้นั้น เนื่องจากเป็นช่องโหว่ของกฎหมาย เพราะจังหวัดตรังยังไม่ประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
"พื้นที่ทะเลตรังส่วนใหญ่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ถ้าปล่อยให้มีการล่าหรือค้าขายปลาสวยงามต่อไป เชื่อว่าในไม่ช้าปลาสวยงามอาจจะหมดไปจากท้องทะเลตรัง ระหว่างรอกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมประกาศใช้ เบื้องต้นได้สั่งกำชับให้อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับกุมผู้กระทำผิด เพราะถ้าจับได้ขณะทำผิดซึ่งหน้า ก็ใช้กฎหมายอุทยานจับกุมได้เลย" นายเชิดพันธ์ กล่าว
ด้านนายวิธาร สังข์ดำ อายุ 42 ปี หัวหน้ากลุ่มไกด์ดำน้ำจังหวัดตรังกล่าวว่า ตนประกอบอาชีพไกด์ดำน้ำมา 10 กว่าปี แล้ว แต่ช่วงหลังๆ นี้ พบว่าปลาการ์ตูนและปลาสวยงามที่เคยพบตามแนวปะการังอ่อน บริเวณเกาะเชือก เกาะม้า เกาะกระดาน เกาะมุข ฯลฯ ซึ่งเป็นสถานที่ดำน้ำชื่อดังของ จ.ตรัง ลดลงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาไม้จิ้มฟันจระเข้ปีศาจหาดูได้ยากมาก รวมถึงปลานีโม (ปลาการ์ตูนชนิดต่างๆ) ทำให้นักท่องเที่ยวหันไปเที่ยวบริเวณหมู่เกาะสิมิลันแทน
ดร.ไมตรี ดวงสวัสดิ์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีการส่งร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ เรื่อง "กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับธรณีพิบัติจังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล พ.ศ.2549" ซึ่งหากมีการประกาศใช้เมื่อไรจะทำให้ 6 จังหวัดฝั่งอันดามัน ได้รับการคุ้มครองมากกว่าปัจจุบัน เพราะขณะนี้แม้เจ้าหน้าที่จะจับแก๊งลักลอบค้าปลาการ์ตูนขณะขนส่งได้ แต่ก็ไม่มีอำนาจจับกุมเพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจับมาจากพื้นที่หวงห้ามหรือไม่
"เป็นไปได้ยากมากที่จะจับได้คาหนังคาเขาระหว่างที่แก๊งพวกนี้ลงไปดำน้ำจับปลาในเขตอุทยานแห่งชาติ เพราะเจ้าหน้าที่มีเพียง 200 คน ที่ต้องดูชายฝั่งอันดามันทั้งหมด หากกฎหมายนี้ประกาศใช้เมื่อไร ถ้าใครเคลื่อนย้ายปลาสวยงามใน 6 จังหวัดก็เข้าจับได้เลย ล่าสุดกฎหมายฉบับนี้รอรัฐมนตรีลงนามอย่างเดียว ลงนามเสร็จก็ประกาศใช้ได้เลย สาเหตุที่ต้องรอนานเพราะช่วงนี้รัฐบาลประกาศยุบสภา ทำให้มีเรื่องสำคัญหลายเรื่องต้องจัดการ" ดร.ไมตรีกล่าว
ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องการลักลอบจับปลาทะเลสวยงามมีบ่อยมาก แต่ยังไม่สามารถเอาผิดใครได้ต้องให้นายยงยุทธ ติยะไพรัช รักษาการ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบเนื่องจากที่ผ่านมาได้เสนอให้เพิ่มบัญชีรายชื่อปลาทะเลสวยงาม เพิ่มเติมในบัญชีสัตว์คุ้มครอง แต่นายยงยุทธก็ยังไม่ได้ลงนาม ทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยแต่ไม่มีกฎหมายจะเอาผิดได้
ทั้งนี้ กลุ่มรักษ์ฉลามวาฬ ได้จัดทำรายชื่อสัตว์ทะเลสวยงาม เพื่อเสนอให้มีการคุ้มครอง เช่น ปลากระเบนราหู ปลาไหลริบบิ้น ปลากบ ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลามีดโกน ปลาสิงโต ดอกไม้ทะเล ปลาโรนิน โรนัน ปลาการ์ตูน กุ้งตัวตลก กุ้งพยาบาล ปูขนาดเล็กบางชนิด ทากทะเล เป็นต้น โดยได้นำรายชื่อสัตว์ทั้งหมดเสนอแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมประมง ตั้งแต่กันยายน พ.ศ.2543 จวบจนทุกวันนี้สัตว์ตามรายชื่อดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแต่อย่างใด