ประกาศหาแม่วัยโจ๋อุ้มลูกวัย22วัน จ้างเลี้ยงในสลัม8ปีไม่เหลียวแล

"ปัญหาวัยรุ่น ท้องในสลัม หาผู้รับผิดชอบดูแล"



คนงานก่อสร้างสลัมคันนายาวประกาศหาแม่วัยรุ่น หลังทิ้งทารกแรกเกิดให้เลี้ยงดู ผ่านมา 8 ปีหายตัวไปไม่เหลียวแล ไม่มีเงินเรียน หวั่นเด็กขาดโอกาส ตัวแทนสลัม 4 ภาคเรียกร้องสิทธิช่วยเด็กสลัมถูกทอดทิ้ง

ปัญหาการตั้งท้องของแม่วัยเด็กในชุมชนแออัดคลองเตย

ซึ่งพบมากหลายร้อยราย ส่วนใหญ่ไม่มีเงินเลี้ยงดูลูก จนกลายเป็นภาระของสังคม และหลายรายหันเข้าสู่วงจรยาเสพติด เพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ชุมชนแออัดคลองเตยเท่านั้น แต่ที่ชุมชนแออัดหลายแห่งก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน

"ฉันทิกา กลอย" คนงานก่อสร้างและรับจ้างทั่วไป

วัย 47 ปี ในชุมชนแออัดคันนายาว ร้องเรียน "คม ชัด ลึก" เกี่ยวกับปัญหาแม่วัยเด็กทอดทิ้งลูกตั้งแต่แรกเกิดได้เพียง 22 วัน แล้วหายหน้าไปไม่เหลียวแล จนเวลาผ่านพ้นมานานถึง 8 ปี เกรงว่าเด็กจะขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากขณะนี้ตกงานมานาน 2 เดือนแล้ว จึงไม่มีเงินจ่ายค่าไปโรงเรียนและค่าอุปกรณ์การเรียน


วันลอยกระทงปี 2542 นางฉันทิกาซึ่งขณะนั้นเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว

และขายของชำเล็กๆ น้อยๆ ในชุมชนแออัดคันนายาว จึงมีคนงานก่อสร้างในละแวกนั้นนำลูกมาฝากเลี้ยง ได้ค่าจ้างวันละ 30-40 บาท เพราะไม่สามารถนำลูกเล็กไปทำงานด้วยได้ จู่ๆ ก็มีเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวคู่หนึ่งอุ้มทารกเพศชาย อายุ 22 วัน เดินตรงเข้ามาหา พร้อมนมผงถุงใหญ่ 1 ถุง

ทั้งคู่เอ่ยปากขอฝากลูกให้เลี้ยง

โดยจะจ่ายค่าจ้างเดือนละ 3,000 บาท ก่อนจะทิ้งหมายเลขโทรศัพท์หอพักเอาไว้ เผื่อกรณีเด็กไม่สบาย หรือนมหมด ด้วยความสงสาร ฉันทิกาจึงรับเลี้ยงไว้ โดยไม่รู้ว่าจะต้องรับผิดชอบเด็กคนนี้นานถึง 8 ปีเต็ม



"เด็กหน้าตาน่ารัก เห็นแล้วก็สงสาร พ่อแม่ก็ยังเด็กอยู่

เลยรับเลี้ยงไว้ 1 อาทิตย์ผ่านไปนมหมด ก็โทรศัพท์ไปตามหาที่หอพัก ปรากฏว่าทั้งคู่ย้ายออกไปแล้ว" ฉันทิกา ท้าวความ

ฉันทิกามีลูกอยู่แล้ว 3 คน เมื่อต้องรับภาระทารกสมาชิกใหม่

จึงต้องเจียดเงินส่วนหนึ่งเป็นค่านม พร้อมตั้งชื่อให้เด็กว่า "น้องช้าง" ด้วยหวังว่าจะเติบโตแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย เวลาผ่านไปเธอจำเป็นต้องย้ายไปทำงานตามสถานที่ก่อสร้างทั่ว กทม.

ก็ต้องกระเตงนำน้องช้างติดตามไปด้วย

เพราะไม่มีใครรับเลี้ยงแทน ก่อนจะกลับมาที่ชุมชนแออัดคันนายาว พร้อมกับความหวังลึกๆ ว่า สักวันพ่อแม่ของน้องช้างจะมารับลูกกลับไปเลี้ยง

แรกๆ พ่อของน้องช้างยังแวะเวียนมาเยี่ยมบ้างเป็นครั้งคราว

เพราะรู้จักกับญาติในชุมชนแออัดคันนายาว ฉันทิกาจึงขอรูปแม่น้องช้างเอาไว้ให้น้องช้างดูเวลาคิดถึงพ่อแม่ หลังจากนั้นเป็นต้นมา พ่อเด็กก็ไม่กลับมาอีกเลย ฉันทิกาจึงเอารูปออกมาให้น้องช้างดู พร้อมบอกว่าเป็นแม่ที่ให้กำเนิด

เวลาน้องช้างไม่สบายก็จะมาขอรูปไปนอนดู

ไม่พูดไม่จา แล้วก็ร้องไห้จนหลับไป แม้ฉันทิกาจะไม่บอกว่าแม่ทิ้งไป แต่ชาวบ้านย่านนั้นก็พูดกันจนน้องช้างรู้ด้วยตัวเอง เธอจึงพยายามปลอบว่า สักวันหนึ่งแม่จะส่งเงินมาช่วยเหลือและกลับมารับ



เมื่อน้องช้างถึงวัยเข้าเรียน ปัญหาก็ตามมาอีก

เพราะไม่มีหลักฐานการเกิด ฉันทิกาจึงต้องเสาะหา จนรู้ว่าพ่อแม่เด็กคลอดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เลยเข้าไปติดต่อและโรงพยาบาลก็ยอมออกเอกสารใบสูติบัตรให้ วันนี้น้องช้างเรียนอยู่ชั้น ป.2

โรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งแถวๆ ชุมชนแออัดคันนายาว

แต่ก็ไม่รู้ว่าจะได้เรียนไปอีกนานแค่ไหน เนื่องจากฉันทิกาตกงานมา 2 เดือนแล้ว ไม่มีรายได้เข้าบ้านเลย แถมยังเป็นโรคความดัน และต้องรับภาระเลี้ยงดูแม่วัย 66 ปี ที่ป่วยเป็นเบาหวานอีกคน

"เมื่อก่อนยังพอมีรายได้วันละ 150-200 บาท

แต่ตอนนี้ตกงาน กลัวว่าน้องช้างจะไม่มีเงินไปโรงเรียน ปลายเดือนเมษายน โรงเรียนก็ขอให้จ่ายค่าหนังสือ 270 บาท ก็ไม่มีให้ จะยืมก็ไม่กล้ายืม เพราะยังติดหนี้นอกระบบอยู่อีกตั้งหมื่นบาท น้องช้างรู้ตัวดีว่าพวกเราลำบาก

ตอนตกงานบอกเขาว่าไม่มีเงิน

เขาก็ไม่ขอค่าขนม กินแต่ข้าวที่จัดให้ เวลาชมเด็กคนอื่นว่าน่ารัก เขาจะร้องไห้จนตาปูด แล้วถามว่า หนูไม่น่ารักแล้วหรือ วันไหนกลับบ้านค่ำมืด น้องช้างจะออกไปยืนรอที่หน้าสลัม เขากลัวเราจะไม่กลับมา ถ้ากลับดึกก็จะยืนร้องไห้รอ เหมือนกลัวว่าเราจะทิ้งเขาไปอีกคน ตอนนี้อยากให้พ่อแม่ของเด็กรู้บ้างว่าเรากำลังลำบาก เผื่อรู้ข่าวจะส่งเงินมาช่วยบ้าง" ฉันทิกา กล่าว

นางเฉลียว การะเกตุ อดีตประธานชุมชนหลวงวิจิตรคันนายาว

หรือชุมชนแออัดคันนายาว บอกว่า ชุมชนแออัดแห่งนี้มีคนงานมาปลูกเพิงอาศัยอยู่ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ขยายตัวมาเรื่อยเกือบร้อยครัวเรือน แล้วก็โดนไล่ที่จนเหลือเพียงเกือบ 30 ครัวเรือน เพราะเป็นพวกคนงาน ไม่รู้จะย้ายไปไหน



ขณะนี้ปัญหาใหญ่ของที่นี่คือ เด็กๆ กับวัยรุ่น

พ่อแม่เป็นกรรมกรรับจ้าง ไม่มีใครดูแล เด็กถูกเลี้ยงตามยถากรรม พอเป็นวัยรุ่นก็เป็นแฟนกัน มีลูกแล้วไม่รู้จะเลี้ยงยังไง

"ได้ยินมาว่าพ่อน้องช้างเป็นเด็กวัยรุ่น อายุแค่ 17-18 ปี

พาแม่ที่เป็นนักศึกษาสาวมาคลอดลูก แล้วก็เอามาฝากป้าหน่อย (ฉันทิกา) แล้วก็ทิ้งไว้เลย ฝ่ายพ่อแอบมาเยี่ยมบ้าง แต่ก็ไม่มีเงินเลี้ยงลูกเลยต้องทิ้งไว้ ส่วนพ่อแม่ในสลัมนี้ก็ลำบากพอๆ กัน มีหนี้มีสินเต็มตัว เลี้ยงลูกตามยถากรรม อยากให้รัฐบาลส่งคนมาช่วยเด็กพวกนี้หน่อย ก่อนจะโตเป็นวัยรุ่นแล้วก็สร้างปัญหาต่อไป" นางเฉลียว กล่าว

ด้านนายอัภยุทย์ จันทรพา กลุ่มปฏิบัติงานคนจนเมือง

ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ชุมชนแออัดใน กทม. แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ชุมชนแออัดดั้งเดิมกับบุกเบิกใหม่ ซึ่งทุกที่ต่างก็มีปัญหาเกี่ยวกับเด็กในชุมชนแออัดด้วยกันทั้งนั้น เด็กๆ ไม่เคยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนเด็กทั่วไป

ปัญหาจะเริ่มตั้งแต่เกิดเลย คือ คลอดออกมาก็ไม่มีใบเกิด

เพราะไม่มีทะเบียนบ้าน หากเจ็บป่วยก็ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลฟรี พอถึงวัยเรียนบางคนก็ไม่ได้เข้าโรงเรียน บางคนไม่มีเงินไปโรงเรียน หลายคนถูกทิ้งให้ญาติเลี้ยง

หากสำนักงานเขตมีโครงการสนับสนุนเด็กเป็นพิเศษ

เด็กในชุมชนแออัดจะถูกกีดกัน ไม่ได้รับการสนับสนุน เพราะเจ้าหน้าที่รัฐบางคนอยากกดดันให้ชาวบ้านย้ายออกไปอาศัยอยู่ที่อื่น



"เด็กในสลัมส่วนใหญ่ถูกละเลยจากเจ้าหน้าที่รัฐมาตลอด

โดยเฉพาะสลัมที่ไม่ได้รับการรับรอง ไม่มีทะเบียนบ้านอย่างเป็นทางการ เช่น เมื่อมีการจัดงานวันเด็ก ชุมชนแออัดที่เกิดใหม่ก็จะไม่ได้รับเงินสนับสนุนให้จัดงาน บางคนไม่มีสิทธิได้เรียนฟรี ไม่มีสิทธิกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ถ้าโชคดีได้เรียนฟรีก็ไม่มีเงินไปโรงเรียน ส่วนวัยรุ่นที่มีลูกยิ่งลำบาก ไม่มีทางออก

รัฐมองปัญหาจากกฎหมาย ไม่ได้มองจากการเอาคนเป็นหลัก

เด็กเหล่านี้ถูกละเมิดสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยตลอดเวลา โดยเฉพาะสลัมที่มีปัญหาการไล่รื้อ ก็ไม่มีใครคิดถึงเด็กๆ ที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่ว่าจะกินอยู่หลับนอนยังไง ไม่เคยมีหน่วยงานไหนมาสำรวจเลยว่า เด็กๆ มีชีวิตอยู่อย่างไรในแต่ละสลัม" นายอัภยุทย์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุว่า ในปี 2548 มีสถิติการรับเด็กที่ถูกทอดทิ้ง 264 คน ในปี 2549 มี 202 คน

โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละเดือนมีทารกถูกทอดทิ้ง

ราว 20-25 คน และสถานที่ทิ้งเด็กส่วนใหญ่ คือ โรงพยาบาล บริเวณที่สาธารณะ หน้าสถานสงเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีเด็กหลายคนโดนทิ้งไว้กับคนรับจ้างเลี้ยงเด็ก หรือทิ้งไว้กับญาติ



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์