ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลจากทนาย นปช.หลังจากได้เดินทางไปพบผู้ต้องหากองกำลังชุดดำที่เรือนจำและผู้ต้องหาทั้ง 5 คนได้มีการกลับคำรับสารภาพ ซึ่งก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนการในการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
แต่อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวมีปมข้อสงสัยที่น่าสนใจอยู่หลายประการ โดยเฉพาะการแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา นายวิญญัติ ชาติมนตรี พร้อมด้วยทีมทนายความกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) เข้ายื่นหนังสือถึงนายกมล ธรรมเสรีกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ 5 ผู้ต้องหาชายชุดดำ ในเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 กับการที่เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่จากกลุ่ม ผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่บริเวณแยก คอกวัว และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่และประชาชนบาดเจ็บและ เสียชีวิตจำนวนมาก
นายวิญญัติกล่าวว่า จากการเข้าพบผู้ต้องหาทั้ง 5 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทั้งหมดขอ กลับคำรับสารภาพ โดยระบุว่าถูกซ้อมและทำร้ายร่างกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อบังคับให้รับสารภาพ และกลัวว่าครอบครัวจะไม่ได้รับความปลอดภัย จึงยอมรับสารภาพ สำหรับ คดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทาง การเมือง จึงอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตามมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ
นายวิญญัติกล่าวต่อว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปรามไม่มีอำนาจการสอบสวนคดีนี้ จึงขอให้พนักงานอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนคดีนี้ใหม่อีกครั้ง โดยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ และทนายความ จะทำหนังสือยื่นขอความเป็นธรรมไปยังพนักงานสอบสวนดีเอสไอให้สอบสวนคดีใหม่ด้วย หลังจากนั้นจะยื่นประกันตัวผู้ต้องหาต่อไป จึงขอให้อัยการไม่คัดค้านในการปล่อยตัวชั่วคราว และการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการในครั้งนี้ไม่ได้ใส่ร้ายใคร แต่เป็นการนำข้อเท็จจริงมาเสนอต่ออัยการ ขณะเดียวกันนายวิญญัติก็ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับสำนักข่าวทีนิวส์ว่าการออกมาเคลื่อนไหวในการช่วยผู้ต้องหาในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพราะว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับแกนนำ นปช.แต่เป็นเพราะทางญาติของผู้ต้องหาได้ร้องขอความช่วยเหลือเข้ามา อย่างที่เราได้เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมองแบบผิวเผินเหมือนว่าจะไม่มีอะไร แต่เมื่อดูอย่างละเอียดกับพบข้อพิรุธอยู่หลายประเด็นด้วยกัน
ข้อพิรุธที่ 1 หลังจากที่มีการจับกุมกองกำลังชุดดำทั้ง 5 คน ซึ่งที่ผ่านมาแกนนำ นปช.ได้ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองกำลังชุดดังกล่าวแต่นับตั้งแต่ที่มีการจับกุมก็เป็นทางฝั่งแกนนำ นปช.ที่ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้กับ 5 ผู้ต้องหา จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีส่วนได้เสียกันหรือไม่
โดยเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมานายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. พร้อมด้วย นางธิดา ถาวรเศรษฐ น.พ.เหวง โตจิราการ นายอารี ไกรนรา แกนนำ นปช. เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายความมั่นคง เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีการจับกุมชายชุดดำ ที่ก่อเหตุความรุนแรงในปี 2553 อย่างเป็นธรรม เป็นไปตามพยานหลักฐานและกฎหมาย ซึ่งการแถลงผลการจับกุมดังกล่าว เห็นว่า จงใจเจตนาให้เห็นถึงความเชื่ยมโยงจากปี 2553 ถึงปี 2557 โดยมุ่งหวังให้สังคมเข้าใจว่าเป็นการก่อความรุนแรงตั้งแต่ปี 2553 กระทำการต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยไม่แสดงความชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลที่น่าเชื่อถือ นปช. จึงเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำคดีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปี 2553 เข้าสู่กระบวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไม่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษย์ การแถลงผลการจับกุม การทำแผน ต้องมีหลักฐานข้อมูลชัดเจน พร้อมปฏิเสธการแถลงที่นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า นปช.มีกองกำลังติดอาวุธอย่างสิ้นเชิง และยืนยันว่าการเคลื่อนไหวภายใต้การนำของ นปช. เป็นการเคลื่อนไหวโดยสงบสันติ
พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผย ภายหลังการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับคดีการจับกุมชายชุดดำก่อเหตุความรุนแรงปี 2553 ต่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ว่า ที่ผ่านมาในการดำเนินคดีชายชุดดำไม่เคยพาดพิงถึงกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลัง และไม่เคยกล่าวว่า กลุ่มชายชุดดำเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม เพียงแต่จับกุมชายชุดดำ ในข้อหาครอบครอบอาวุธสงครามเท่านั้น อีกทั้งจุดเกิดเหตุก็อยู่คนละจุดกับที่ พลเอก ร่มเกล้า เสียชีวิต และการจับกุมในคดีนี้เป็นคดีการครอบครองอาวุธ จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พร้อมยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยคุกคาม บีบคั้น หรือทำร้ายร่างกายผู้ถูกกล่าวหาให้รับสารภาพ ตามที่มีการกล่าวอ้าง และพร้อมให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามพยานหลักฐานที่ปรากฏ
ข้อพิรุธที่ 2 ต้องย้อนกลับไปพิจารณาข้อเรียกร้องของนายวิญญัติ ที่กล่าวว่าพนักงานสอบสวนกองปราบปรามไม่มีอำนาจการสอบสวนคดีนี้ จึงขอให้พนักงานอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนคดีนี้ใหม่อีกครั้ง โดยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ และทนายความ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเพราะผู้ต้องหาทั้ง 5 ไม่ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีก่อการร้าย แต่เป็นการแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ที่นายทะเบียน ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ พกพาอาวุธปืนและวัตถุระเบิดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในพื้นที่รับผิดชอบเท่านั้น
ข้อพิรุธที่ 3 ก็คือการที่ทนาย นปช.ระบุว่าผู้ต้องหาได้กลับคำรับสารภาพนั้น ซึ่งจะนำเอาหลักฐานอะไรมาพิสูจน์เพื่อหักล้างการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว เพราะโดยทั่วไปการตั้งข้อกล่าวหาในลักษณะนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีหลักฐานสำคัญเป็นภาพถ่ายที่ผู้ต้องหาได้นำอาวุธสงครามไปในที่สาธารณะอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นก็ต้องมาติดตามดูว่าการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหากองกำลังชุดดำทั้ง 5 คนมีอะไรที่แอบแฝงหรือไม่ และการที่แกนนำ นปช.และทนายความ นปช.ออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องกลับจะทำให้สังคมเกิดความสงสัยหรือไม่ว่า ผู้ต้องกองกำลังชุดดำทั้ง 5 กับแกนนำ นปช.รู้จักกันมาก่อนหน้านี้หรือไม่ และที่สำคัญก็ต้องไม่ลืมว่าหนึ่งในผู้ต้องหาที่อยู่ในระหว่างการหลบหนี ก็คือ ไก่รถตู้ หรือว่านายธนเดช เอกอภิวัชร์ ซึ่งเมื่อครั้งที่มารดาของนายธนเดช เสียชีวิต แกนนำ นปช.หลายคนได้ส่งพวงหรีดมาแสดงความไว้อาลัยอย่างชัดเจน ทั้งนี้ในคดีดังกล่าวมีผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ 7 คน จับกุมได้แล้ว 5 คน ได้แก่
1.นายกิตติศักดิ์ หรืออ้วน สุ่มศรี อายุ 45 ปี
2.นายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น อายุ 24 ปี
3.นายรณฤทธิ์ หรือนะ สุริชา อายุ 33 ปี
4.นายชำนาญ หรือเล็ก ภาคีฉาย อายุ 45 ปี
5.นางปุณิกา หรืออร ชูศรี อายุ 39 ปี
และผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการหลบหนี 2 คน ได้แก่
1.นายธนเดช เอกอภิวัชร์ หรือ ไก่รถตู้ อายุ 39 ปี
2.นายวัฒนะโชค หรือโบ้ จีนปุ้ย อายุ 23 ปี
ซึ่งในเวลาต่อมาแม่ของนายธนเดช ได้เสียชีวิตลงซึ่งในงานศพเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ปี 2553 บรรดาแกนนำ นปช. ก็ได้ส่งพวงหรีดไปร่วมไว้อาลัย ก็คือ นายชินวัฒน์ หาบุญพาด นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นายพายัพ ปั้นเกตุ นายขวัญชัย ไพรพนา พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ และนายจักรภพ เพ็ญแข
ซึ่งก็มีการตั้งข้อสังเกตุกับคำถามที่ว่าแกนนำ นปช.ไปมีความสัมพันธ์กับคนขับรถตู้รับส่งชายชุดดำถึงขนาดที่ส่งพวงรีดไปร่วมแสดงความเสียใจในงานศพของแม่นายธนเดช ได้อย่างไร จากข้อมูลที่ปรากฏเหล่านี้ยังมีเหตุผลสำคัญที่สามารถทำให้เชื่อได้ว่าแกนนำ นปช.ได้ออกมาช่วยเหลือ 5 ผู้ต้องหาก็เป็นเพราะว่าสถานะของแกนนำเหล่านี้เป็นจำเลยในคดีก่อการร้าย ซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้คดีก่อการร้ายมีผลในทางปฏิบัติที่สมบูรณ์ก็คือเรื่องของกองกำลังติดอาวุธนั่นเอง