เบื้องหลังผูกคอตาย ไม่ติดวิศวะจุฬาฯ

"เบื้องหลัง ผูกคอตาย ไม่ติดจุฬาฯ"



กรณีที่นายจิรัฎฐากรณ์ สุขเกษมพงค์ อายุ 19 ปี หนุ่มนักเรียนที่พลาดหวังเอ็นทรานซ์ไม่ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่เลือกไว้อันดับ 1

แต่กลับไปได้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เลือกเป็นอันดับ 2 จนเครียดจัดตัดสินใจผูกคอตายสังเวยชีวิตจนสร้างความเสียใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองและญาติพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าต่อมาเวลา 12.00 น.

วันที่ 14 พ.ค. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ร้านเฉลิมพรโลหะกิจ เลขที่ 248 ถนนพหลโยธิน ข้างสำนักงานเทศบาลตำบลห้วยไคร้ ถนนพหลโยธิน หมู่ 2 ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย

สถานที่ตั้งศพนายจิรัฎฐากรณ์ สุขเกษมพงค์

หนุ่มนักเรียนที่ผูกคอคาย พบมีบรรดาเพื่อนนักเรียนเก่าจาก ร.ร.สามัคคีวิทยา อ.เมืองเชียงราย และครูอาจารย์ที่เคยสอนอยู่ ร.ร.บ้านห้วยไคร้ ทยอยมาเยี่ยมสอบถามสาเหตุการฆ่าตัวตาย และปลอบใจนางภาพร สุขเกษมพงค์ และนายปรีดา สุขเกษมพงค์ มารดาและบิดาผู้ตายอย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวัน

ทั้งนี้ นางภาพรเล่าให้ผู้มาเยี่ยมฟังด้วยน้ำตานองหน้าว่า

ช่วงเย็นวันที่ 12 พ.ค. นายจิรัฎฐากรณ์ ลูกชาย ได้รับข้อความจากเพื่อนแจ้งให้ทราบว่าไม่ติดคณะวิศวกรรมจุฬาฯ ที่ไว้อันดับ 1 แต่ไปติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เลือกไว้อันดับ 2



ทำให้นายจิรัฎฐากรณ์เครียดมาก

ถึงกับร้องตะโกนออกมาเสียงดังว่า เมื่อสอบเข้าจุฬาฯไม่ได้ก็จะขอตาย พร้อมขออนุญาตตนและผู้เป็นพ่อว่า ลูกขอตาย เพราะเมื่อไม่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยที่ชอบ หากเรียนไปก็ไม่มีความสุข

พร้อมบอกด้วยว่า

เหตุผลการตายไม่ใช่คนโง่ แต่จะทำให้ผู้ใหญ่ ในบ้านเมืองได้รับรู้ถึงความเจ็บปวดของเด็กๆ ที่ต้องมารับผลของการบริหารงานจัดระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ผิดพลาดแล้วให้เด็กเป็นผู้รับกรรม

แม่ผู้สูญเสียลูกชายกล่าวด้วยว่า

หลังได้ยินคำพูดของลูกชายถึงกับตกใจมาก พยายามพูดปลอบใจว่า เมื่อสอบติดที่ไหนก็เรียนไปตามนั้น แต่ผู้ตายตอบกลับว่า เมื่อปีที่แล้วสอบได้คะแนนดี ประกาศครั้งแรกคะแนนสูง

จนสามารถจะเลือกคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ได้ตามความตั้งใจ แต่เมื่อประกาศครั้งที่ 2 ทำให้คะแนนตกลงมากจนเข้าไม่ได้ ต้องเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กรุงเทพฯแทน กระทั่งมีการสอบโอเน็ต-เอเน็ตใหม่

เมื่อคะแนนออกมาต่ำไม่สามารถที่จะเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ได้ตามที่ตั้งความหวังไว้ครั้งแรก จึงหันไปเลือกคณะวิศวกรรม จุฬาฯ เป็นอันดับ 1 แต่เมื่อผลสอบออกมาไม่ได้อีกจึงรู้สึกผิดหวังเพิ่มเป็นทวีคูณ และคิดว่าสาเหตุทั้งหมดมาจากผู้ใหญ่บริหารงานไม่ดีไปลดคะแนนของเด็ก ทำให้หลายคนสอบเข้าคณะที่ตนเองชอบไม่ได้



นางภาพรกล่าวอีกว่า

การตายของลูกชายครั้งนี้ไม่ใช่ได้รับความกดดันจากพ่อแม่ เพราะเป็นลูกคนเดียว จึงปล่อยให้ลูกเป็นอิสระในการเลือกเรียน ต้องการซื้ออุปกรณ์การเรียนอะไร พ่อแม่จัดให้หมด ไม่เคยบังคับลูกว่า จะต้องเรียนคณะไหน

แต่ที่ต้องมาตายเพราะผู้ใหญ่ไม่รับผิดชอบ

จัดระบบการศึกษาพลาดแล้วปล่อยให้เด็กต้องมาตายสังเวยต่อการบริหาร อยากขอร้องว่า ขอให้การตายของลูกตนครั้งนี้เป็นบทเรียน และเป็นคนสุดท้ายต่อความผิดพลาดของผู้ใหญ่

และขอให้เด็กๆ ที่สอบไม่ติด

อย่าได้คิดสั้นอีกเลย เพราะจะทำให้พ่อแม่ต้องชอกช้ำ เสียใจต่อการสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิตเป็นอย่างมาก และขอเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ออกมาแสดงความรับผิดครั้งนี้ด้วย

ด้านนางรัชดาพร มังคราช ครูสอนศิลปะ

และการดนตรี ร.ร.บ้านห้วยไคร้ ต.ห้วยไคร้ ที่เคยสอนผู้ตายเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล-ป.6 กล่าวว่า นายจิรัฎฐากรณ์เป็นเด็กที่มีระเบียบวินัยมาก มีนิสัยร่าเริง รักการเรียนดนตรี ชอบทำกิจกรรม เล่นกีฬา

เป็นผู้นำที่ดี เรียนเก่ง

ขยันเอาใจใส่ต่อการเรียน สนใจใฝ่ธรรมะ ชอบสวดมนต์ไหว้ พระ มีความตั้งใจทำอะไรแล้วต้องทำให้สำเร็จและเรียบร้อยทุกครั้ง ครูและเพื่อนทุกคนรู้สึกเสียใจต่อการจากไปของลูกศิษย์คนนี้เป็นอย่างมาก ไม่คิดว่าระบบการศึกษาจะทำให้ต้องสูญเสียเด็กดี เรียนเก่งไปครั้งนี้



ด้านนายกฤษณพงศ์ กีรติกร

เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับพ่อแม่ของนักเรียนที่เสียชีวิต สิ่งที่ สกอ. จะทำได้คือ ต้องมองในระยะยาว เพราะปัญหาเด็กเครียดนั้น มีความ เครียดสะสมมาตั้งแต่เรียน ม.ปลาย

ก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว

เคยตรวจสุขภาพจิตนักศึกษาตอนเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำนวน 2,000 กว่าคน พบว่ามีเด็กที่เครียดต้องดูแลเป็นพิเศษ ประมาณ 40-50 คน ทั้งนี้ทุกมหาวิทยาลัยจะมี

คลินิกที่ดูแลสุขภาพจิตนักศึกษา

ก็จะต้องทำงานเชิงรุกเข้าไปหาเด็กเครียดให้เจอก่อน เพราะทั้งมหาวิทยาลัยและพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการเห็นเด็กทุกคนสอบจบการศึกษา ไม่มีใครอยากเห็นเด็กฆ่าตัวตายระหว่างเรียน

ขณะที่นายวันชัย ศิริชนะ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อยากบอกกับเด็กทุกคนว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่งของชีวิต

แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ขอให้ทบทวนให้ดี

อย่าตัดสินใจอะไรที่เป็นภัยกับตนเอง สำหรับชื่อเสียงของสถาบันนั้น สมัยนี้ชื่อเสียงของคณะ หรือมหาวิทยาลัย มีความสำคัญน้อยลง สิ่งสำคัญในชีวิตวัดด้วยการทำงานมากกว่าจบจากที่ใด



ส่วนนายดิเรก ลาวัณย์ศิริ

คณบดีวิศวะจุฬาฯซึ่งเป็นคณะที่นายจิรัฎฐากรณ์เลือกเป็นอันดับ 1 แต่ต้องผิดหวังกล่าวว่า อยากจะให้เด็กที่สอบติดอันดับไหนก็ตาม ควรจะไปดูคนที่ได้อันดับแย่กว่าตัวเอง หรือคนที่พลาดสอบไม่ติด

อย่าไปเปรียบเทียบกับคนที่เก่ง

หรือได้อันดับดีกว่า อีกทั้งควรพยายามที่จะตั้งใจเรียนมากกว่าที่จะยึดติดกับสถาบัน เพราะไม่ว่าจะเรียนคณะไหน สาขาใด ของมหาวิทยาลัยของรัฐ คุณภาพก็อยู่ในระดับเดียวกัน และเด็กก็ไม่ควรตั้งความหวังไว้มาก อีกอย่างถ้าไม่ติดปีนี้ปีหน้าสมัครใหม่ก็ได้

ด้านนายวรากรณ์ สามโกเศศ

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีนักเรียนผูกคอตายเพราะเข้ามหาวิทยาลัยไม่ติดคณะที่ชอบว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ตาย เพราะไม่มีความสูญเสียใดจะมากเท่ากับการสูญเสียลูก

แต่การสอบแอดมิชชั่นนั้นเด็กสอบโอเน็ต

ได้ครั้งเดียวก็จริง แต่การสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูงหรือเอเน็ต ซึ่งจะสอบใหม่กี่ครั้งก็ได้ อาจเป็นการเข้าใจผิดของเด็ก ในการสอบคัดเลือกไม่ว่าจะเป็นการสอบปกติ สอบเอ็นทรานซ์ หรือสอบแอดมิชชั่น ย่อมต้องมีคนสมหวังและผิดหวัง



รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่านายจิรัฎฐากรณ์ ผู้ตายเลือกคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอันดับ 4 อย่างไร ก็ตาม จึงอยากให้กำลังใจกับเด็กๆทุกคนว่า

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ใช่สิ่งสุดท้ายของโลก

แม้จะไม่ได้คณะตามที่หวัง ก็ยังสามารถสอบใหม่ในปีหน้าได้ ขณะเดียว กันมหาวิทยาลัยอื่นๆก็ยังเปิดรับอยู่ ที่สำคัญการจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยใดก็ไม่สำคัญเท่าการจบแล้วมีความสามารถ

การตั้งใจเรียนของเด็กมีความสำคัญ

กว่าการที่เข้าเรียนในสถาบันที่คิดว่าดีที่สุด แต่ไม่ตั้งใจเรียน ขอให้ทุกคนคิดว่าความหวังยังมีเสมอ



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์