ตากร้อนเดือด พายุซัดไฟไหม้ บ้านพักครูร้าง ฟ้าผ่า 2 จว. 2 ศพ

"พายุฝนตกหนัก ไฟไหม้ตากยับ"



เมื่อกลางดึกวันที่ 27 เม.ย.ที่ จ.ตาก หลังจากอากาศร้อนอบอ้าวอุณหภูมิสูงกว่า 43 องศาเซลเซียสมาหลายวัน

ได้เกิดพายุและฝนตกหนักในเขต

อ.สามเงา อ.บ้านตาก กิ่ง อ.วังเจ้า และ อ.เมืองตาก โดยที่บ้านตลุกป่าตาล หมู่ที่ 5 ต.โป่งแดง อ.เมืองตาก แรงพายุทำให้เกิดไฟไหม้ ที่บ้านพักครูโรงเรียนบ้านตลุกป่าตาล

ซึ่งเป็นบ้านพักครูร้างไม่มีคนอาศัย

สร้างมานานกว่า 50 ปี ลักษณะเป็นบ้านไม้สัก เพลิงลุกไหม้อย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นอาคารไม้เก่า ครูเวรและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านพยายามดับแต่ไม่สำเร็จ ทำให้เสียหายทั้งหลัง

นายชุมพร พลรักษ์ ผวจ.ตาก

พล.ต.ต.ประสาร บุณยะปาน ผบก.ภ.จ.ตาก ตรวจที่เกิดเหตุ คาดว่าเนื่องจากลมกระโชกแรง ประกอบกับสายไฟเก่าติดตั้งเมื่อปี 2525 บางจุดชำรุด ทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร

ในขณะที่ ต.โป่งแดง

บ้านเรือนเสียหายกว่า 200 หลัง ส่วนใหญ่หลังคาบ้านปลิวไปตามแรงลม นอกจากนี้ ต้นไม้ขนาดใหญ่หักโค่นขวางถนน ไฟฟ้าดับหลายชั่วโมง



ที่ จ.เพชรบูรณ์ เกิดพายุและฟ้าผ่าคนตายกลางทุ่งนา

หมู่ 5 บ้านตะกรุดหิน ต.ซับสมอทอด อ.บึงสามพัน ขณะที่นายอดุลย์ แปลงนา อายุ 35 ปี กับนางยุพิน แปลงนา อายุ 27 ปี ภรรยา และเพื่อนในหมู่บ้านอีกคนคือนางพยอม สงค์ใต้ อายุ 35 ปี

เลี้ยงวัวอยู่กลางทุ่ง มีพายุฝนตกหนัก

จึงวิ่งเข้าไปหลบในห้างนา ระหว่างนั้นฟ้าผ่าลงมาโดนนางพยอมไหม้ตั้งแต่ศีรษะถึงสะโพกตายคาที่ ส่วนนายอดุลย์กับนางยุพินบาดเจ็บ

ภาคอีสาน ที่ จ.ศรีสะเกษ

มีผู้ถูกฟ้าผ่าเสียชีวิตชื่อนายเซ็ง ภูนุภา อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 บ้านนาชุม หมู่ 5 ต.สะสมิง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี นางรอด ภูนุภา อายุ 46 ปี ภรรยาผู้ตาย เล่าว่าสามีมาช่วยงานแต่งงานญาติที่ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ

โดยลงรถโดยสารที่แยกนกยูง

ทางหลวงถนนสายโชคชัย-เดชอุดม ต.โสน อ.ขุขันธ์ ระหว่างนั้นเกิดพายุฤดูร้อนพัดกระหน่ำและฝนตกลงมาอย่างหนัก จึงเข้าไปหลบฝนในศาลาที่พักผู้โดยสารข้างทาง ซึ่งมีคนอยู่ก่อนแล้ว 3 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 1 คน

หลังจากเข้าไปได้ไม่นานฟ้าผ่าลงกลางหลังคา

กระเด็นไปคนละทางสลบไม่ได้สติ แต่เป็นที่น่าประหลาดใจคนผู้หญิงที่ยืนอยู่ด้วยไม่ได้รับบาดเจ็บ ทุกคนถูกนำส่งโรงพยาบาลศรีสะเกษและนายเซ็งเสียชีวิตในเวลาต่อมา



ขณะเดียวกันพบว่าสามีผูกตะกรุดทองเหลือง

ไว้ที่เอวจึงเป็นสื่อทำให้โดนฟ้าผ่า นอกจากนี้ ผู้บาดเจ็บอีก 2 คนมีนายถนอม ตะเคียนราม อายุ 45 ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านขะยอง หมู่ 4 ต.ตะเคียนราม อ.ภูสิงห์ กับนายเสริม ใจหาญ อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 57/1 บ้านสะเดาใหญ่ ต.สะเดาใหญ่ อ.ขุขันธ์ โดยนายเสริมอาการน่าเป็นห่วง

ส่วนที่ จ.หนองคายพายุฝนฟ้าคะนองพัดถล่มพื้นที่

หมู่ 3 บ้านอาฮง และหมู่ 4 บ้านโนนศิลา ต.ไคสี อ.บึงกาฬ สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนราษฎรกว่า 100 หลังคาเรือน รวมทั้งวัดประจำหมู่บ้าน 2 แห่ง นอกจากนี้ มีผู้บาดเจ็บถูกบ้านพังทับ 2 ราย

ชื่อนายแสนชัย ธนะบริหาร อายุ 34 ปี

และนายโกศล ประสบสุข อายุ 21 ปี ทั้งคู่อยู่บ้านเลขที่ 113 หมู่ 4 บ้านโนนศิลา ต.ไคสี เจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ด้าน ต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด พายุซัดบ้านพัง 10 หลัง

ขณะเดียวกันมีการเตือนภัยอันตรายจากน้ำตก

ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากที่น้ำตกสายรุ้ง

และน้ำตกไพรสวรรค์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

เทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 38 รายนั้น กรมอุทยานฯ ได้สำรวจน้ำตกและแหล่งท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ วนอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ



พบว่ามีจุดท่องเที่ยวทั้งหมด 267

แห่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดดินถล่มและน้ำป่า เช่น อุทยานแห่งชาติปางสีดา จ.สระแก้ว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เขาคิชกูฏ และอุทยานน้ำตก 15 ชั้น จ.จันทบุรี ทั้งนี้

จะมีการสำรวจข้อมูลทางธรณีวิทยา

สภาพพื้นที่โดย รวมตลอดจนปัญหาอื่นๆ เพื่อเตรียมมาตรการป้องกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว และอุปกรณ์ที่จำเป็นจำพวกเสื้อชูชีพ เชือก เอาไว้ล่วงหน้า แต่จะไม่มีการสั่งปิดบริการใดๆ เนื่องจากจะเสียบรรยากาศเรื่องการท่องเที่ยว แต่จะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น

สำหรับน้ำตกสายรุ้งนั้น ขณะนี้สั่งปิดชั่วคราว

จากการสำรวจพื้นที่พบว่า น้ำตกดังกล่าวมีความลาดชันสูงมากต้องใช้เวลาเดินทางขึ้นจุดที่สูงสุดของน้ำตกที่สูงถึง 1,050 เมตร เป็นระยะทาง 5 กม. ดังนั้น น้ำตกจึงค่อนข้างแรงตามหน้าผาลาดชัน

และยังมีลักษณะเป็นแอ่งตามธรรมชาติ

ในช่วงท้ายน้ำ จึงมีความเป็นไปได้ว่าหากมีการเก็บกักน้ำเอาไว้เกินจุดหนึ่งจะเกิดปัญหาน้ำไหลได้

นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในกรณีน้ำตกสายรุ้ง ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายไม่ได้เปิดเอาไว้สำหรับการท่องเที่ยว จึงไม่ได้มีการบริการเหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ



แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว

ก็สั่งการให้กรมอุทยานฯสำรวจเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปท่องเที่ยวทั้งหมด เพื่อนำมาจัดลำดับความสำคัญว่าจะให้บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งการวางแผนการช่วยเหลือ

การเฝ้าระวังเตือนภัยสำหรับอนาคต

ไม่ใช่ว่าเกิดปัญหาแล้วจะมาทำวัวหายล้อมคอก แต่ไม่ต้องการให้เหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนที่ผ่านมา

นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

กล่าวว่า สำรวจพบพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มรวม 51 จังหวัด 2,371 หมู่บ้านเสี่ยงภัย แต่ปัจจุบันสามารถจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่ม 16 จังหวัด และในปี 2550

มีแผนดำเนินการ 5 จังหวัดดำเนินการที่ จ.ตรัง

ส่วน จ.สุโขทัย ลำปาง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ ส่วนที่เหลืออีก 30 จังหวัดจะดำเนินการในปี 2551-2555

ด้านมาตรการป้องกันนั้น

ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจพื้นที่หมู่บ้านเสี่ยงภัยทุกพื้นที่ก่อนเข้าสู่ช่วงหน้าฝน เพื่อเตรียมทบทวนมาตรการรับมือภัยดินถล่มน้ำป่าไหลหลากร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานในท้องถิ่น ตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นมา

โดยเฉพาะที่ อ.ท่าปลา อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

ที่เคยประสบปัญหาโคลนถล่มเมื่อปี 49 หลังเกิดเหตุการณ์ก็มีข้อเสนอที่จะย้ายหมู่บ้าน ที่อยู่ในเขตร่องเขาที่มีความเสี่ยงสูงออกไป แต่ปรากฏว่าชาวบ้านไม่ย้ายออก เนื่องจากต้องหากินกับสวนผลไม้ในพื้นที่ ดังนั้น เมื่อชาวบ้านยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก็ต้องเข้าไปให้ความรู้ในการเฝ้าระวังภัย



ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์