นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า วันที่ 16 พ.ค. 56 เวลา 14.00 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในประเทศไทย (พีค) อยู่ที่ 26,598.1 เมกะวัตต์ สูงสุดในประวัติศาสตร์และทำลายสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 56 ที่อยู่ระดับ 26,423 เมกะวัตต์ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนโดยมีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ดังนั้น กฟผ. ต้องการให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า โดยเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานไฟฟ้า บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและลดค่าใช้จ่ายได้
ด้านนายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าวว่า
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ กฟผ.หลายแห่งยังคงทำหน้าที่ระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยปัจจุบัน มีปริมาณน้ำทั้งหมด 32,184 ล้าน ลบ.ม.หรือ 52% ของความจุ น้อยกว่าปีถึง 7% และมีมีปริมาณน้ำใช้งานได้เพียง 9,139 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 1,236 ล้าน ลบ.ม. และสิ้นสุดการระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 678 ล้าน ลบ.ม. สิ้นสุดการระบายน้ำฯ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. เช่นกัน ขณะที่สถานการณ์น้ำไหลเข้าพบว่าเขื่อนสิริกิติ์ดีกว่าเขื่อนภูมิพล โดยไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ยวันละ 4 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนเขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 103 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันระบายน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค
และรักษาลำน้ำวันละ 800,000 ลบ.ม. และยังพอมีน้ำไหลเข้าเขื่อนใกล้เคียงกับที่ระบายน้ำออก ด้านเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้ว 73%ของแผนจัดสรรน้ำ เหลือปริมาณน้ำที่จะระบายตลอดช่วงฤดูแล้งที่จะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. นี้อีก 1,878 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนทั้งสองยังมีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 4,186 ล้าน ลบ.ม.