นายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา ผู้อำนวยการสถาบัน TIPMSE กล่าวว่า
การดำเนินการ “ร้าน 0 บาท” มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1. เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการใช้วัตถุรีไซเคิลแทนเงินสด 2. เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมองเห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิล 3. เพื่อรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมที่คนรุ่นใหม่ร่วมใจกันคัดแยกวัสดุรีไซเคิล
“โครงการนี้จะสร้างวัฒนธรรมให้ตระหนักถึงคุณค่าของขยะ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นวัสดุรีไซเคิลได้ อีกทั้งการสร้างพฤติกรรมการคัดแยกขยะ และ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ สามารถช่วยแก้ปัญหาปริมาณขยะล้นเมือง อีกทั้งยังเป็นการลดค่าครองชีพของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากสามารถใช้วัสดุรีไซเคิลจากขยะ แทนเงินในการซื้อสินค้าจาก ร้าน 0 บาท”นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายพีรธร เสนีย์วงศ์ ประธานกลุ่มขยะรีไซเคิลชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ กล่าวว่า
ในอดีตคนในชุมชน เคยอยู่อาศัยใต้สะพาน และ เลี้ยงชีพด้วยการเก็บขยะ ซึ่งต่อมาได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องที่อยู่ใหม่จนเกิดเป็นชุมชุนอ่อนนุช 14 ไร่ ซึ่งคนในชุมชนได้นำประสบการณ์จากการเก็บขยะ มาร่วมกันจัดตั้งโครงการสหกรณ์ขยะขึ้น โดยให้สมาชิกนำขยะรีไซเคิลมาแลกสินค้าของใช้ประจำวันที่ร้านค้าสวัสดิการ โดยมีราคาถูกกว่าท้องตลาด และสามารถประยุกต์ใช้กับโครงการ “ร้าน 0 บาท” ของ TIPMSE ได้ เพราะ ขยะบางประเภท และ วัสดุรีไซเคิล สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินสดได้ โดยสินค้าที่จำหน่ายภายใน ร้าน 0 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ร้านต้นแบบโครงการ “ร้าน 0 บาท” มีหลากหลาย ตั้งแต่เป็นร้านค้าถาวร หรือร้านค้าในรูปแบบอื่น
โดยแต่ร้านจะพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับสภาพของแต่ละชุมชน เพื่อให้เป็นร้านของชุมชนอย่างแท้จริง โดยเริ่มเปิดให้บริการร้านแรก ณ ศูนย์คัดแยกวัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง อ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ และจะมีการจัดตั้งร้านต้นแบบอีกสองสาขาใน ชุมชนเคหะดินแดง และ ชุมชนวัดกลาง อย่างไรก็ตามหากชุมชนที่มีความสนใจจะดำเนินการสร้างร้าน 0 บาท สามารถติดต่อ TIPMSE เพื่อรับความช่วยเหลือได้