ฝันร้ายเดือนพฤษภาฯ ของแพงแซงค่าแรง300บาท

โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ

(ที่มา: มติชน รายวัน ฉบับวันที่ 30 เมษายน 2555)


ข้าวยากหมากแพง กลายเป็นปัญหาของคนไทยยามนี้ แม้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ดูแลปัญหาปากท้อง ยืนยันเสียงแข็งว่า สินค้าส่วนใหญ่ยังไม่มีการปรับขึ้นราคา ตรงกันข้ามหลายรายการมีราคาลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และผักสด อาหารหลักของคนไทย ราคาถูกลง

เป็นข้อมูลที่สวนทางกับผลการสำรวจทางวิชาการของทุกสำนัก ผลสำรวจออกมาในทิศทางเดียวกันว่า "ของแพง" ขึ้น และกำลังเดือดร้อนหนัก เมื่อค่าครองชีพแพงขึ้นทุกด้าน อย่างการสำรวจล่าสุดของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในภาคประชาชน ผู้ใช้แรงงาน และผู้ประกอบการธุรกิจกว่า 80% ระบุว่า กำลังเดือดร้อนจากภาวะค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น

หากดูตามความเป็นจริงที่เคยเกิดขึ้นเสมอๆ ตั้งแต่อดีต เมื่อไรก็ตาม ที่รัฐบาลประกาศขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ ราคาสินค้ามักจะขยับก่อนล่วงหน้า

ในครั้งนี้ รัฐบาลประกาศแต่เนิ่นๆ เพราะเป็นหนึ่งในสัญญาช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งว่าจะปรับขึ้นเงินเดือนระดับปริญญาตรี 15,000 บาท และขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งรัฐบาลดำเนินการแล้วในส่วนของค่าแรงที่นำร่อง 7 จังหวัด เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา
จึงไม่แปลกที่จะเห็นปรากฏการณ์ราคาสินค้าแพง โดยที่ผ่านมา สายด่วนของกรมการค้าภายในต้องทำหน้าที่อย่างหนัก มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาไม่ขาดสายว่าของกินของใช้แพงลิ่ว

ฝันร้ายเดือนพฤษภาฯ ของแพงแซงค่าแรง300บาท

แต่ครั้งนี้ ดูท่าจะสาหัสกว่าในอดีต เพราะไม่เพียงราคาสินค้าเท่านั้น แต่รายจ่ายประจำวันต่างๆ ก็แพงขึ้น จากนโยบายของรัฐบาลส่วนหนึ่ง และจากผลพวงราคาน้ำมันตลาดโลกแพง

ซึ่งทุกอย่างประจวบเหมาะในเดือนพฤษภาคม เดือนของคนใช้แรงงาน รับค่าแรงสูงขึ้น 300 บาทต่อวัน แต่ต้องจ่ายค่าครองชีพแพงขึ้น!!

ไล่เรียงคร่าวๆ ค่ากินและค่าครองชีพราคาใหม่ เช่น อาหารจานเดียว หรืออาหารตามสั่ง ถึงที่สุดกระทรวงพาณิชย์ต้องยอมให้แม่ค้าขายเกินราคาแนะนำของกระทรวง จากจานละ 25 บาท เป็น 35 บาท

แต่ใช่ว่าจะกินอิ่ม เพราะปริมาณต่อจานลดลงเกือบครึ่ง จากที่เคยกินมื้อละ 50 บาท (ข้าว+เครื่องดื่ม) ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 80-90 บาทต่อมื้อ ถึงจะอิ่มท้อง

ช่วงแรกที่กระทรวงพาณิชย์ถูกตั้งคำถามบ่อยครั้งเรื่องคุมราคาสินค้าได้จริงหรือ กรมการค้าภายใน และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันเสียงแข็งว่า ราคาสินค้าไม่น่าจะสูงขึ้น เพราะไม่ได้อนุมัติให้สินค้าใดขึ้นราคา

แต่ดูเหมือนเสียงร้องเรียนผ่านสายด่วนยังระงมไม่หาย เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ออกมาควบคุมราคาอย่างจริงจัง

นั่นหมายความว่า ในความเป็นจริง ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น

และจากข้อมูลผ่านสายด่วนของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า อาหารสำเร็จรูปมีการขยับราคาทุกเดือน นับจากเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ปรับราคาแล้ว 4-5 ครั้ง

ข้อมูลดังกล่าวไม่น่าเกินจริง เพราะจากการตรวจสอบกับพ่อค้าคนกลาง หรือยี่ปั๊วซาปั๊ว ยืนยันว่า ผู้ผลิตสินค้าเริ่มส่งสัญญาณปรับเพิ่มราคาขายส่งสินค้าแล้ว 5-10% โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

ส่วนสินค้าทั่วไป จะใช้วิธีการออกสินค้าใหม่และลดขนาดหรือขายพ่วง หรือขายแบบแพคเกจ ซื้อ 2 แถม 1 ทำให้ร้านค้าต้องจ่ายค่าสั่งซื้อสินค้าเพิ่มอีก 30-40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในที่สุด กระทรวงพาณิชย์ได้ออกมายอมรับกลายๆ ว่า ราคาสินค้าปรับแพงขึ้นจริง แต่ไม่ได้เป็นการอนุมัติให้ปรับเพิ่มราคาจากกระทรวงพาณิชย์ แต่เป็นเพราะสินค้าเหล่านั้นขยับราคาตามต้นทุนด้านการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงผู้ผลิตได้ยกเลิกการจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย ทำให้ดูเหมือนว่าราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น แต่ราคาดังกล่าวยังเป็นราคาขายที่ไม่ถึงเพดานราคาควบคุม

ค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมนี้ รถโดยสารสาธารณะเกือบทุกประเภทปรับขึ้นราคาตามที่กระทรวงคมนาคมอนุมัติ เริ่มตั้งแต่รถสองแถวในซอย ปรับเป็น 7 บาท จากปัจจุบัน 5.50 บาท และเพิ่มเป็น 9 บาท ในช่วงเวลา 22.00-05.00 น. จากปัจจุบันเก็บเพิ่มในช่วงเวลาดังกล่าว 1.50 บาท รถโดยสารมินิบัส ปรับเป็น 8 บาท จากปัจจุบัน 6.50 บาท รถ บ.ข.ส.ปรับขึ้นอีก 0.04 บาทต่อกิโลเมตร (กม.)

ส่วนรถเมล์ของ ขสมก.และรถร่วมบริการ ขสมก. จะปรับค่าโดยสารขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ เช่นเดียวกับผู้ให้บริการเรือโดยสาร ทั้งเรือด่วนเจ้าพระยา และเรือคลองแสนแสบ จะปรับค่าโดยสารอีกระยะละ 2 บาทเมื่อราคาน้ำมันดีเซลขึ้นไปอยู่ในระดับ 33 บาทต่อลิตร

ขณะที่รถแท็กซี่รอการอนุมัติจากกรมขนส่งทางบกปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่เดือนมิถุนายนนี้เช่นกัน แนวโน้มจะเป็นการปรับขึ้นตามระยะทาง

แต่ที่แน่ๆ จะมีผลต่อราคาสินค้าเพราะรถบรรทุกขอปรับเพิ่มค่าขนส่งสินค้าอีก 5% หรือปรับขึ้นอีก 0.50 บาทต่อ กม.

สำหรับคนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัว ยอมรับสภาพไปนานแล้วว่าค่าใช้จ่ายส่วนเดินทางต้องแพงขึ้นอีกโข เพราะทางเลือกจ่ายถูกไม่มี น้ำมันทุกชนิด ทั้งเบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์ เรียงหน้าขึ้นราคาไปก่อนหน้าแล้ว จากที่รัฐบาลมีนโยบายเรียกเก็บเงินส่วนดังกล่าวให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น เพื่อลดขาดทุนสะสมของกองทุนฯ

ขณะที่แอลพีจีและเอ็นจีวี ซึ่งเคยเป็นทางเลือกก็ทยอยปรับขึ้นราคาทุกเดือน ตามนโยบายรัฐบาลเลิกอุดหนุนราคา

แต่ค่าใช้จ่ายยังไม่หยุดแค่นี้ เมื่อเรกูเลเตอร์ไฟเขียวปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ค่าไฟ ต้องจ่ายแพงขึ้นอีก 30 สตางค์ต่อหน่วย เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้

ดังนั้น ครั้งนี้ไม่เพียงกระทรวงพาณิชย์ในฐานะดูแลปากท้องประชาชนที่เดือดร้อน แต่กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับค่าครองชีพต่างก็เดือดร้อนเช่นกัน

เดือดร้อนถึงขนาด นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องเรียกประชุมด่วน แม้ว่ารัฐบาลจะต่อโครงการลดค่าครองชีพให้ประชาชนที่ทำมาตั้งแต่สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ในส่วนการใช้ไฟฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วย ซึ่งยังสงสัยว่าใครจะได้ใช้ไฟฟรีบ้างสำหรับสภาพอากาศร้อนจัด จนการใช้ไฟสูงสุด หรือพีค ลบสถิติรายวัน

เมื่อดูท่าทีการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีแล้ว คงหวังไม่ได้มากว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ เพราะพูดถึงแต่เรื่องการรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้พลังงาน

หรือแม้แต่การต่อโครงการรถเมล์-รถไฟฟรี ของรัฐบาล ที่ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน แม้ว่าจะชื่นชอบกับโครงการนี้ แต่ในปัจจุบันแทบจะไม่เห็น "รถเมล์ฟรีจากภาษีประชาชน" วิ่งอยู่บนถนนสักเท่าไหร่ และที่เห็นมีวิ่งบ้างส่วนใหญ่จะเป็นการตีรถเปล่ากลับอู่เสียมากกว่า

สรุปค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเบื้องต้น ค่าอาหารต่อมื้อจากเฉลี่ย 50 บาทอิ่ม เป็น 80-90 บาทอิ่ม เท่ากับภาระเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เมื่อรวมกับค่าเดินทาง ค่าไฟ ค่าที่พัก และสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าใช้จ่ายต่อครอบครัวน่าจะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 150%

นายสัตวแพทย์ ไชยศักดิ์ บุญประสพธนโชติ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ และผู้ส่งออกไก่เนื้อรายใหญ่ ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า เนื้อสัตว์ทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร ตั้งแต่ต้นปีมาราคาต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 10-15% และปริมาณล้นตลาดมาตั้งแต่น้ำท่วมลดลงแล้ว ผลจากปล่อยนำเข้าพันธุ์เลี้ยงและการส่งออกที่ไม่ได้ขยายตัวสูงนัก

"ฟันธงเนื้อสัตว์ปีนี้ราคาถูกกว่าปีก่อน ทั้งที่ผู้เลี้ยงต้นทุนเพิ่ม ราคาต้นทางเพิ่ม แต่ราคาปลายทางไม่เพิ่มและถูกลง เพราะต้องแข่งขันกันขาย เป็นปีของผู้ซื้อได้บริโภคของถูก ส่วนอาหารแพงนั้นน่าจะเป็นข้ออ้างจากเหตุผลอื่น อย่างเรื่องค่าแรงงานสูงขึ้น หรือค่าโสหุ้ยอื่นมากกว่า"

สอดคล้องกับเกษตรกรที่ร้องขอให้รัฐบาลเปิดรับจำนำและรับซื้อผลผลิตเพราะผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ ที่ตอนนี้รัฐบาลรับจำนำตั้งแต่ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง หอมแดง กระเทียม หอมหัวใหญ่ สับปะรด หรือกำลังเตรียมรับซื้อกุ้งในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน รัฐบาลต้องใช้เงินกับสินค้าเหล่านี้ไม่น่าต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท

แล้วสาเหตุของแพงนั้นเกิดจากอะไร ?

คำตอบทั้งทางวิชาการและภาคเอกชนตรงกัน คือการบริหารงานของรัฐมนตรีที่รับผิดชอบและรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ เป็นการตั้งรับมากกว่าเชิงรุก เมื่อเกิดปัญหาค่อยเปิดประชุม สุดท้ายขออนุมัติเปิดรับจำนำรับซื้อ จึงเป็นทางให้เกิดการใช้งบประมาณที่เกินจำเป็นหรือไม่ เช่น กรณีไข่ไก่ล้นตลาดมา 5 เดือนเต็ม วันละ 4-5 ล้านฟอง ทั้งที่มีคณะกรรมการดูแลโดยตรง คือเอ้กบอร์ด แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร

ส่วนความหวังว่าจะช่วยลดค่าครองชีพผ่านโครงการร้านโชห่วยช่วยชาติ ภายใต้ชื่อ ร้านถูกใจ ที่มีการโหมโรงครึกโครม ทำท่าฝ่อตั้งแต่ยังไม่เปิดตัว เจอโรคเลื่อนซ้ำซาก เพราะเป้าหมายต้องการดึงร้านค้าริมถนนเข้าโครงการขายของถูก 20 ชนิด ชนิดละ 20% จำนวน 10,000 แห่ง ในเดือนพฤษภาคมนี้ โอกาสที่น่าจะเกิดได้ ไม่น่าเกิน 3,000 แห่ง

จะคุ้มค่ากับที่ภาษีประชาชนจ่ายไปกับโครงการนี้อีก 1,300 ล้านบาทแค่ไหน !

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์