ฟอร์บส์ ประเทศไทย. ได้เปิดเผยการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2565
ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ซบเซา ดัชนีหุ้นไทยปรับลดจากจากจุดสูงสุดลง 3 เปอร์เซ็นต์ และตั้งแต่จากการอันดับมหาเศรษฐีไทยครั้งล่าสุด อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ส่งให้มูลค่ารวมทรัพย์สินของมหาเศรษฐีไทยทั้ง 50 รายชื่อ ลดลงเกือบ 6 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 1.51 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 5.31 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับการจัดอันดับปีที่ผ่านมา
มหาเศรษฐีไทย 3 อันดับแรกยังไม่มีการเปลี่ยนอันดับจากปีที่ผ่านมา มหาเศรษฐีอันดับที่หนึ่งยังคงเป็น "พี่น้องเจียรวนนท์" แม้มูลค่าทรัพย์สินรวมของพวกเขาลดลง 3.7 พันล้านเหรียญ ซึ่งมาจากอัตราแลกเปลี่ยนสหรัฐฯ ส่งผลทำให้มูลค่าทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศจากการจัดอันดับโดย Forbes อยู่ที่ 2.65 หมื่นล้านเหรียญ (9.33 แสนล้านบาท) ความเคลื่อนไหวล่าสุดของกลุ่มบริษัทในเครือซีพี
คือดีลการควบรวม ทรู คอร์ปอเรชั่น กับ DTAC ที่ยังคงรอคอยการอนุมัติจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช.
จากยอดขายของเครื่องดื่มชูกำลัง Red Bull ที่เติบโตจากทั่วโลกทำให้มูลค่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีอันดับสอง เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว เพิ่มขึ้นอีก 1.9 พันล้านเหรียญ มูลค่าทรัพย์สินในการจัดอันดับประจำปีนี้อยู่ที่ 2.64 หมื่นล้านเหรียญ (9.30 แสนล้านบาท) ใกล้เคียงมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งยิ่งนัก ขณะที่มหาเศรษฐีไทยอันดับที่สาม ได้แก่ เจริญ สิริวัฒนภักดี โดยมูลค่าทรัพย์สินของเขาอยู่ที่ 1.12 หมื่นล้านเหรียญ (3.94 แสนล้านบาท)
การจัดอันดับมหาเศรษฐีประจำปี 2565 มีเพียงมหาเศรษฐีไทยเพียง 10 รายที่มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นซึ่งหนึ่งนั้นคือ สารัชถ์ รัตนาวะดี มหาเศรษฐีด้านธุรกิจพลังงาน และจากอานิสงส์ของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้มูลค่าทรัพย์สินของเขาเพิ่มขึ้น 2.2 พันล้านเหรียญ ส่งผลให้เขาติดในรายชื่ออันดับที่ 4 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.1 หมื่นล้านเหรียญ (3.87 แสนล้านบาท) นอกจากธุรกิจพลังงานแล้วเขายังเดินหน้าขยายความร่วมมือทางธุรกิจนำ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ AIS และ Sintel เตรียมจัดตั้งศูนย์ข้อมูลในประเทศ
สำหรับมหาเศรษฐีหน้าใหม่ 3 รายในปีนี้ ได้แก่ อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของกลุ่มเจ มาร์ท ติดในรายชื่อมหาเศรษฐีไทยในอันดับที่ 37 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 835 ล้านเหรียญ (2.94 พันล้านบาท) อันเนื่องจากมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่มูลค่าหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นของ Com7 หนึ่งในผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์จาก Apple รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ส่งให้ สุระ คณิตทวีกุล ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง Com7 ติดในรายชื่อมหาเศรษฐีไทยในอันดับที่ 49 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 670 ล้านเหรียญ (2.36 พันล้านบาท) สำหรับมหาเศรษฐีอีกรายคือ พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี ผู้ร่วมก่อตั้งคลินิกเสริมความงามพงศ์ศักดิ์และยังเป็นนักลงทุนสาย (Value Investor) หรือ VI ติดในอันดับที่ 50 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 655 ล้านเหรียญ (2.3 พันล้านบาท) ซึ่งหนึ่งในพอร์ตหุ้นที่เขาถือครองมีหุ้นของกลุ่ม Com7 อยู่ส่วนหนึ่ง
สำหรับมหาเศรษฐีที่กลับเข้าสู่อันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2565 มีจำนวน 3 รายได้แก่ กัลกุล ดำรงค์ปิยวุฒิ์ ผู้ก่อตั้ง บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งห่างหายจากการเป็นหนึ่งในห้าสิบรายชื่อเป็นเวลา 4 ปี โดยบริษัทด้านพลังงานแห่งนี้ได้เดินทางสู่ธุรกิจใหม่ด้านกัญชา-กัญชง ขณะที่ อีกสองมหาเศรษฐีไทยที่กลับเข้าสู่อันดับได้แก่ บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ DTAC และ พิชญ์ โพธารามิก ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นนอล
การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2665 ในปีนี้ ขีดเส้นมูลค่าทรัพย์สินต่ำสุดของผู้ที่ติดในการจัดอันดับมหาเศรษฐีทั้ง 50 คนที่ 655 ล้านเหรียญ ลงลงจากปีที่ผ่านมาที่ขีดเส้นไว้ที่ 737 ล้านเหรียญ และในการจัดอันดับประจำปีนี้มีมหาเศรษฐีไทยที่หลุดจากอันดับจำนวน 6 รายหนึ่งในนั้นคือ สมหวัง และ ไวยวุฒิ สินเจริญกุล แห่งกลุ่มศรีตรังแอโกรอินดัสทรีฯ ซึ่งหนึ่งกลุ่มบริษัทของพวกเขาที่ผลิตถุงมือยางได้รับผลกระทบเนื่องอันเนื่องจากความต้องการของถุงมือยางลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19