จัสมิน- ทรู คว้าใบอนุญาต 4 จี คลื่น 900 ยอดประมูลสูงลิ่ว
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ธุรกิจ จัสมิน- ทรู คว้าใบอนุญาต 4 จี คลื่น 900 ยอดประมูลสูงลิ่ว
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยเมื่อเวลา 19.00 น.ว่า จากกรณีที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ มาเปิดเผยข้อมูลสถิติการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยอ้างอิงจาก กสทช. ของประเทศอังกฤษ พบว่าตัวเลขที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ของนายฐากรเกิดความผิดพลาดทางเทคนิคในการคิดคำนวณ โดยข้อเท็จจริงแล้วพบว่าประเทศไทยมีราคาสูงเป็นอันดับ 2 รองจากฮ่องกง
ต่อมาเวลา 19.50 น. พ.อ. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ได้ออกบทความระบุเหตุผลที่มีการแย่งชิง 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ประกอบด้วย 1.จากการวิเคราะห์ของสมาคมผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นานาชาติ (GSMA) ได้วิเคราะห์ว่าประเทศไทยมีการใช้งาน 3จี และ 4จี เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากสิงคโปร์ และปัจจุบันนี้ ผู้ให้บริการแต่ละรายขาดแคลนคลื่นความถี่อย่างหนัก ผู้ให้บริการจึงต้องการความถี่เพิ่ม 2.กสทช. ได้วิเคราะห์ว่าในปัจจุบัน ผู้ให้บริการแต่ละค่ายต้องการคลื่นความถี่อย่างน้อย 60 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อเผชิญต่อความต้องการการใช้งานบริการข้อมูล (ดาต้า) อย่างมหาศาลของผู้บริโภคในประเทศ โดยวงการโทรคมนาคมไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี 4จี แอลทีอี ไปเป็น แอลทีอีแอดวานซ์ ภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการใช้งานดาต้า ที่มหาศาล และหากภายใน 5 ปีข้างหน้า กสทช. ไม่มีการจัดสรรคลื่นความถี่ ก็จะเกิดวิกฤติในคุณภาพการให้บริการที่หนักหน่วง จึงทำให้ผู้ให้บริการ ต้องเก็บความถี่ไว้ให้ได้
3.ตามแผนไปสู่ 5จี จะมีแผนในการเปลี่ยนผ่านในการให้บริการเชิงพาณิชย์ในปี 2020 และจะทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีความต้องการคลื่นความถี่ในการให้บริการข้อมูลในระดับความเร็วสูงกว่า 1 กิกะบิทต่อวินาที จึงต้องการความถี่ต่อ 1 ผู้ให้บริการสูงกว่า 70 เมกะเฮิรตซ์ จึงต้องช่วงชิงคลื่นความถี่ให้ได้ในครั้งนี้ และ 4.ผู้ให้บริการบางรายจะหมดสัญญาสัมปทานในคลื่นความถี่ที่สำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงทำให้ หากพลาดโอกาสครั้งนี้ อาจจะทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เพราะภายใน 3-4 ปีนี้ กสทช. ยังไม่มีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อน (โมบายบรอดแบนด์) เนื่องจากคลื่นความถี่ส่วนใหญ่ยังติดอยู่ในสัญญาสัมปทาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม เวลา 09.00น. จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม เวลา 20.00น. ได้ผ่านพ้นการประมูลไปแล้วทั้งสิ้น 195 รอบ โดยมีราคาประมูลรวมทั้ง 2 ใบอนุญาตอยู่ที่ 150,342 ล้านบาท แบ่งเป็น ใบอนุญาตที่ 1 ราคา 74,688 ล้านบาท และใบอนุญาตที่ 2 ราคา 75,654 ล้านบาท
ต่อ มาเวลา 00.15 วันที่ 19 ธันวาคม ได้สิ้นสุดลง ซึ่งเป็นการประมูลในรอบ 199 แต่ไม่มีผู้เสนอราคาเพิ่ม ทั้ง 2 ใบ โดยจบที่ราคาประมูลรวมทั้ง 2 ใบอนุญาตอยู่ที่ 151,952 ล้านบาท แบ่งเป็น ใบอนุญาตที่ 1 ราคา 75,654 ล้าน บาท และใบอนุญาตที่ 2 ราคา 76,298 ล้านบาท.
หลังการประมูลสิ้นสุดลง พันเอก เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เปิดเผยว่าใบอนุญาต ใบแรกเป็นของ บริษัท จัสมิน ฯ หรือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ เป็น ผู้เสนอราคาสูงสุดในการประมูลคลื่นใบอนุญาตแรก ในราคา 75,654 ล้านบาท ขณะที่ ใบอนุญาตใบที่ 2 เป็นของบริษัททรูฯ หรือ บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล เป็นผู้เสนอราคาสูงสุด ในราคา 76,298 ล้านบาท
ขณะที่ทางด้านของผู้แพ้ในการประมูล ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เสนอราคาสุดท้ายในใบอนุญาตที่ 2 ที่ราคา 75,976 ล้านบาท และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เสนอราคาสุดท้ายในใบอนุญาตที่ 1 ที่ราคา 71,080 ล้านบาท
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากนี้ว่า คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. จะมีการประชุมกันในวันจันทร์หรือวันอังคารที่จะถึงนี้ เพื่อรับรองผลการประมูล โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินประมูลงวดแรกพร้อมแบงก์การรันตี และรับใบอนุญาตภายใน 90 วัน หลังจาก กทค.รับรองผล โดยหลังจากมีผู้ชนะการประมูล มารับใบอนุญาต การให้บริการ 2G บนคลื่นความถี่ 900 เดิมจะยุติลง หรือ "ซิมดับ"
ด้านนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ผลการประมูลที่เกิดขึ้น ถือว่าพลิกความคาดหมาย เนื่องจากผู้เล่นอันดับที่ 1 และ 2 ในตลาดโทรคมนาคม ต่างก็ไม่ชนะการประมูล ซึ่งหลังจากนี้คงต้องจับตาดูความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในตลาด ว่าผู้เล่นรายใหม่จะมีกลยุทธ์อะไรบ้าง และผู้เล่นรายเก่าทั้งเอไอเอส และดีแทค จะปรับตัวอย่างไร อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าคงไม่มีผู้เล่นรายใดออกจากตลาด เพราะแม้ผู้เล่นที่แพ้ไปด้วยการเคาะราคาประมูลต่ำสุดคือดีแทค ยังเคาะราคาสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท สะท้อนว่ามีความต้องการที่จะอยู่ในตลาดเมืองไทยต่อไป ซึ่งก็ยังมีโอกาสจากการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในอีก 3 ปีข้างหน้า