กลับลำ "เจ้ากรมธนารักษ์" เผยเหรียญสิบปี 33 มีแค่ 100 เหรียญจริงหลังตรวจสอบอย่างละเอียด พลิกจากช่วงเช้าสิ้นเชิง แถมระบุในประเทศไทยหาสุดยากเหตุแจกต่างชาติในงานเกือบหมด
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. กลายเป็นกระแสทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ไปแล้ว สำหรับเรื่องเหรียญ 10 บาท ที่ไม่ได้มีมูลค่าแค่ตามจำนวนดังกล่าว
หลังหนุ่มเจ้าของร้านปาหนันจิวเวลรี่ ประกาศผ่านเฟซบุ๊กขอรับซื้อเหรียญ 10 บาท ที่ผลิตเมื่อปี พ.ศ.2533 ด้วยมูลค่า 1 แสนบาทต่อหนึ่งเหรียญ เนื่องจากระบุว่าเหรียญสิบปีนั้นมีผลิตแค่ 100 เหรียญเท่านั้น ทำให้ประชาชนทั่วหองระแหงต่างต้องรีบงัดเหรียญ 10 บาท ที่พกติดตัวอยู่มาตรวจดูว่าเป็นปีอะไร เพื่อหวังจะได้เป็นลาภลอยมีมูลค่ามหาศาล สร้างกระแสข่าวครึกโครมเป็นอย่างมาก
กระทั่ง นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์กลบกระแสไฟลุกโชน ว่า
กรมธนารักษ์ได้ตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วว่า ปี พ.ค.2533 ไม่ได้มีเหรียญ 10 บาท แค่จำนวน 100 เหรียญเท่านั้น เนื่องจากเมื่อปี 2533 ได้ซื้อเหรียญ 10 บาทสำเร็จรูปมาจาก บริษัทโอลินบราส ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวนถึง 50 ล้านเหรียญเลยทีเดียว จึงเป็นแค่ข่าวลือ นอกจากนั้น นายวีระวุฒิ ศรีเปารยะ รองอธิบดีด้านเหรียญกษาปณ์ ยังตอกย้ำเพิ่มเติมอีกว่า การผลิตเหรียญแต่ละครั้ง เฉลี่ยต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าจะมีแค่ 100 เหรียญ คงเป็นเรื่องยาก
ช่วงเย็นวันเดียวกัน นายนริศ ได้ออกมาเปิดเผยกรณีดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งต่างจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก
โดยกล่าวว่า การผลิตเหรียญกษาปณ์จำนวน 100 เหรียญนั้น มีความเป็นไปได้ หากจำนวนสั่งผลิตในแต่ละรอบมีการผลิตไว้ปริมาณมากๆในปีก่อนหน้า และจำเป็นจะต้องผลิตให้เต็มจำนวนในปีถัดไป โดยบางกรณีอาจเป็นการชดเชยการผลิตเหรียญราคาอื่นได้ ซึ่งขณะนี้ กรมธนารักษ์ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ เพราะเจ้าหน้าที่ดูแลสายงานผลิตเหรียญกษาปณ์ติดราชการอยู่ต่างประเทศ สัปดาห์หน้าถึงจะรู้ชัด
"แต่เบื้องต้นพบว่า ได้มีการหาแหล่งจัดซื้อจัดหาเหรียญตัวเปล่าและเหรียญสำเร็จรูปชนิดราคา 10 บาท ในปี 2532 เป็นจำนวน 100 ล้านเหรียญ และปี 2533 จำนวน 20 ล้านเหรียญจริง เพียงแต่ยังยืนยันไม่ได้ว่าการผลิตเหรียญจำนวนนั้น มีการตีตราผลิตไว้ว่าเป็นปีใด อาจไม่ได้ตีตราปี 2533 ไว้ทั้งหมด ดังนั้นข้อสันนิษฐานเหรียญ 10 บาท ปี 2533 มีแค่ 100 เหรียญนั้นก็มีความเป็นไปได้ เพราะบางครั้งการผลิตเหรียญอาจใช้วิธีผลิตให้เต็มจำนวน ยกตัวอย่าง ปีนั้นต้องผลิตเหรียญ 1 ล้านเหรียญ ในส่วนของเหรียญบาท, เหรียญ 50 สตางค์, เหรียญ 25 สตางค์, แต่ปรากฎว่าการผลิตขาดไป 100 เหรียญ ดังนั้นก็เลยผลิตเหรียญ 10 บาท เพิ่มเติมเข้าไปให้เต็ม" อธิบดีกรมธนารักษ์ เผย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารการผลิตเหรียญกษาปณ์ย้อนหลังของกรมธนารักษ์ พบว่ายังมีการลงข้อมูลที่ไม่ตรงกันอยู่
โดยรายงานแผนการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนพระบรมรูปรัชกาลที่ 9 รูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม มีการลงข้อมูลการผลิตเหรียญ10 บาท เพื่อใช้หมุนเวียนในปี 2533 ที่จำนวน 100เหรียญจริง ตามที่เป็นกระแสข่าวอยู่ในสังคมโซเชียล ส่วนในปี2532 มียอดผลิต 100 ล้านเหรียญ แต่ขณะเดียวกัน รายงานประจำปี 2533 ของกรมธนารักษ์ กลับระบุข้อมูลการผลิตเหรียญกษาปณ์ทั้งหมดในปี 2533 ว่าเหรียญชนิดราคา 10 บาท มีจำนวนผลิตถึง 100 ล้านเหรียญ ทำให้ยังเป็๋นที่สับสนว่าข้อมูลใดถูกต้องกันแน่ ซึ่งกรมธนารักษ์ก็ยังไม่สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงในรายละเอียดได้ และขอเวลาตรวจสอบอีกครั้ง
ล่าสุดช่วงค่ำ นายนริศ ได้ตอกย้ำความชัดเจนอีกครั้งว่า หลังตรวจสอบข้อมูลเหรียญอย่างละเอียดด้วยการถามอดีตรองอธิบดีฝ่ายเหรียญในสมัยนั้น
ทำให้ยืนยันได้ว่า การผลิตเหรียญ 10 บาท ปี 2533 มีแค่ที่ 100 เหรียญจริงๆ เป็นการนำไปแจกให้ผู้ร่วมงานเหรียญกษาปณ์ในประเทศอังกฤษ โดยการแจกดังกล่าวเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าไทยผลิตเหรียญ 10 บาทแล้ว เพราะสมัยนั้นยังไทยยังใช้ธนบัตร 10 บาทอยู่
"คิดว่าเหรียญ 10 บาทปี 2533 คงหายากในไทย เพราะนำไปแจกในเวลานั้นเกือบหมด ส่วนใหญ่น่าจะไปอยู่ในมือนักสะสมในต่างประเทศ และก็ยังไม่แน่ใจว่าในกรมจะยังมีเหลือหรือไม่ โดยการนำเข้าเหรียญดังกล่าวในช่วงปี 2532-2533 เพื่อเตรียมพร้อมว่าไทยจะเลิกใช้แบงก์ 10 ครับ"