ดัชนีอุตฯร่วงตำสุดรอบ 5 ปี
ภาคอุตสาหกรรมน่าเป็นห่วง ดัชนีความเชื่อมั่นรูดลงต่ำสุดในรอบบ 55 เดือน
คำสั่งซื้อ ยอดผลิต ยอดขาย วูบหนัก ปัจจัยลบหลักจากการเมืองไม่สงบ ลูกค้าชะลอใช้เงิน กลุ่มส่งออกผวา ลูกค้าหนีซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ แย่เหมือนกัน ยอดขายหายไป 6 หมื่นคัน หลังลูกค้ากลุ่มเกษตรกร กระเป๋าฉีก เพราะไม่ได้เงินโครงการจำนำข้าว แถมอาจเจอวิกฤติภัยแล้วเข้าซ้ำเติมอีก
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนมกราคม 2557 ว่า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 86.9 จากระดับ 88.3 ในเดือนธันวาคม 2556 ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 และต่ำสุดในรอบ 55 เดือนนับตั้งเดือนมิถุนายน 2552 ที่มีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งสะท้อนว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี โดยค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ
ทั้งนี้ค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลงจาก สาเหตุจากความกังวลของผู้ประกอบการที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จากการชุมนุมปิดย่านธุรกิจ และหน่วยราชการหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร และการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาคลี่คลายได้ จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการปรับแผนการดำเนินกิจการ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
“สถานการณ์ที่ยืดเยื้อย่อมส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวลดลงกระทบต่อสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี รวมทั้งผู้ประกอบการส่งออกเริ่มกังวลว่าผู้นำเข้าสินค้าไทยจะหันไปนำเข้าจากผู้ผลิตในประเทศอื่นแทนจึงเรียกร้องให้มีการเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศโดยเร็ว”
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.0 ลดลงจากระดับ 100.9 ในเดือนธันวาคม2556 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการในเดือนมกราคม 2557 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากในเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมกราคม 2557 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคกลาง ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม 2556
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลงจากในเดือนธันวาคม 2556
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2557 ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และสภาวะเศรษฐกิจโลก ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมกราคมนี้ คือ ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้ยุติโดยเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน อีกทั้งขอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องสร้างความมั่นใจกับประเทศผู้นำเข้าสินค้าไทยว่าผู้ส่งออกไทยสามารถผลิตและส่งมอบสินค้าได้ทันตามกำหนดเวลา รวมถึงให้สถาบันการเงินของรัฐสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้าผู้ผลิตพบผู้บริโภคมากขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย
ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เดือนม.ค.57 การจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ภายในประเทศลดลงต่ำสุดรอบ 25 เดือนเนื่องจากไม่มีการส่งมอบรถคันแรกแล้ว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ความยืดเยื้อของความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงกรณีเกษตรกรไม่ได้รับเงินจำนำข้าวทำให้ยอดขายรถที่เกี่ยวข้องทั้งรถกระบะ และรถจักรยานยนต์ลดลงตามด้วย
ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์เดือน ม.ค.มีทั้งสิ้น 68,508 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน 45.5% รถกระบะขนาด 1 ตันเดือนม.ค. 57 มียอดการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 37,506 คัน ลด
ลงจากเดือนม.ค. 56 จำนวน 40.32 % ขณะที่รถจักรยานยนต์มียอดขายในประเทศเดือนนี้ 125,603 คันลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 30.31% และลดลงจากเดือนธ.ค.56 จำนวน 0.91%
“ยอดขายรถภาพรวมลดลงโดยรถกระบะ และรถจักรยานยนต์ยอมรับเป็นผลกระทบส่วนหนึ่งจากโครงการจำนำข้าวที่เกษตรกรยังไม่ได้รับเงินทำให้ยอดจำหน่ายชะลอตัว นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องภัยแล้งที่จะต้องติดตามอีกเพราะอาจกระทบต่อแรงซื้อของเกษตรกรในอนาคตได้ อย่างไรก็ตามแม้กำลังซื้อโดยรวมจะต่ำแต่จากการสอบถามสถาบันการเงินหรือไฟแนนซ์พบว่ามีปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ไม่ถึงขั้นผิดปกติใดๆ ซึงก็ติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ลดลงต่อเนื่องเพราะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรง”นายสุรพงษ์กล่าว
สำหรับโครงการรถยนต์คันแรกขณะนี้ทางกรมสรรพสามิตแจ้งตัวเลขยอดขายรถที่ยังไม่มีการมารับประมาณ 1.2 แสนคันซึ่งขณะนี้ทางกรมฯได้ให้เวลาผู้ที่จองไว้ยืนยันอีกครั้งภายใน 2-3 เดือนเพื่อที่จะปิดโครงการ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นน่าจะมีผู้ทิ้งใบจองชัดเจนแล้ว 1 แสนคันส่วนที่เหลือ 1-2 หมื่นคันทยอยที่จะติดต่อกับลูกค้าที่จองให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งเท่านั้น
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การผลิตรถยนต์เดือนมกราคมมีทั้งสิ้น 162,652 คัน ลดลงจากเดือนมกราคมของปีที่แล้ว 31.09% และเป็นการผลิตที่ลดลงต่ำสุดรอบ 20 เดือน ซึ่งสาเหตุการผลิตที่เริ่มชะลอตัวเพราะปีนี้ไม่ต้องเร่งผลิตรถยนต์เพื่อส่งมอบรถยนต์คันแรกแล้ว ส่วนการส่งออกรถยนต์มีทั้งสิ้น 81,025 คันลดลง 6.93% โดยมีมูลค่าส่งออก 37,411.07 ล้านบาทลดลงจากม.ค.56จำนวน 5.51% อย่างไรก็ตามเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2557 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.4 ล้านคันโดยส่งออก 1.2 ล้านคนและจำหน่ายในประเทศ 1.2 ล้านคัน โดยเป้าหมายดังกล่าวอาจจะต้องมาทบทวนอีกครั้งโดยต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด