สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ส่งจม.เปิดผนึกถึง มาร์ค กระทุ้งปมร้อนแก้รธน. เขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า

จดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี
จาก สมศักดิ์   ปริศนานันทกุล  ๑๑๓๑/๔๕-๔๗  อาคารชุดเคหสถานกรุงเทพ ฯ  เขตดุสิต กรุงเทพฯ


    วันที่  ๒๗  มกราคม  ๒๕๕๓

เรื่อง  การแก้ไขรัฐธรรมนูญ/เขียนด้วยมือแล้วอย่าลบด้วยเท้า

กราบเรียน  นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ)


ตามที่ปรากฎเป็นข่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  โดยพรรคร่วมรัฐบาลตกลงจะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญใน  ๒ มาตรา คือ มาตรา ๑๙๐ เรื่องหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและ มาตรา ๙๔ เรื่องการเลือกตั้ง  และทางพรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติเมื่อวานนี้(๒๖ มกราคม ๒๕๕๓) ว่าจะไม่เข้าร่วมในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นั้น เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจของสาธารณชนและกระผมเห็นว่ามีบางเรื่องบางประเด็นต้องกราบเรียนชี้แจงให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์ทราบ ดังนี้

 กระผมตระหนักดีว่า กระผมได้กลายเป็นสิ่งชำรุดเพราะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง  ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองและไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง  ซึ่งการให้ความเห็นของผมครั้งนี้จึงไม่มีส่วนได้เสียทั้งสิ้นแต่ประการใด


๑. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี คงจำได้ถึงการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนกลาง  ก่อนการจัดตั้งรัฐบาล(ที่หลายคนเรียกว่าเป็นรัฐบาลโดยการผลักดันของคนบางกลุ่ม)  เราได้พูดถึงข้อจำกัดของการทำงานเพื่อบ้านเมืองโดยหนึ่งในนั้นที่พวกเราเห็นตรงกันคือข้อจำกัดในเรื่องรัฐธรรมนูญ  ซึ่งอาจจะทำให้การทำงานบางอย่างไม่ราบรื่นนัก  หลังจากนั้นฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เดินสายไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อขอความเห็นชอบและตกลงร่วมกันในการที่จะทำงานเพื่อประชาชน  ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมอยู่ด้วย

๒. ต่อมาไม่นาน พรรคฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดได้มีโอกาสพบพูดคุยกันที่บ้านคุณนิพนธ์  พร้อมพันธ์  ได้หารือกันถึงสถาณการณ์ของบ้านเมืองและตกลงร่วมกันว่าจะดำเนินการในวิธีต่าง ๆ เพื่อให้สังคมเกิดสันติสุขและคืนสู่ความเป็นปกติโดยเร็ว  มาตรการต่าง ๆ ได้ถูกยกมาพูดคุย รวมทั้งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ซึ่งฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ก็เห็นด้วยจนถึงขั้นให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคสรุปประเด็นที่ต้องการจะแก้ไขเสนอมาภายใน  ๑ สัปดาห์


๓. หลังจากนั้นฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้เวทีรัฐสภาเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายเพื่อหาแนวทางสร้างความสมานฉันท์สามัคคีร่วมกัน  ซึ่งที่ประชุมในวันนั้นมีความเห็นที่จะตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้น  โดยมีท่านดิเรก  ถึงฝั่งเป็นประธานฯ สมาชิกรัฐสภา นักวิชาการ นักกฎหมายรวมทั้งผู้แทนจากหลายฝ่าย ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์ได้แยกการทำงานเป็นเรื่องการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ  จนนำมาซึ่งข้อสรุปร่วมกัน  ๖ ประเด็นตามที่ทราบกันดี


๔. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลได้มีโอกาสหารือกันอีกครั้งที่บ้านพิษณุโลก เห็นว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญทั้ง  ๖ ประเด็นดังกล่าวน่าจะได้สอบถามไปยังประชาชนผ่านกระบวนการประชามติ  ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจาณุเบกษา    

๕. การพบปะหารือของพรรคร่วมรัฐบาล  ๖ พรรคยังคงมีอยู่เป็นระยะ  และทุกครั้งก็จะมีการสอบถามความคืบหน้า  แต่ทั้งหมดตกอยู่ในภาวะสุญญากาศ  พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง ๕ พรรคเข้าใจดีว่าควรรอ พรบ.ประชามติให้มีผลเสียก่อน 

การพบกันของ  ๖ พรรคร่วมเมื่อวันที่  ๒๕  ธันวาคม  ๒๕๕๒ ซึ่งท่านสุเทพ  เทือกสุบรรณเป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์  ที่ประชุมมีความเห็นว่าน่าจะนำ ประเด็นการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์บางประเด็นมาพิจารณาได้ก่อน โดยไม่ต้องรอการลงประชามติ  คือการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา  ๑๙๐ และ ๙๔  โดยคำนึงถึงความพอดี ไม่เกินเลย ยึดผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  จะไม่ยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยเด็ดขาด  ประการสำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นจุดเริ่มของความแตกแยกครั้งใหม่ หรือขยายรอยร้าวให้เพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก  ซึ่งท่านสุเทพ รับปากจะนำไปหารือในพรรคอีกครั้งแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ  พวกเราเข้าใจดีว่าการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ต้องรอมติของพรรค  


พรรคร่วมทั้ง  ๕ พรรคตระหนักดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร  ในขณะที่ระยะเวลาของสภาฯ เหลืออีกปีเศษใกล้หมดวาระ  หากปล่อยเวลาทอดยาวออกไปคงไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้   ในระยะแรกทั้ง  ๕ พรรคจะรวบรวมรายชื่อสมาชิกซึ่งมีมากพอ เพื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาไปก่อน โดยจะไม่รอมติของพรรคประชาธิปัตย์

๖. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้หลายครั้งว่าพร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่ พร้อมที่จะยุบสภาฯ  ถ้าหากปัญหาเศรษฐกิจสามารถแก้ไขได้ลุล่วง  กติกาหรือรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย  ทุกฝ่ายสามารถหาเสียงได้ในทุกพื้นที่  แต่ ณ ขณะนี้ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทำเหมือนกับไม่พยายามเดินไปถึงจุดนั้น  พรรคประชาธิปัตย์ทำตัวไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองพูด  แทนที่จะช่วยกันผลักดัน  กลับกลายเป็นอุปสรรคที่สร้างปัญหาให้เสียเอง  วันเวลาและวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลจึงเหลืออยู่น้อยเหลือเกินหากจะทำให้ได้ตามที่ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเคยปรารภไว้  และวาระที่เหลืออยู่น้อยนี่เองจึงเป็นเสมือนหนึ่งสัญญาณบอกให้รัฐบาลรู้ว่าเรากำลังเริ่มต้นนับถอยหลัง

๗. การที่คนของพรรคประชาธิปัตย์พูดว่าการยื่นญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการยื่นเพื่อประโยชน์ของ ฯพณฯ บรรหาร  คุณเนวิน หรือใครบางคน  ถือเป็นคำพูดที่หมิ่นน้ำใจและดูถูกดูแคลนกันเกินไป ถามว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน  ๒ มาตรานี้ประสบความสำเร็จ  ฯพณฯ บรรหาร คุณเนวินหรือใครบางคนจะได้อะไรขึ้นมาบ้าง  ประการสำคัญยังเท่ากับดูแคลนคณะกรรมการสมานฉันท์ทั้งคณะไปพร้อมกัน  เพราะประเด็นที่จะขอแก้ไข  ๒ ประเด็นจาก  ๖ ประเด็นนั้น ล้วนมาจากข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของสังคม  การกระทำเช่นนี้จึงยากที่กระผมจะยอมรับได้ 

๘. จริงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาฯ  เป็นเรื่องของพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล  แต่เมื่อจุดเริ่มต้นเราเคยเห็นตรงกัน เราเคยคิดเหมือนกัน  จึงต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้เราคิดต่างกัน

กระผมเคารพในการตัดสินใจของพรรคการเมือง  เคารพในการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์  เพียงแต่อย่าเห็นในสิ่งที่คนอื่นทำเลวทั้งหมด ใช้ไม่ได้ทั้งหมด  แต่ถ้าเป็นตัวเองทำแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน กลับใช้ได้ทั้งหมด ทำดีทั้งหมด

เราเป็นนักการเมือง  เราเป็นคนอาสาประชาชนเพื่อมาทำงานการเมือง  หวังจะเปลี่ยนแปลงการเมืองให้ดีขึ้น  แต่ทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเรา “เขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า” เช่นวันนี้


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์