สมคิดชี้ปมการเมืองทำไทยเสี่ยงสูญเสียความน่าเชื่อถือสังคมโลก ติงรบ.คุมหางไม่ได้ขาดพลังขับเคลื่อนปท.


สมคิดเผยปัญหาการเมือง ทำไทยสุ่มเสี่ยงสูญเสียความน่าเชื่อถือสังคมโลก การเมืองนอกระบบก่อตัวมากขึ้น นานวันยิ่งแตกแยก ติงรัฐบาล ไม่สามารถคุมหาง ทำขาดพลังขับเคลื่อนประเทศ

เมื่อวันที่ 7 พฤศิกายน ในงาน Thailand Lecture ซึ่งจัดจัดโดย สมาคมศิษย์เก่าคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับ NIDA Business ที่พัทยา จ.ชลบุรี มีนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ประเทศไทย ณ จุดเสี่ยง"


โดยนายสุรเกียรติกล่าวว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงหลายเรื่อง โดยเรื่องแรกคือ เรื่องความเสี่ยงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ความสัมพันธ์กับประเทศพม่าเกี่ยวกับข้อเรียกร้องในฐานะประธานอาเซียน ส่วนกับประเทศลาวแม้จะยังดีอยู่แต่ความสัมพันธ์ในปัจจุบันไม่อบอุ่นเหมือนอดีต ทั้งที่ไทยยังมีเรื่องที่ต้องร่วมมือกับพม่าและลาว ทั้งปัญหาเรื่องยาเสพติด แรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ความเสี่ยงในสถานการณ์ชายแดนใต้ที่มีความรุนแรง และความถี่ที่จะแก้ไขได้ยากขึ้น หากแก้ไขไม่ได้อาจมีหน่วยงานต่างชาติเข้ามาแทรกแซง ประเทศไทยกำลังเสียภาพพจน์ที่เคยมีมากว่า 100 ปี ที่สามารถเข้ากับทุกคนได้ หากเสียภาพพจน์เหล่านั้นอาจนำไปสู่การเสียบทบาทในการเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์เวทีระหว่างประเทศได้


"ไทยยังมีความเสี่ยงที่จะแตกแยกสูง ครอบครัวทะเลาะกันเพราะเสื้อคนละสี คนไทยทะเลาเบาะแว้งต่างเอาชนะกัน อภัยกันน้อยลง เป็นความเสี่ยงที่สังคมไทยกำลังเดินไปสู่สังคมที่มีความรุนแรง"


ด้านนายสมคิดกล่าวว่า ไทยมีความสุ่มเสี่ยงสูงต่อการที่จะสูญเสียความน่าเชื่อถือในสังคมโลก จากปัญหาการเมือง ขณะที่การเมืองนอกระบบค่อยๆ ก่อตัวใหญ่ขึ้น กวาดต้อนผู้คนเข้ามามากขึ้น ยิ่งนานวันยิ่งแตกแยก การเมืองนอกระบบพร้อมเสมอที่ชุมนุม ไม่สามารถรับประกันได้ว่าในอนาคตจะไม่รุนแรง ขณะเดียวกันการเมืองในระบบค่อยๆ เล็กลง และอ่อนแอมากขึ้น เพราะเป็นรัฐบาลผสม ไม่มีใครมีอำนาจต่อรองที่เด็ดขาดสมบูรณ์ แต่เพื่อให้อยู่รอดทำให้อำนาจสั่งการไม่สามารถรวมศูนย์ หัวไม่สามารถคุมหาง หางจะกระดิกไปทางไหนก็คุมไม่ได้ ทำให้ประเทศไม่มีทิศทางชัดเจน ไม่สามารถขับเคลื่อนพลังที่สำคัญ แต่พลังกลับถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองรายวันเพื่อให้อยู่รอด ทำให้ภาครัฐไม่เข้มแข็ง


"ทุกวันนี้เกิดคำถามว่า รัฐบาลจะอยู่ได้นานเพียงใด ไม่ใช่ว่ารัฐบาลอยู่เพื่อจะทำอะไร ทำให้ใครไม่พอใจอะไรก็ประท้วง เมื่อไม่ได้ตามต้องการก็อิงการเมืองนอกระบบ มาสร้างแรงกดดัน"


นายสมคิดกล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ทำให้การขับเคลื่อนประเทศขาดพลัง รัฐบาลจะต้องรีบแก้ไข เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว หากไทยยังเป็นเช่นนี้จะอันตรายยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการคือ เรียกศรัทธากลับมาให้ได้ ซึ่งศรัทธาที่สำคัญอยู่ที่บุคลากร ต้องหาบุคคลการที่ตั้งใจ เหมาะสมกับงาน ไม่ใช่เป็นเพียงตัวแทนของใคร ต้องกล้าหาญในการปรับบุคลากร โดยไม่ต้องคำนึงว่า ปรับแล้วอยู่ไม่ได้ และไม่จำเป็นว่าต้องมาจากการเมือง สามารถนำคนข้างนอกที่คนศรัทธามา เพื่อให้เกิดความเชื่อถือศรัทธาและอุ่นใจ น่าจะช่วยรัฐบาลได้เวลาหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะเหมือนเรือไม่มีทิศทาง


นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากนี้ไทยกำลังสูญเสียความเป็นผู้นำอาเซียน รวมถึงความสัมพันธ์กับประเทศยักษ์ใหญ่กำลังมีปัญหา ขณะนี้การเมืองภูมิภาคเริ่มเปลี่ยน จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นทำให้หลายประเทศอ่อนลง แต่หลายประเทศแข็งขึ้น จะเห็นจากจีนที่ผงาดขึ้น และกำลังผนึกกับเกาหลี ญี่ปุ่น และอินเดีย สิ่งสำคัญคือจะทำให้ไทยมีความหมายสำหรับเขา ไทยจะมีบทบาทอย่างไรในอาเซียนในเวทีโลก ต้องเดินสายกระชับมิตร ให้มีสิทธิเสียงในเวทีโลก ข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่ทำกับประเทศต่างๆ ทั้งอินเดีย จีน ต้องเดินหน้าให้มีผลปฏิบัติ


นายสมคิดกล่าวว่า นอกจากนี้ ไทยยังมีสุ่มเสี่ยงต่อการเสื่อมถอยของเศรษฐกิจ จากที่คาดว่าปีหน้าโลกจะฟื้นตัว เป็นการมองแค่สั้นๆ ไม่ยาวและลึกพอ ปัญหาที่ต่อเนื่องมา 3 ปี ทำให้การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแทบหยุดนิ่ง ขณะที่หลายประเทศเดินหน้าลงทุนไปไกล ดังนั้น รัฐบาลต้องเริ่มขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน หน่วยงานสำคัญทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องวางยุทธศาสตร์ให้มีทิศทางที่ชัดเจน


"3 สถาบันหลักของเศรษฐกิจทั้ง ธปท.คลัง และ สศช.ต้องกรองโครงการให้ดี เพราะ 6 ปีที่พวกผมบริหารหนี้จาก 60% ของจีดีพี เหลือ 30% ทำให้มีโอกาสกู้เงิน 8 แสนล้านบาท แต่ต้องคำนึงถึงการจ่ายคืนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าด้วย"นายสมคิดกล่าว และว่า ไทยยังเสี่ยงต่อการที่จะก้าวไปสู่การเมืองในประเทศล้มเหลว ถ้าไม่รีบแก้ไขปัญหาให้เกิดความสามัคคี ขณะนี้ทุกคนเริ่มปกป้องตัวเอง ทำอย่างไรให้อยู่รอด ทำอย่างไรไม่ให้ติดคุก แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรที่จะให้ประเทศก้าวจากการพ้นทุกข์ ต้องคิดอย่างมียุทธศาสตร์ เพราะพวกผม 111 คน (อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี) อยู่ข้างนอก ต้องฝากคนในการเมืองช่วยการดูแล โดยเฉพาะ 3 สถาบันหลักทางเศรษฐกิจ เพราะการเมืองมาแล้วก็ไป แต่ราชการจะต้องเป็นเสาหลักให้กับเศรษฐกิจ


วันเดียวกัน นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ" จัดโดยสมาคมศิษย์เก่าคณะบริการธุรกิจ สถาบันพัฒนาบริหารศาสตร์หรือนิด้าว่า ภาพรวมการส่งออกปีหน้าจะกลับมาเป็นบวกได้ แต่การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ดังนั้น ยังต้องพึ่งพิงการลงทุนภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป


นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยระยะแรกเป็นการกระตุ้นการบริโภค และในแผนระยะที่ 2 คือ การวางฐานรากเศรษฐกิจในระยะยาว ดังนั้น การใช้เงินจำนวนมากย่อมทำให้ฐานะการคลังมีความเสี่ยงและมีความกังวลว่าจะเกิดความอ่อนแอจนไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ แต่รัฐเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ว่าการสร้างหนี้อาจทำให้เกิดปัญหาการคลังในระยะกลางและระยะยาว


ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ระยะต่อไปจะต้องบริหารสัดส่วนของหนี้สาธารณะให้มีความสมดุล คาดว่าการใช้จ่ายในงบประมาณระยะที่ 2 จะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีไม่เกิน 58% หากมีการควบคุมและบริหารรายจ่ายให้ไม่เกิน 5% จะช่วยให้งบประมาณการคลังมีความสมดุลได้ในปี 2558 แต่หากรายจ่ายมีมากกว่านั้นความสมดุลของการคลังจะล่าช้าออกไปอีก คาดว่าการจัดเก็บรายได้ปี 2553 ประมาณ 1.53 แสนล้าบาท เพิ่มขึ้น 7.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการปรับเพิ่มภาษีน้ำมันเมื่อกลางปี 2551 ประกอบกับมีการฟื้นตัวของการบริโภค การลงทุนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้การจัดเก็บภาษีดีขึ้น


นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มีเรื่องท้าทายทางการเงิน 2 เรื่อง ระยะสั้นคือ การฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งภาพฟื้นตัวสอดคล้องกับต่างประเทศ แต่ต้องตระหนักว่าเป็นเพียงการฟื้นตัวทางเทคนิค ที่มาจากภาครัฐในการประคับประคองเศรษฐกิจ ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินจะต้องเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ โดยต้องทำในเชิงที่ผ่อนคลายคือ ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ สภาพคล่องเพียงพอ อัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่เป็นอุปสรรค ล่าสุดมีเงินไหลเข้ามามาก ทำให้ธปท.ต้องดูแลไม่ให้ผันผวน


นายบัณฑิตกล่าวว่า สิ่งที่ยากกว่าคือ ระยะยาวที่จะดูแลไม่ให้เศรษฐกิจไทยตกขอบ ตกรถไฟ  ไม่เช่นนั้นไทยจะทรุดต่ำลงในบันไดการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลก สิ่งสำคัญคือ ไทยจะวางตัวเองอย่างไรในเวทีเศรษฐกิจโลก เพราะหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปมีการผ่องถ่ายเศรษฐกิจจากประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 3 แห่ง (จี 3) มาตลาดเกิดใหม่มากขึ้น เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกด้วยกลุ่มประเทศ 20 หรือ จี 20 การเติบโตของเศรษฐกิจโลก จากเดิมมาจากสหรัฐอเมริกาและกลุ่มอียู จะต้องเปลี่ยนแปลงจากประเทศที่มีการบริโภคที่เกินตัวจะหันมาออมมากขึ้น ที่ชัดเจนคือเอเชียที่เห็นการเติบโต การค้าระหว่างประเทศและการลงทุนระหว่างกัน ถือเป็นบริบทใหม่ในการผลักดันเศรษฐกิจโลก ไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมว่าจะเตรียมตัวอย่างไรให้ไทยอยู่ในขบวน


"ขณะที่เศรษฐกิจโลกใหม่ที่เปลี่ยนไปจะเป็นโอกาสกับเอกชน ทำอย่างไรจะฉกฉวยได้ ระบบสถาบันการเงินต้องพร้อม รวมถึงบริหารจัดการความเสี่ยง เพราะตลาดใหญ่สุดจะเป็นเอเชีย เงินออมที่เอเชียมีแล้วไปลงทุนในยุโรป จะหันกลับมาในเอเชีย ทั้งพันธบัตร ลงทุนตรง และหุ้น เราต้องพร้อมรองรับ ต้องพัฒนาตลาดเงินทุน เปิดกว้างไหลเข้าออก ให้คนไทยนำเงินออกนอกประเทศมากขึ้น เชื่อมต่อภาคการเงินระหว่างเอเชีย"


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์