เลิศรัตน์มั่นใจเทพเทือกไม่รอดถือหุ้นทรู

วันนี้ (19 มิ.ย.) พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในสมาชิกวุฒิสภา ที่รอดจากคำตัดสินของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เพราะถือหุ้นกู้ ซึ่งลักษณะคล้ายกับพันธบัตร ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริหาร ซึ่งอนุกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญมองเห็นปัญหานี้แล้ว แต่ไม่ขอแตะต้องทุกเรื่องที่กระทบต่อการดำเนินคดี เพราะเกรงจะมีข้อครหา จึงนำเสนอประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยเฉพาะหน้าเพียงแค่ 6 ประเด็นเท่านั้น หากจะแก้ไขในเรื่องอื่นนอกเหนือจากที่เสนอก็ต้องการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมคิดด้วย

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญปี  2550 เขียนตกคำว่า 'หุ้นสามัญ' ไป รวมถึงไม่ได้ระบุจำนวนหุ้นที่ถือด้วย เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญด้วยความรู้สึก

แต่ไม่มีความรู้ในเรื่องของการลงทุน จึงทำให้กระทบต่อตลาดหุ้นไทยพอสมควร เนื่องจากมีคนจำนวนมากที่ถือหุ้นในลักษณะที่ 16 ส.ว.ถืออยู่ ซึ่งตนถือว่ากระทบต่อการลงทุนมาก และทำให้ประเทศต้องเสียเงิน เพื่อเลือกตั้งซ่อมไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท จากผลพวงของมาตรานี้

เมื่อถามว่าได้คุยกับ ส.ว.ที่ถูกผลกระทบในเรื่องนี้บ้างหรือยัง พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ทุกคนพร้อมรับสภาพ และต้องไปต่อสู้ในชั้นศาล

หากแพ้ก็ต้องไปว่ากันใหม่ตามกติกา แต่ผลเสียคือในจำนวน 16 ส.ว.ที่ถูกคำตัดสิน 8 คนเป็น ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหากมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ว.จะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่าจังหวัดละ 50 ล้านบาท ขณะที่ ส.ส.อีก 50 คน ที่จะถูก กกต.ตัดสินในระยะอันใกล้นี้ จะต้องเสียเงินค่าเลือกตั้งซ่อมอีกเขตละ 30 ล้านบาทด้วย

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า กรณีของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มีหุ้นอยู่ใน บริษัท ทรูคอร์เปอเรชั่น เพียง 5,000 หุ้น กกต.คงตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้

สุดท้ายต้องส่งผลให้นายสุเทพ ต้องหลุดจากสมาชิกภาพไปโดยปริยาย ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 48 เกี่ยวข้องกับคนหลายหมื่นคน ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตั้งแต่ระดับสมาชิกเทศบาล ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี เพียงแต่คนเหล่านั้นไม่ได้ถูกร้องเรียน เมื่อถามว่า มองว่ากรณี 16 ส.ว. จะมีสิทธิหลุดคดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ยาก เพราะศาลรัฐธรรมนูญ ต้องตีความไปตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ มั่นใจว่าทุกคนที่มีหุ้นล้วนยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยความซื่อสัตย์เพียงแต่ทุกคนไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทุกคนไม่มีเจตนา เพราะในช่วงที่ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ยังตอบคำถามของพวกเราไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญครบคลุมไปถึงกรณีใดบ้าง

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์