เรื่องที่ชาวบ้านรอลุ้น?

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


ขณะที่ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 4 แสนล้านบาท  และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 4 แสนล้านบาท รวมเป็นวงเงินกู้ 8 แสนล้านบาท ที่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผลักดัน และมีการประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา กำลังเป็น “กฎหมายใหม่ทางการเงิน” ที่เป็นเป้าจับตาในเมืองไทยในขณะนี้ กฎหมายทางเงินที่ “ใกล้ตัวประชาชน-เกี่ยวกับประชาชนโดยตรง” ฉบับหนึ่ง...อนาคตยังคงไม่ชัดเจน ??
   
กฎหมายที่ว่านี้คือ...ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการ “ทวงหนี้”
   
หรือ...ร่าง “พ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม”
   
“กฎหมายนี้ในหลาย ๆ ประเทศได้บังคับใช้กันมานานแล้ว เพื่อป้องกันเจ้าหนี้เรียกคืนหนี้ด้วยการข่มขู่หรือประจาน ทำให้ลูกหนี้เกิดความเสียหายหรืออับอาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จึงควร มีกฎหมายนี้มาบังคับใช้ เพราะการทวงหนี้เจ้าหนี้สามารถดำเนินการได้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายแพ่งอยู่แล้ว” ...นี่เป็นการระบุของ กรณ์   จาติกวณิช รมว.คลัง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา แล้วเรื่องก็ เงียบ ๆ ไป
   
ทั้งนี้ ที่จริงร่างกฎหมายนี้เคยมีการพิจารณาวาระแรกในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แล้ว แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลร่างกฎหมายก็ตกไปด้วย จึงต้องมีการนับหนึ่งใหม่ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะอย่างไรแน่ ?? อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสกันที่เนื้อหาของร่างกฎหมายนี้...ก็มีประเด็นเด่น ๆ ที่น่าพิจารณา
   
ยกตัวอย่าง “ข้อห้าม” ในการติดตามทวงหนี้ของสถาบันการเงินเจ้าหนี้หรือผู้รับติดตามทวงหนี้ เช่น... ห้ามมิให้ติดต่อกับผู้บริโภคด้วยวิธีและเงื่อนไขดังนี้ ติดต่อในเวลาและสถานที่ที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้บริโภค ในกรณีที่ไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าให้ถือเอาเวลา 08.00-21.00 น. ณ สถานที่ติดต่อผู้บริโภค เป็นเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมในการติดต่อผู้บริโภค หรือพูดง่าย ๆ ห้ามติดต่อทวงหนี้หลัง 3 ทุ่มถึงก่อน 8 โมงเช้า
   
นอกจากนี้ยัง ห้ามติดตามทวงหนี้โดย... การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การกระทำผิดทางอาญา โดยก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของผู้บริโภคหรือผู้อื่น, การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค, การแจ้ง การเปิดเผยชื่อผู้บริโภคแก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการติดตามหนี้ เว้นแต่เป็นการแจ้งให้แก่บุคคลอื่นตามที่กฎหมายกำหนด, การติดต่อผู้บริโภคเพื่อติดตามทวงถามหนี้เกินวันละ 1 ครั้ง เว้นแต่เป็นการติดต่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือได้รับความยินยอมจากผู้บริโภค ทั้งนี้ หากการทวงหนี้กระทำผิดตามร่าง พ.ร.บ.นี้จะมีโทษ
   
“บทกำหนดโทษ” ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ก็คือ... ในหมวด 11 มาตรา 33 ผู้ติดตามหนี้ใดไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เว้นเสียแต่พิสูจน์ได้ว่าไม่ได้มีเจตนากระทำผิดดังกล่าว และเป็นผลมาจากความผิดพลาด และได้มีการปรับปรุงแก้ไขไม่ให้มีความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นอีก
   
กฎหมายนี้ถ้ามีใช้จริง...คนเป็นลูกหนี้ก็ย่อมจะชอบใจแน่ ๆ
   
ขณะที่สำหรับสถาบันการเงิน-เจ้าหนี้...ก็มีประเด็นน่ากังวล
   
ทั้งนี้ กับ “ข้อกังวล” โดยสรุปนั้น แหล่งข่าวนักวิชาการด้านการเงินรายหนึ่งชี้ว่า... เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นี้บางส่วน เปิดช่องให้ลูกหนี้ที่ไม่สุจริตเบี้ยวหนี้ ทำให้ปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะเข้าถึงสินเชื่อยากยิ่งขึ้น เพราะสถาบันการเงินต้องปรับเปลี่ยนเกณฑ์-ต้องระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นแน่ จะทำให้เกิดการประวิงเวลาใช้หนี้ ผู้ติดตามหนี้ต้องพึ่งศาลมากขึ้น ซึ่ง เพิ่มภาระให้แก่ศาล   
   
“ทุกวันนี้แบงก์ชาติก็มีเกณฑ์ปฏิบัติในการติดตามทวงหนี้  สมาคมธนาคารไทยมีข้อสัญญาและระบบต่าง ๆ ให้สมาชิกต้องปฏิบัติตาม รวมถึงสภาทนายความก็กำกับดูแลและมีบทลงโทษที่รุนแรงหากสำนักงานทนายความที่รับทวงหนี้ทำรุนแรงเกินไปต่อลูกหนี้ นอกจากนี้ กฎหมายละเมิดเองก็ครอบคลุมเนื้อหาตรงนี้ จึงเห็นว่า กฎหมายนี้ออกมาซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิม ๆ ที่มีอยู่แล้ว ...” ...แหล่งข่าวนักวิชาการการเงินระบุ
   
อย่างไรก็ตาม อิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองในอีกมุมว่า... ถ้ามีกฎหมายนี้ก็ถือเป็นการเริ่มต้นสร้างความเป็นธรรมระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่ง ในยุควิกฤติเศรษฐกิจเช่นปัจจุบันทำให้การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย-ไม่ถูกต้อง กลับมาอาละวาดใส่ลูกหนี้อย่างรุนแรงอีก ทั้งการรบกวนสร้างความรำคาญ ข่มขู่ ทำให้สูญเสียสิทธิเสรีภาพ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย และอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมได้ ทำให้ลูกหนี้เกิดภาวะความเครียดอย่างหนัก ทำให้ครอบครัวแตกแยก ลูกหนี้ที่ไม่มีทางออกบางคนกลายเป็นโรคประสาท เพราะมีการกดดันด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้มีการใช้หนี้ตาม   ที่กำหนด
   
“ส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่ากฎหมายนี้เปิดช่องให้ลูกหนี้ชักดาบนั้น ไม่ควรเอาประเด็นนี้มาคัดค้าน เพราะทุกวันนี้ลูกหนี้ที่สุจริตต้องเดือดร้อน และแม้ไม่มีกฎหมายนี้ลูกหนี้ที่ไม่สุจริตก็ชักดาบอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้กล่าวร้ายลูกหนี้ส่วนใหญ่ซึ่งเป็นสุจริตชน” ...หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคระบุ
   
และนี่ก็เป็นเรื่องของ
“กฎหมายการเงินใกล้ตัวคนไทย”
   
กับมุมมอง 2 ด้านกรณีจะมีกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้
    
จะมี-ไม่มี...ถ้ามีจะยังไงแน่...คนไทยยังต้องรอลุ้น ???.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์