พรรคใหม่..พันธมิตร พลังธรรมโมเดล..แค่ทางเลือก

หลังออกศึกนานกว่า 193 วัน กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ประกาศพักรบและเคลื่อนพลในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการเปิดเวทีคอนเสิร์ตการเมืองเพื่อจัดตั้งแนวคิดและรักษามวลชนอย่างต่อเนื่อง แต่แนวทางนั้นก็ไม่อาจส่งสะเทือนเชิงอำนาจได้มากพอ

จึงไม่แปลกหากแกนนำพันธมิตร จะทบทวนบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาจนทำให้เห็นว่า การเคลื่อนพลข้างถนนแม้จะสามารถกดดันผู้มีอำนาจให้อยู่ในร่องรอยได้ แต่ก็ไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงของการสร้างการเมืองใหม่อันเป็นเป้าหมายหลักที่ต้องเดินไปให้ถึง

หลังการพักยกจึงทำให้ระดับแกนนำมีเวลาตรึกตรองและคิดหาแนวทางที่เหมาะสม โดยมีแรงกระเพื่อมจากระดับแกนนำพันธมิตร หนาหูว่า "พรรคการเมือง" คือ คำตอบสุดท้ายสำหรับการเคลื่อนพลพันธมิตร ยกใหม่

และได้ส่งบุคคลใกล้ชิดไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองไว้ 2 พรรค คือ พรรคประชาภิวัฒน์ (ปภ.) พรรคเทียนแห่งธรรม (ท.ห.ธ.)


ทว่าแนวคิดนี้ก็ยังไม่ตกผลึก เพราะมีเสียงคัดค้านจากพี่ใหญ่อย่าง "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" ผู้เคยมีประสบการณ์จากการตั้งพรรคพลังธรรมมาก่อน แต่ท้ายสุดแนวคิดการขับเคลื่อนด้วยพรรคการเมืองก็ถูกจุดพลุขึ้น พร้อมเสียงตอบรับจาก "พล.ต.จำลอง" และแกนนำพันธมิตรคนอื่นๆ บนเวทีคอนเสิร์ตการเมืองครั้งที่ 4 บนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อต้นเดือนมีนาคมเพื่อโยนหินถามมวลชน

แน่นอนกระแสเสียงนี้ทำให้แกนนำพันธมิตร ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ!!!

ความเห็นต่างครั้งนั้นทำให้เกิดปรากฏการณ์แม่น้ำหลายสาย ภายในพันธมิตร โดยเฉพาะเสียงคัดค้านจาก "พันธมิตรแดนสะตอ" ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนใจหนุนพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่ "พรรคประชาธิปัตย์"

รวมทั้งปรากฏการณ์หักดิบความคิดของคนกันเองที่ไม่เห็นด้วยอย่าง "ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์" ที่ออกมาค้านอย่างสุดโต่ง แต่ท้ายสุดก็ถูก "สนธิ ลิ้มทองกุล" เรียกเข้าห้องเย็นเพื่อให้สงบปากสงบคำ

ห้วงเวลาหลังจากจุดพลุเปิดวาระการเมืองใหม่ แกนนำพันธมิตร มีเวลากว่า 2 เดือนก่อนจะถึงวันครบรอบ 1 ปีแห่งการต่อสู้ ช่วงเวลาดังกล่าวจึงถือเป็น "นาทีทอง" ให้แกนนำพันธมิตร เดินสายสร้างความเข้าใจและโน้มน้าวมวลชนให้เห็นด้วยกับการ "แสวงหาอำนาจใหม่" ผ่านเวทีการเมืองแบบรัฐสภา

ช่วงเวลาที่ผ่านมาคนเห็นต่างเริ่มเห็นตรงกัน การเปิดเวทีในวันที่ 24-25 พฤษภาคมที่อิมแพค เมืองทองธานี จึงอาจเป็นการขอฉันทามติเพื่อ "ประทับตา" การตั้งพรรคอย่างเป็นรูปธรรมจากมวลชนเท่านั้น

แม้ว่าแกนนำพันธมิตร จะสามารถผ่านด่านแรกไปได้ แต่ก็ใช่ว่าแนวทางการสร้างการเมืองใหม่ในรูปแบบพรรคการเมืองจะถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบ ด้วยเพราะการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้อง "หาหัว" ที่มีพลังในการดึงดูดมวลชน

วินาทีนี้ชื่อชั้น "สนธิ ลิ้มทองกุล" จึงถูกเรียกหาเป็นอันดับต้นๆ แต่ "สนธิ" อาจไปไม่ถึงฝัน ด้วยเหตุว่าติดชนักข้อกฎหมายที่ยังคงเป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (2) ระบุห้ามไม่ให้สมัคร ส.ส. หากพรรคพันธมิตร ถูกตั้งขึ้น อาจต้องหาหัวใหม่ที่ไม่ใช่ "สนธิ ลิ้มทองกุล"

นอกเหนือการหาหัวที่น่าศรัทธา แต่การตั้งพรรคการเมืองก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณา โดยเฉพาะแนวทางการเมืองที่จำเป็นอย่างยิ่งกับการสร้างการเมืองใหม่ที่สังคมคาดหวัง

แม้วินาทีนี้ "จำลอง ศรีเมือง" และ "ประพันธ์ คูณมี" จะออกมาโยนหินให้พรรคใหม่ขับเคลื่อนด้วย "โมเดลพลังธรรมปาร์ตี้" ที่ต้องการเห็นนักการเมืองต้องเป็นคนซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ มีประสิทธิภาพ และไม่เดินตามการเมืองน้ำเน่า

อันเป็นหนทางที่พรรคพลังธรรมเคยโกยเสียง ส.ส.เข้าสภาได้ถึง 47 คนเมื่อ 20 ที่แล้ว

แต่แนวทางนี้ก็ใช่ว่าจะได้รับเสียงตอบรับจากแกนนำคนอื่น

เพราะหลายคนต่างรู้ดีว่าบทสรุปของพรรคพลังธรรมจบลงด้วยการได้ ส.ส.เพียงเสียงเดียว หลังจากที่ตั้งพรรคมาไม่ถึง 10 ปี

การรู้จักจุดจบของ "พลังธรรมโมเดล" จึงทำให้แกนนำพันธมิตร เข็ดขยาดที่จะเดินตาม เพราะการ "แสวงหาอำนาจต่อรองครั้งใหม่" ถือเป็นการทุบหม้อข้าวหม้อแกงที่มีจุดกำหนดมาจากข้างถนน

การตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชนครั้งนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่แกนนำอาจจะหยิบฉวย "จุดอ่อน-จุดแข็ง" ของพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาผสานให้เป็นพรรคการเมืองสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งน่าสนใจว่าพรรคการเมืองสายพันธุ์นี้จะเข้ากับสังคมวิทยาการเมืองแบบไทยๆ หรือไม่??

และเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่า ฝันของพันธมิตร ที่ต้องการสร้างการเมืองใหม่ในรัฐสภาจะไปไกลแค่ไหน


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์