เบื้องลึกกำลังรบสลายฝูงชน

ถือเป็นครั้งแรกในหน้า "ประวัติศาสตร์การเมืองไทย" ต้องจารึกถึง "ความสำเร็จ" ในการใช้กำลังทหารที่มี "อาวุธครบมือ" เป็นตัวหลักในการสลายการชุมนุม

แต่ผลการปฏิบัติภารกิจอันสำคัญนี้ "ปราศจาก" การสูญเสียชีวิตของประชาชน "ด้วยน้ำมือทหาร"

แม้ว่าจะมีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ "สลายการชุมนุม" แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นบนพื้นฐานที่เจ้าหน้าที่รัฐเคารพ "สิทธิมนุษยชน" โดยทหารจะปฏิบัติเพียงเพื่อ "ป้องกันตนเอง" และ "ยุติความรุนแรง"

และที่ถือเป็น "โล่ห์ป้องกัน" ในการปฏิบัติหน้าที่ของทหารครั้งนี้ คือ การเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนติดตามเสนอภาพข่าวทุกขั้นตอน เพื่อสื่อให้ทั่วโลกเห็นและรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ถือเป็นการป้องกัน "เหตุไม่คาดฝัน" ที่จะถูกจุดเป็นประเด็นได้ในยุคสงครามข้อมูลข่าวสารที่มีทั้ง "ข่าวจริง" และ "ข่าวลือ"

ปฏิบัติการ "ยุติม็อบเพื่อชาติ" เป็นความสำเร็จของรัฐบาลและทหารทุกคนที่ออกมาปฏิบัติภารกิจสร้าง "ศรัทธากลับคืน" ให้กับรัฐบาลและกองทัพ หลังตกเป็น "โจ๊กเกอร์" จากเหตุม็อบบุกสถานที่ประชุมผู้นำอาเซียนที่ อ.พัทยา จ.ชลบุรี เป็นเหตุให้ "เวทีถกผู้นำ" ต้องยกเลิกและเลื่อนไปไม่มีกำหนด

การปฏิบัติภารกิจสลายการชุมนุมของทหารครั้งนี้ นำบทเรียนจากเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" มาปรับใช้ทบทวน "ความผิดพลาด" ในอดีต นอกจากนี้ ภายหลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" กองทัพได้จัดฝึกกำลังทหาร "เน้นยุทธวิธี" การปราบปราม ควบคุม และสลายฝูงชน ในทุกหน่วยของกองทัพ โดยตั้งเป็น "กองร้อยปราบจลาจล" แต่ภายหลังให้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองร้อยรักษาความสงบ"

ทั้งนี้ สำหรับกำลังทหารที่ใช้ในการ "ยุติการชุมนุม" ในช่วง 13-14 เมษายนที่ผ่านมา กองทัพใช้กำลังทั้งสิ้นประมาณ 40 กองร้อย โดยเน้นกำลังทหารของกองทัพภาคที่ 1 และกำลังหลักใน กทม. อาทิ กำลังทหารจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.),มณฑลทหารบกที่ 11,มณฑลทหารบกที่ 14,กำลังของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) จ.ปราจีนบุรี สนับสนุนส่งกำลังกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12

กำลังจากหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.),กำลังจากกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.),กองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9) จ.กาญจนบุรี สนับสนุนกำลังกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 9,กำลังหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (อาร์ดีเอฟ) จากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) และหน่วยแทรกซึมจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) จ.ลพบุรี

สำหรับแผนปฏิบัติการต้องสอดรับกับนโยบายที่คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (กอฉ.)

มอบหมายภารกิจให้ คือ 1.ดูแลพื้นที่ที่มีการกระทำผิดกฎหมาย 2.ควบคุมเหตุวุ่นวายทุกพื้นที่ เช่น ต้องเปิดเส้นทางจราจรในพื้นที่ซึ่งผู้ชุมนุมปิดถนน 3.ป้องกันเหตุวินาศกรรม และ 4.สลายการชุมนุม ทั้งนี้ มาตรการดำเนินการต้องปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก

ส่วนขั้นตอนการสลายการชุมนุมในแต่ละจุดที่มีการประชิดกันนั้น กำลังทหารจะมีการแบ่งภารกิจ แบ่งเป็นชั้นชัดเจนในการเข้าสลายฝูงชน โดยแต่ละครั้งจะมีการตั้งแถวหน้ากระดาน แล้วค่อยเดินเข้าหาฝูงชน แบ่งเป็น "ด่านหน้า" จะมีทหารที่ถือโล่ห์และกระบอกเป็นอาวุธ

"ด่านรอง" เป็นทหารที่มีอาวุธปืนเอ็ม 16 ที่บรรจุ "กระสุนซ้อมรบ" หรือ "กระสุนแบงท์" ซึ่งจะยิงเมื่อมีความจำเป็นต้องป้องปรามกลุ่มผู้ชุมนุมที่วิ่งกรูเข้าประชิด

และ "ด่านหลัง" เป็นทหารที่มีอาวุธเอ็ม 16 บรรจุกระสุนจริง แต่การยิงทุกครั้งต้อง "ยิงขึ้นฟ้า" เพื่อใช้ข่มขวัญผู้ชุมนุมให้ล่าถอยกลับไป

ทั้งหมดคือกรอบของ "แผนและยุทธวิธี" ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายและทำความเข้าใจกับกำลังพล ส่วนขั้นตอนปฏิบัติจริงว่า "ผิดเพี้ยน" หรือ "ตรงตามหลัก" คงต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินทั้งจากภาพข่าว ภาพถ่าย และประชาชนที่เฝ้าติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ตลอดทั้งวันในแต่ละพื้นที่

ต้องถือว่าการปฏิบัติภารกิจของทหารครั้งนี้ "ลงเอยด้วยดี" และที่สำคัญคือ ความร่วมมือของแกนนำผู้ชุมนุมที่ "ยอมยุติการชุมนุม" ในสมรภูมิใหญ่ คือ "ทำเนียบรัฐบาล" ที่หากไม่ยอมยุติการชุมนุมในวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ก็ไม่แน่ว่าสงกรานต์ปีนี้อาจเป็น "สงกรานต์เลือด" และคงไม่เห็นภาพ "ความสำเร็จ" ของทหารและรัฐบาลหนนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยใน "ช่วง 3 วันอันตราย" ตั้งแต่วันที่ 12,13 และ 14 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนสำคัญของคนไทยและหันหลังกลับมาดู "ความแตกแยก" ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งประชาชนคนไทยต้องการหรือไม่..

เพราะสงครามการเมืองแบบนี้ "คนที่แพ้" คือ "คนไทยทั้งชาติ" ...


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์