แนะเลี่ยงเส้นทางม็อบแดง


นครบาลปิดถนนรับมือม็อบ เสื้อแดง ชุมนุมใหญ่บ้านสี่เสาเทเวศร์ 3 เส้นทาง ถนนพิษณุโลกแยกนางเลิ้งถึงสามแยกเทเวศร์ ราชดำเนินนอกตั้งแต่สะพานมัฆวานฯ ถึงลานพระรูป ถนนศรี อยุธยาจากแยกวัดเบญฯ ถึงสี่เสา

หากผู้ชุมนุมมากอาจต้องปิดเพิ่ม แนะเลี่ยงเส้นทางรอบทำเนียบฯ บ้านป๋าเปรม ขณะที่อีกหลายม็อบต่างฮือปิดถนน ลูกจ้างบริษัทกำจัดขยะ ปิดพระราม 6 หน้ากระทรวงอุตฯ ก่อนนำรถบรรทุกขยะปิดพหลโยธินที่สระบุรี จี้ให้เปิดโรงงาน หลังโดนชาวบ้านร้องเรียน อีกจุดม็อบแรงงาน พนง. บริษัทยางรถยนต์ บุกกระทรวงแรงงาน โดนนายจ้างปลด ไม่ได้เงินเดือน ลดเงินเดือน

เมื่อวันที่ 7 เม.ย. พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผบช.น. ดูแลงานจราจร กล่าวถึงการชุมนุม ใหญ่ของม็อบเสื้อแดงที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ในวันที่ 8 เม.ย. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจราจรในบริเวณดังกล่าวว่า หากมีผู้ชุมนุมมามากจะปิดการจราจรโดยอัตโนมัติ แต่ไม่ประกาศ คาดว่าจะมี 3 เส้นทางที่มีผลกระทบ

คือถนนพิษณุโลก ตั้งแต่แยกนางเลิ้งถึงสามแยกเทเวศร์ เส้นที่ 2 แยกราชดำเนินนอก ตั้งแต่สะพานมัฆวานรังสรรค์ถึงแยกพระบรมรูปทรงม้า ถึงถนนอู่ทองใน และเส้นที่ 3 ถนนศรีอยุธยา ตั้งแต่แยกวัดเบญจมบพิตรฯ ถึงสี่เสาเทเวศร์ ทั้ง 3 เส้นทาง จะปิดโดยปริยายจากการชุมนุม

รองผบช.น.กล่าวต่อว่า อีก 2 เส้นทางที่กระทบ คือถนนราชสีมา กับถนนสามเสน เนื่อง จากถนนสามเสนติดกับบ้านสี่เสาเทเวศร์ อีกเส้นคือถนนราชสีมา หากผู้ชุมนุมมากก็ต้องปิดแยกการเรือนถึงแยกประชาเกษม เป็นเส้นทางที่อาจถูกปิดไปด้วย เพราะฉะนั้นฝากประชาชนว่า ในวันที่ 8 เม.ย.

หากไม่จำเป็นขอให้หลีกเลี่ยงเส้นรอบทำเนียบรัฐบาล และรอบบ้านสี่เสาเทเวศร์ ถนนพิษณุโลก ถนนราชดำเนินนอก ถนนศรี อยุธยา ส่วนวันที่ 9-10 เม.ย. ขอให้ฟังประกาศเป็นระยะ การปิดถนนครั้งนี้เป็นการปิดตามสถานการณ์ ไม่ได้ปิดเพราะเป็นประกาศจากเจ้าพนักงาน ต้องดูปริมาณคนก่อน และจะปิดเท่าที่จำเป็น

ผู้สื่อข่าวถามว่าคาดจะมีผู้มาร่วมชุมนุมเท่าไหร่ พล.ต.ต.ภาณุกล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ คงประมาณร่วมแสนคนมากน้อยขึ้นอยู่กับประชาชนจากต่างจังหวัดจะเข้ามามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปัจจัยนั้น แต่คนในกรุงเทพฯ น่าจะมีประมาณ 30,000 คน ส่วนต่างจังหวัดทางฝ่ายข่าวกำลังตรวจสอบอยู่ สำหรับกรณีมือที่สามนั้น ฝากให้กลุ่มผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ช่วยกันดูแลด้วย โดยทุกคนต้องช่วยเฝ้าระวัง อย่าให้มือที่สามมาแทรกแซงและสร้างสถานการณ์

วันเดียวกัน ที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีพนักงานของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) จ.สระบุรี ดำเนินกิจการรับกำจัดของเสียอุตสาหกรรม ประมาณ 500 คน เดินทางมาชุมนุมปิดล้อมกระทรวงอุตสาหกรรม เรียกร้องให้นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม มาเจรจากรณีคำสั่งปิดโรงงานของผวจ.สระบุรี เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มพนักงานตั้งเต็นท์ถาวรที่ถนนในกระทรวง ด้านหลังสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งปิดประตูทางเข้าออกกระทรวง

ต่อมาเวลา 12.30 น. ตำรวจมาเจรจากับผู้ชุมนุมขอให้เปิดประตูกระทรวง กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ จึงพากันออกไปปิดถนนพระราม 6 ทั้งฝั่งขาเข้าและออก เป็นเวลานานกว่า 10 นาที ส่งผลให้การจราจรหน้ากระทรวงอุตสาหกรรมติดขัดอย่างหนัก และในเวลา 16.00 น.

จากการเจรจาของกลุ่มผู้ชุมนุมกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม มีความเห็นร่วมกันว่า คำสั่งของผวจ.สระบุรี ดำเนินการผิดขั้นตอน เพราะในกรณีที่พบว่าโรงงานทำผิดกฎหมาย ต้องให้โอกาสปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องก่อน หากแก้ไขแล้วไม่ดีขึ้น หรือไม่ยอมแก้ไข จึงจะสั่งปิดโรงงานได้

จากนั้น นายดำริ สุโขธนัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จึงส่งหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 7 เม.ย. ไปยังนายธนเษก อัศวานุวัตร ผวจ.สระบุรี ขอให้ยกเลิกคำสั่งปิดโรงงาน และทางคณะกรรมการของกระทรวงอุตสาหกรรม จะเดินทางไปตรวจสอบโรงงานอีกครั้ง ก่อนจะสรุปว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ยอมเดินทางกลับ และพากันไปปิดถนนพระราม 6 ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก อีกครั้งในเวลา 18.00 น.

ขณะเดียวกัน ที่ จ.สระบุรี ในเวลา 14.20 น. นางจงกลนี อ้วนคำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายขนส่ง บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีนฯ นำรถบรรทุก 10 ล้อ รถบรรทุกพ่วง และรถกระบะ รวมประมาณ 60 คัน มาปิดถนนพหลโยธิน ช่วงหลักก.ม.ที่ 98-99 ต.หนองนาก อ.หนองแค จ.สระบุรี เป็นจุดเดียวกับที่กลุ่มชาวบ้านจาก ต.กุดนกเปล้า ต.หนองปลาไหล อ.เมืองสระบุรี และ ต.ห้วยแห้ง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ปิดถนนประท้วง เรียกร้องให้ทางจังหวัดปิดบ่อขยะอุตสาหกรรมของบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีนฯ โดยทางพนักงานของบริษัทระบุว่า เพื่อเรียกร้องให้เปิดบ่อขยะ

ต่อมา พล.ต.ต.อุฬาร อเนกบุณย์ ผบก. สระบุรี และ พ.ต.อ.ทวนทอง ตันประยูร รอง ผบก.สระบุรี ร่วมประชุมเจ้าหน้าที่ เพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์ พร้อมทั้งระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้ารักษาความสงบเรียบร้อย และประกาศให้รถที่จะใช้เส้นทางผ่านเข้า จ.สระบุรี ไปใช้เส้นทางเลี่ยงเมือง ส่วนจาก จ.สระบุรี เข้ากรุงเทพฯ ให้ใช้ถนนสายแก่งคอย-บ้านนา

เหตุการณ์ม็อบปิดถนนอีกราย ในเวลา 09.00 น. กลุ่มสหภาพแรงงานผู้ผลิตยางรถยนต์แห่งประเทศไทย, กลุ่มลูกจ้างบริษัท สยามมิชลิน จำกัด, บริษัท กู๊ดเยียร์ จำกัด, บริษัทแคนาดอล เอเชีย จำกัด, รวมทั้งผู้ถูกเลิกจ้างจากโรงงานต่างๆ ในนามของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จำนวนกว่า 500 คน นำโดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคสรท. รวมตัวกันที่ด้านหน้าร.พ.ราชวิถี

ก่อนจะเดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน ยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงาน ช่วยเหลือลูกจ้างบริษัทกู๊ดเยียร์ จำนวน 160 คน ที่ถูกปลดออกจากงาน โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และกรณีลูกจ้างบริษัท สยามมิชลินฯ ที่ไม่ได้รับเงินเดือน และถูกลดเวลาทำงาน รวมทั้งถูกปรับลดเงินเดือน 13 เปอร์เซ็นต์ และกรณีลูกจ้างบริษัทแคนาดอลฯ ไม่ได้รับค่าจ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมนำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง ปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ว่าไม่สามารถช่วยแรงงานได้ตรงกับความเดือดร้อน รวมทั้งโจมตีนโยบายของรมว. แรงงาน และผู้บริหาร ที่ไม่เข้ามาดูแลแก้ปัญหาให้คนงานอย่างจริงจัง

ต่อมาเวลา 11.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งขบวนเดินทางจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มายังกระทรวงแรงงาน ทำให้การจราจรรอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ติดขัดอย่างหนัก และต่อเนื่องเป็นบริเวณกว้างในถนนรอบนอก เมื่อมาถึงทางกลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักอยู่บริเวณด้านข้างกระทรวง บริเวณถนนมิตร ไมตรี สับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยอย่างต่อเนื่อง

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า นโยบายที่รัฐบาลออกมาเพื่อแก้ปัญหาแรงงาน เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการต้นกล้าอาชีพ หรือแจกเช็คช่วยชาติ โครงการเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาแรงงานได้ เป็นการแก้ที่ไม่ตรงจุด และไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วแรงงานต้องการให้ช่วยเรื่องอะไร ถ้าคิดจะแก้ไขจริงๆ รัฐบาลก็สามารถทำได้ แต่เพราะรัฐบาลคิดแต่จะสร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองมากกว่า จึงทำให้การแก้ปัญหาล่าช้า อยากให้พิจารณาตัวเองว่ายังควรเป็นรัฐบาลต่อไปหรือไม่

ประธานคสรท. กล่าวต่อว่า เราต้องการให้เปิดเวทีเจรจาอีกครั้ง หลังจากเจรจาครั้งแรกไม่เป็นผล และยังไม่ได้รับความใส่ใจ ไม่ว่าจากฝ่ายนายจ้าง หรือกระทรวงแรงงาน อย่างกรณีของบริษัทสยามมิชลินฯ กระทรวงแรงงานบอกว่าไม่สามารถเจรจาได้ เพราะเป็นบริษัทต่างชาติ จึงต้องให้ต่างชาติเป็นผู้เจรจา ดังนั้นเราจะเดินขบวนไปสถานทูตแคนาดาและฝรั่งเศส หลังจากที่เดินขบวนมาถึงกระทรวงแรงงานแล้ว เพื่อเรียกร้องให้สถานทูตช่วย และเพื่อให้ต่างชาติรู้ว่ามีการเอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยในบริษัทที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน จนทำให้แรงงานไม่สามารถอยู่ได้ และหากไม่ได้รับข้อตกลงที่น่าพอใจจากนายไพฑูรย์ ก็จะปักหลักชุมนุมยืดเยื้อแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลูกจ้างบริษัท ดรากอนไทยลัมเบอร์ จำกัด และลูกจ้างบริษัทที่ถูกเลิกจ้างในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ในนามของสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย จำนวนกว่า 200 คน เดินทางมาที่กระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้นายไพฑูรย์แก้ไขปัญหาถูกเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ส่งผลให้การจราจรในเส้นทางดังกล่าว ติด ขัดต่อเนื่องไปจนถึงถนนวิภาวดีรังสิต ก่อนที่ทั้งหมดปักหลักชุมนุมกันอย่างยืดเยื้อ

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ข้อเรียกร้องหลายอย่าง จริงๆ แล้วนายจ้างควรจะพูดกับลูกจ้างได้ แต่กลับไม่ทำ ทำให้แก้ไขปัญหายากขึ้น ทั้งที่ควรใช้กระบวน การแรงงานสัมพันธ์เข้ามาแก้ไข เหมือนกับที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายไว้ คือมีอะไรก็ขอให้คุยกันในพื้นที่ เพราะหากเดินทางเข้ามา ยิ่งทำให้สถานการณ์วิกฤต ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานพยายามสร้างความเข้าใจกับข้าราชการ เพื่อให้ทำความเข้าใจเหตุกระทบกระทั่งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ก่อนที่จะเกิดปัญหา

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์