นายกรัฐมนตรีไม่คิดว่าเหตุปะทะไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับ ทักษิณ

พรรคประชาธิปัตย์ 6 เม.ย. – นายกรัฐมนตรีปฏิเสธหยิบยกปัญหาไทย-กัมพูชา ขึ้นหารือในเวทีอาเซียน ระบุเป็นปัญหาทวิภาคีของสองฝ่าย แต่จะใช้โอกาสดังกล่าวหารือกับสมเด็จฮุน เซน เพื่อย้ำจุดยืนใช้การเจรจา ขณะเดียวกันไม่คิดว่าเหตุปะทะไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับ “พ.ต.ท.ทักษิณ"


นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี  ชี้แจงถึงกรณีที่มีข่าวว่าจะหยิบยกปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา มาหารือในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนบวก 3 และบวก 6 ว่า  ไม่ได้คุยในเวทีอาเซียน

เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาทวิภาคีของสองฝ่าย แต่จะใช้โอกาสในช่วงที่สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนพบปะกัน เพื่อย้ำจุดยืนในเรื่องที่ว่า ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจา และเท่าที่ติดตามสถานการณ์ในขณะนี้ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ และต้องให้ระดับพื้นที่สงบระยะหนึ่งน่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะตอนนี้มีการทำความเข้าใจในหลายระดับ และคิดว่าคงเป็นไปในแนวทางที่ดี ทั้งนี้ ไม่คิดว่าเหตุการณ์ปะทะกันดังกล่าว จะสอดคล้องกับข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ที่กัมพูชา


“ผมไม่คิดว่า เราไปสรุปอย่างนั้นได้ แต่รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาให้คลี่คลายไป ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะได้พูดคุยกันในระดับนโยบายและทำความเข้าใจในระดับพื้นที่ด้วย จึงคิดว่าน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การตรึงกำลังยังคงต้องมีอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง และแม้จะตรึงกำลังกันอยู่ ก็จะต้องระมัดระวังกันมากขึ้นในแง่การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่ให้เกิดเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หรืออุบัติเหตุไม่ให้เกิดการปะทะกัน  ขณะเดียวกัน เรื่องหลักต้องใช้กระบวนการเจรจา”นายกรัฐมนตรีกล่าว


ส่วนกรณีที่ทหารไทยพบทุ่นระเบิดใหม่ในพื้นที่ชายแดนไทย จนเกิดเหตุการณ์ปะทะกันนั้น  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความจริงมีข้อตกลงความร่วมมือที่จะต้องจัดเก็บให้หมด

ซึ่งมีข้อตกลงกันอยู่แล้ว ดังนั้น  ต้องพูดจากัน รวมถึงหากเราสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นทุ่นระเบิดใหม่ จะต้องหยิบยกมาพูดคุยเพิ่มเติมเช่นกัน ซึ่งเมื่อกลางปีที่แล้วเคยมีเหตุการณ์เช่นนี้
เมื่อถามว่า จะมีการประท้วงเพิ่มเติมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีการประท้วงกันไปมาอยู่  ซึ่งเป็นการรักษาสิทธิของแต่ละฝ่าย แต่จะใช้กระบวนการเจรจาต่อไป


ส่วนกรณีที่กัมพูชาอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชาตามแผนที่แอล 7017 นั้น  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยยึดแนวสันปันน้ำเป็นเขตแดน

แต่กัมพูชายึดแผนที่ฝรั่งเศส จึงมีพื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิกันอยู่ แต่ไทยยืนยันมาตลอดว่า  ไม่เคยใช้แผนที่นี้
เมื่อถามว่า ในการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะขอให้กัมพูชาออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือไม่  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราจะพิจารณาว่าอะไรที่เป็นประโยชน์สูงสุดของชาติ และสิ่งที่เคยเรียกร้องในสมัยที่เป็นฝ่ายค้านก็เป็นผลหลายเรื่อง คือ แถลงการณ์ร่วมที่เป็นปัญหาก็ถูกยกเลิกไปแล้ว และกลับเข้าสู่การทำข้อตกลงปี 2543 แล้ว ส่วนเงื่อนไขที่ค้างอยู่เรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น รัฐบาลก็มีการดำเนินการอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป.- สำนักข่าวไทย


เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์