ฝ่ายค้าน-รบ. ยิงตรงหนุนข้อเสนอ 24 อธิการฯ ตั้งกก.ปฏิรูปการเมือง ชี้เป็นทางออกที่ดี สมชาย ยังเฉย

"สมชาย" ยังไม่ตอบรับข้อเสนอ 24 อธิการบดี ตั้ง กก.อิสระปฏิรูปการเมือง "พปช.-ปชป.-ผบ.ทอ." ร่วมหนุนชี้เป็นทางออกที่ดี ส.ว.ค้านให้อำนาจนายกฯตั้ง กก.อิสระ แนะเฟ้น 7 ผู้อาวุโสเป็นกรรมการคัดสรร อดีตส.ส.ร.ชี้ใช้เวลานานเกิน120 วัน

อธิการมธ. แจงที่มาเสนอตั้งกก.อิสระ

เมื่อวันที่ 27 กันยายน นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยที่มาของการออกแถลงการณ์ 24 อธิการบดีมหาวิทยาลัย เสนอนายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง ว่า แถลงการณ์นี้ไม่ได้มีอะไรหรือมีใครอยู่เบื้องหลัง แต่เกิดจากความห่วงใยต่อปัญหาบ้านเมืองที่มีความวิกฤต จึงนัดประชุมหารือในกลุ่มอธิการบดีมหาวิทยาลัยด้วยกัน อาทิ ม.รามคำแหง ม.รังสิต ม.ศิลปากร เป็นต้น ที่โรงแรมสยามซิตี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน มีการเสนอแนวทางหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือ การเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบบการเมืองการปกครอง ซึ่งเสนอโดยตน

"มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ที่สุดเห็นตรงกันว่าการตั้งคณะกรรมการอิสระน่าจะเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับและแก้ไขปัญหาได้ยุติที่สุด จึงได้ส่งแฟกซ์ให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมพิจารณา หากใครเห็นด้วยให้ร่วมลงนาม แต่หากใครยังไม่มั่นใจ ไม่ต้องลงชื่อ ไม่มีการบังคับ ที่สุดก็ได้รายชื่อเหล่านั้น จัดทำเป็นเอกสารแถลงการณ์ ในวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา"
 
ผบ.ทอ.เห็นด้วยตั้งกก.ปฏิรูปการเมือง

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงข้อเสนอ 24 อธิการบดีจากมหาวิทยาลัยเสนอตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูประบบการเมืองว่า เป็นข้อคิดที่ดี และหากทุกภาคส่วนของประเทศไม่ว่าภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ซึ่งเป็นกลางแท้ๆ ยื่นข้อเสนอมาในลักษณะอย่างนี้จะทำให้รัฐบาลรับทราบว่าประชาชนคิดอย่างไร เมื่อถามว่า การที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอนจะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับประเด็นว่า แก้ในเรื่องใด เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมหรือเป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มคน

ส่วนหลังวันที่ 30 กันยายน สังคมไทยจะได้เห็น พล.อ.อ.ชลิตในบทบาทใด ผบ.ทอ.กล่าวว่า คงไม่ทำอะไร คงจะพักผ่อน ในอนาคตส่วนตนจะต้องกลับมาช่วยชาติบ้านเมืองในสถานการณ์ใดนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ เหมือนการรบ ที่ไม่จำเป็นต้องกระโจนไปสนามรบเพื่อยิงกับใคร เราสามารถเป็นแบ๊คอัพอยู่ข้างหลังก็ได้ ทั้งนี้ คิดว่า คนไทยทุกคนต้องประกอบกันและเป็นการเมืองของไทยถ้าเราจะมีส่วนช่วยเหลือ แม้แต่การลงประชามติ ตนก็จะเป็น 1 เสียงที่จะไปร่วมลงคะแนนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่

เมื่อถามว่า การเมืองใหม่จะมีส่วนช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้นได้หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตกล่าวว่า เป็นข้อเสนอหนึ่งที่คนไทยควรนำมาทบทวนจะเป็นจริงหรือไม่ และหากเปรียบเทียบกับกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้สามารถป้องกันอะไรได้หรือไม่ และถ้าจะแก้ควรแก้อย่างไร อย่างกลุ่มพันธมิตรที่เสนอสัดส่วน 70-30 หรือที่มีคนพูดถึงสัดส่วน 50-50 ซึ่งคงเป็นจุดเริ่มต้นว่า แต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียอย่างไรซึ่งต้องมาพูดคุยกัน อะไรที่ดีมากกว่าก็น่าจะเลือกอย่างนั้น เพื่อพัฒนาเข้าสู่จุดที่สมบูรณ์ที่สุดในอนาคต อย่ามุ่งหวังว่าต้องทำให้เสร็จภายในปีหน้าหรือทำให้ได้ภาย 6 เดือนนี้ เพราะโดยส่วนตัวคิดว่าไม่มีทาง

ลั่นไม่กลัวระบบทักษิณตามเช็คบิล

เมื่อถามว่า ประเมินว่าสุดท้ายระบอบทักษิณจะกลับมาชนะได้อีกหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิตกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ในสุดท้ายประชาชนจะเป็นคนตัดสิน บางครั้งเงินทอง หรือเงินทุนไม่สามารถเอาชนะความต้องการที่มุ่งมั่นของประชาชนที่มีความเข้าใจในประชาธิปไตยโดยแท้ได้ เมื่อถามว่า หวั่นหรือไม่ว่าจะถูกระบอบทักษิณกลับมาเช็คบิล พล.อ.อ.ชลิตกล่าวว่า ไม่กลัว เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับความถูกต้องและความจริง

เมื่อถามว่า หากมีการเลือกตั้งใหม่และพรรคพวกของ พ.ต.ท.ทักษิณยังกลับขึ้นมาอีก เท่ากับความมุ่งหวังของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ก็ไม่ไปถึงไหน พล.อ.อ.ชลิตกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของ คมช.ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะล้มระบอบหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องการยุติสถานการณ์ และใครทำผิดต้องค้นหาผู้กระทำความผิดเพื่อเข้าสู่ระบบยุติธรรม และการพิพากษา ทั้งนี้ เราหวังว่า คนไทย และประชาชนจะพยายามเลือกคนมาทำงานเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป แต่เรื่องเงิน เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศต้องแก้ไข เพื่อไม่ให้นักธุรกิจ หรือผู้ที่ต้องการประโยชน์มาแสวงหาผลประโยชน์จากการเป็น ครม.หรือรัฐบาล

นายกฯยังนิ่งข้อเสนอ24อธิการบดี

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ถึงกรณี 24 อธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ-เอกชน เสนอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระแก้วิกฤตชาติ เพื่อหาทางออกวิกฤตการเมือง เพื่อนำคณะโดยสารการบินไทย เที่ยวบินที่ ทีจี-1106 ดอนเมือง-สุราษฎร์ธานี ไปยัง จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนเดินทางต่อไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมบ้านเกิดว่า "เรื่องการเมืองนั้น ผมอยากจะพูดเรื่องทำงานเยอะๆ ก่อน การเมืองนี่พูดแล้วเดี๋ยวไม่มีเวลาทำงาน แต่ก็เป็นความเห็น การเมืองเป็นความเห็น คิดว่าทุกฝ่ายถ้าพูดจาปราศรัยกันหาทางออก แต่ต้องยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันนี้คือหลักธงใหญ่ใจความ ส่วนใครจะเห็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างกันได้ ไม่เป็นไรแต่ต้องยึดหลักประชาธิปไตย"
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาตามข้อเสนอของ 24 อธิการบดีหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เดี๋ยวไปดูก่อน เพราะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบ เมื่อถามว่าไปจังหวัดนครศรีธรรมราชครั้งนี้จะรับมือกลุ่มต่อต้านอย่างไร นายสมชายตอบว่า ไม่รับมือ เพราะจะกลับไปบ้าน ไปเยี่ยมประชาชน

พธม.ไม่ขัดแก้ รธน.เพื่อการเมืองใหม่

ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ร่วมกันแถลงที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. โดยยืนยันเช่นเดิม ไม่ได้สั่งพันธมิตรนครศรีธรรมราช เคลื่อนไหวต่อต้านนายกฯระหว่างกลับบ้าน โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าการที่นายสมชายลงไปภาคใต้เป็นการยั่วยวนมากกว่าการแก้ปัญหา หน้าที่รัฐบาลไม่ใช่การสร้างปัญหาเพิ่มแต่คือการแก้ปัญหา

พล.ต.จำลองกล่าวว่า ความเห็นของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และอธิการบดี 24 สถาบัน เป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง โดยตามขั้นตอนที่ นพ.ประเวศให้ความเห็นไว้ 1.นายกฯต้องประกาศเป็นวาระแห่งชาติ 2.ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาพิจารณารายละเอียดภายใน 120 วัน 3.นายกฯต้องประกาศผลของการพิจารณาต่อประชาชน และ 4.มีการทำประชามติ ส่วนถ้าหากการเมืองใหม่จะผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องจัดการกันไป ซึ่งไม่ได้ขัดกับหลักการพันธมิตร

"จุดประสงค์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพันธมิตร มีหลักอยู่ที่ 3 มาตรา ที่จะทำไปสู่การแก้ความผิดให้พวกพ้องและลบล้างกระบวนการยุติธรรม ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา มี 3 มาตรานี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยตลอด" พล.ต.จำลองกล่าว และว่า สำหรับแนวทางการเมืองใหม่ของพันธมิตรจะดำเนินการควบคู่ไปตลอด เพราะเชื่อในคำพูด นพ.ประเวศที่ว่าสัจจะและความถูกต้องต้องเดินทางมาเจอกัน

นายพิภพกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูความจริงใจของรัฐบาลด้วยว่าจะรับข้อเสนอไปปฏิบัติ หรือแค่แก้เกมการเมืองเพื่อแก้ปัญหาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีตัวอย่าง เช่นการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่ได้มีการทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระอย่างจริงจัง

พปช.ชี้ข้อเสนอดีแต่ต้องแก้รธน.ก่อน

ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชน (พปช.) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการบังคับใช้ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่า ในหลักการแล้ว การที่มีอธิการบดีถึง 24 คน เสนอทางออกให้กับวิกฤตการเมืองถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรับฟัง หากเป็นการเสนอโดยไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจพื้นฐานด้วยว่า การเสนอแนวทางแก้วิกฤตใดๆ ต้องยึดหลักประชาธิปไตย ซึ่งหากใช้รูปแบบของการตั้งคณะกรรมการมาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนอาจไม่ยอมรับ ดังนั้น ถ้าจะดำเนินการตามที่อธิการบดีเสนอ ก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เสียก่อน ไม่นั้นการดำเนินการของคณะกรรมการที่ว่านี้ ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่มีกฎหมายรองรับ

"วันนี้ต้องยอมรับว่าใน 24 คน มีอธิการบดีบางคนมีข้าง และบางคนก็เคยยืนข้างรัฐประหารมาก่อน และเคยเสนอแนวทางที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย จึงต้องถามว่าวันนี้จุดยืนเป็นอย่างไร แต่โดยรวมแล้ว การเสนอมาแบบนี้ ทั้ง 24 คนคงหวังดีต่อชาติ แต่ต้องหวังดีอย่างจริงใจด้วย หากจะเสนอแนวทางสร้างความสงบสุข ก็ต้องไม่เป็นแนวทางที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน" นายจุตพรกล่าว

"กุเทพ" เชื่อ "รบ.-นายกฯ" ไม่ปฏิเสธ

ด้าน ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษก พปช. กล่าวว่า ข้อเสนอของ 24 อธิการบดีที่ให้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาปฏิรูปการเมืองว่า ถือเป็นทางออกของสังคมอย่างหนึ่งที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในการสร้างความสมานฉันท์ของบ้านเมือง เพื่อให้เกิดการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มพันธมิตรก็เห็นด้วยที่จะปฏิบัติตามในเรื่องนี้ ดังนั้น รัฐบาลไม่น่าจะขัดข้องอะไรและควรที่จะสนับสนุนส่งเสริมอย่างเต็มที่ ซึ่งตนเชื่อว่านายสมชาย นายกฯ คงจะไม่ปฏิเสธแนวทางที่มีประโยชน์ และเป็นทางออกเช่นนี้

ด้านนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องรับมาพิจารณากันว่าจะทำอย่างไร รวมถึงการหารือของคณะรัฐมนตรีด้วย

ปชป.เอาด้วยจี้รบ.หนุนเป็นผู้ริเริ่ม

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษก ปชป. กล่าวว่า พรรคขอสนับสนุนแนวทาง 24 อธิการบดีเสนอตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมือง เพราะไม่ใช่เป็นการทำการเมืองเพื่อตัวเอง และอยากเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศสนับสนุนและประกาศสัตยาบันหนุนกระบวนการที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยหาทางออกให้กับประเทศ การจัดตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว หากรัฐบาลให้ความมุ่งมั่นว่าในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เข้าแทรกแซงการทำงานของการปฏิรูปการเมืองเพื่อประโยชน์ของตัวเอง

"นายกฯต้องประกาศตั้งคณะกรรมการ และประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษา เป็นการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายบริหารต้องเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อให้กระบวนการถูกยอมรับจากฝ่ายต่างๆ ก่อน จากนั้น จึงมาพูดจากันเพื่อเดินหน้าต่อไป" โฆษก ปชป.กล่าว

"อภิสิทธิ์" เห็นด้วยเป็นทางออกที่ดี

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมืองว่า ทุกฝ่ายควรต้องทำให้เกิดเป้าหมายร่วมกันว่าจะมาช่วยปฏิรูปการเมือง และต้องยอมรับว่า ขณะนี้เกิดความไม่พอใจสภาพการเมืองปัจจุบันเป็นอย่างมาก หากมีกลไกสามารถทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ทำให้เกิดความเชื่อมโยงงานของสภาที่ศึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะเป็นแนวทางออกที่ดี

"ส่วนกลุ่มพันธมิตรจะหยุดการชุมนุมหรือไม่ คงต้องมีการหารือร่วมกับทุกฝ่ายก่อนว่ามีเป้าหมาย และรูปแบบ กรอบเวลา และเงื่อนไขคืออะไร ซึ่งจะได้เป็นเครื่องมือในการนำไปเจรจากับฝ่ายต่างๆ"

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีควรเป็นเจ้าภาพหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ใครจะเป็นเจ้าภาพไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญ แต่ต้องดูที่เจตนารมณ์ทางการเมือง หากกระบวนการปฏิรูปการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมสนับสนุน หากรัฐบาลสนับสนุนก็จะทำให้งานเดินหน้าง่ายขึ้น ส่วนใครจะเป็นเจ้าภาพ เป็นกรรมการ หรือมีรูปแบบเหมือน ส.ส.ร. ก็ค่อยมาว่ากันอีกที ดังนั้น แนวทางนี้จะเป็นการช่วยคลี่คลายสถานการณ์การเมืองได้

วอนทุกฝ่ายร่วมคุยไม่ทำเพื่อตัวเอง

"แต่ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องมีการร่วมมือและจริงใจในการทำงาน ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเองก็ยังไม่ปฏิเสธ พรรคจะรอดูท่าทีของรัฐบาลก่อน"  นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า อย่าไปมองในแง่ลบว่านักการเมืองจะทำเพื่อตัวเองจนเกินไปเพราะในการปฏิรูปการเมืองปี 2540 ก็มีการกลัวกันมากว่านักการเมืองจะทำไม่สำเร็จ แต่ในที่สุดก็ไม่มีปัญหา เพราะทั้งหมดอยู่ที่เหตุผล และเนื้อหาสาระของข้อเสนอที่จะตามมา อยากให้ทุกฝ่ายมาตกลงในหลักการกันก่อนว่าจะใช้กระบวนการปฏิรูปการเมืองและนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความสมบรูณ์มากขึ้นในการปฏิรูปการเมือง และในระหว่างนี้จะต้องตกลงกันว่า จะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ในหลักการทุกฝ่ายต้องเร่งให้ความเห็นชอบ จากนั้น ค่อยมาคุยในรายละเอียด อย่าเพิ่งไปตั้งธง เพราะจะยิ่งทำให้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นความขัดแย้ง

จี้จัดการ "รายการความจริงวันนี้"

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายจตุพร และ นายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ พูดในรายการ "ความจริงวันนี้" ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เมื่อคืนวันที่ 26 กันยายน พรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลังกลุ่มพันธมิตรนครศรีธรรมราชว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรนครศรีธรรมราช รู้กันว่าเคลื่อนไหวโดยประชาชนที่บริสุทธิ์ อยากเรียกร้องไปถึงนายสมชาย ในฐานะผู้นำรัฐบาลและคนนครศรีธรรมราช ไปทบทวนและไปดูรายการความจริงวันนี้หรือความเท็จ หรือรายการบิดเบือนวันนี้เป็นรายการเดียวกัน ว่าสามเกลอหัวกลมปลุกระดมคนทั้งประเทศให้เกลียดชังคนนครศรีธรรมราช

ส.ว.เมืองคอนค้านให้นายกฯตั้งกก.อิสระ

นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กีฬา กล่าวว่า ส่วนตัวทั้งเห็นด้วยบางส่วนกับข้อเสนอของ 24 อธิการบดี แต่ข้อเสนอเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระมาปฏิรูปการเมือง หากให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคนเดียวเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไม่น่าจะถูกต้อง นายกฯควรเป็นเพียงผู้เสนอมาให้รัฐสภาแต่งตั้ง ซึ่งน่าจะได้การยอมรับมากกว่า เพราะรัฐสภาประกอบด้วยตัวแทนทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ส่วนคณะกรรมการชุดแรกที่เน้นความเป็นอิสระหรือเป็นกลางอาจหาได้ยากหากเริ่มต้นจากคนๆ เดียว เพราะผู้คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ยอมรับก็ได้ ดังนั้น ในการเสนอควรเสนอแต่งตั้งหลายคน

แนะตั้ง7ผู้อาวุโสสังคมเฟ้นกรรมการ

นายสิริวัฒน์กล่าวว่า เพื่อให้เป็นที่ยอมรับอาจจะเริ่มจากการตั้งแกนนำก่อน 7 คน ได้แก่ 1.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส 2.ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ 3.นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา 4.นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี 5.นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อาจารย์ และ 7. นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"และให้ 7 คนนี้เสนอรัฐบาลและรัฐสภาในแต่งตั้งคณะกรรมอิสระเพิ่มอีก 150 คน มาจากบุคคลหรือตัวแทนองค์กรที่หลากหลาย เช่น ผู้มีประสบการณ์ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผู้มีประสบการณ์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผู้มีประสบการณ์ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ตัวแทนกลุ่มพันธมิตร ตัวแทนกลุ่ม นปช. สมาพันธ์ประชาธิปไตยและเครือข่าย ตัวแทนสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน ส.ว. สื่อมวลชน ตลอดจนผู้นำทางองค์กรเศรษฐกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ฯลฯ กลุ่มละ 10 คน เพื่อมาประชุมกันและกำหนดกรอบทำงานในการปฏิรูปทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และปฏิรูปชุมชน ทั้งนี้ ได้หารือร่วมกันกับ ส.ว.และนักวิชาการเห็นด้วยกับแนวทางนี้ ซึ่งจะมีการขยายวงหารือเพื่อผลักดันแนวคิดนี้ต่อไป" ส.ว.นครศรีธรรมราชกล่าว

อดีตส.ส.ร.ชี้ใช้เวลานานกว่า120 วัน

นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ถือเป็นแนวคิดที่ดีอีกทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่านายกฯจะเห็นด้วยหรือไม่ หากเห็นด้วยก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอนส่วนรายละเอียดต่างๆ ก็ต้องมาคุยกันอีกครั้งหนึ่ง สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ขั้นตอนการดำเนินการนั้นไม่ใช่เพียง 120 วัน ตามที่มีข้อเสนอมาเท่านั้น โดยก่อนที่จะศึกษาก็ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมา ใครจะเป็นกรรมการ ประธานกรรมการ และการสรรหาจะมีวิธีการอย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร เมื่อได้คณะกรรมการแล้วก็ดำเนินการศึกษาให้เสร็จภายใน 120 วัน จากนั้นก็ให้ประชาชนลงมติ ซึ่งเชื่อว่า เกิน 120 วันอย่างแน่นอน ตนจึงบอกว่าเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์