เบื้องหลัง ทำไมนายกฯต้องสมัคร

แม้ความคิดเห็นของ ส.ส.พรรคพลังประชาชน จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ในการสนับสนุน "สมัคร สุนทรเวช" หัวหน้าพรรคให้กลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

โดยกลุ่มเหนือ-กลาง-อีสานเหนือ กว่า 100 คน แสดงจุดยืนไม่สนับสนุน "สมัคร" กลับมาเป็น "นายกรัฐมนตรี" หนที่ 2 โดยยกเหตุผลเรื่องกระแสต่อต้านจากสังคม พรรคร่วมรัฐบาล และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้งเรื่องใหญ่อย่างคดีหมิ่นประมาท นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ที่ศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำร้องขอเลื่อนฟังคำ พิพากษาในวันที่ 25 กันยายน

แต่อีกกลุ่มที่ประกอบด้วย กลุ่มเพื่อนเนวิน ที่ใกล้ชิดกับ นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งมี ส.ส.ในมือกว่า 80 คน

และกลุ่มเพชรบูรณ์ ของ "สันติ พร้อมพัฒน์" รมว.คมนาคม อีกกว่า 30 คนนั้น เดินเครื่องเต็มที่ที่จะผลักดัน "สมัคร" กลับมานั่ง "เก้าอี้นายกรัฐมนตรี" อีกครั้ง แม้จะรู้ว่านั่นเป็นการ "ราดน้ำมันลงบนกองไฟแห่งความขัดแย้ง" ก็ตาม ดูเหมือนว่าแนวคิดที่จะเข็น "สมัคร" กลับไปเป็น "นายกรัฐมนตรี" อีกครั้ง จะได้รับการสนับสนุนจากส่วนต่าง "10 กว่าเสียง" ของบรรดาแกนนำพรรคอย่าง "สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, สมชาย วงศ์สวัสดิ์" รองหัวหน้าพรรค หรือ "นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี" เลขาธิการพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีชื่อเป็นแคนดิเดตเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย

ด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างกัน คือ ในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ ไม่มีแกนนำพรรคพลังประชาชนคนไหนหาญกล้าเข้ามาถือ "เผือกร้อน"

และใน "สถานการณ์ร้อน" จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ "คนแก่พรรษาการเมือง" อย่าง "สมัคร" ที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว เข้ามารักษาการไปอีกระยะหนึ่ง เพื่ออาศัยความอึดให้ผ่านพ้นช่วงโยกย้าย "ข้าราชการระดับสูง" และได้เริ่มใช้ "พ.ร.บ.งบประมาณปี 2552" สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับอุบัติเหตุทางการเมืองอื่นๆ ไปให้ได้อีกระยะ

แน่นอนว่าสามารถใช้ตรงนี้เป็นข้อต่อรองกับ "พรรคร่วมรัฐบาล" อื่นๆ ได้อีกจุด เพราะในภาวะเช่นนี้ไม่มีนักการเมืองค่ายไหนอยากให้เกิดการ "ยุบสภา" และเลือกตั้งใหม่

แต่จุดที่สำคัญที่สุดน่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่ "ตุลาการภิวัตน์" ซึ่ง "บิ๊กพลังประชาชน" คิดว่าเป็นอุปสรรคกับความอยู่รอดของพรรค

หากย้อนไปตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคพลังประชาชน ก็มีทั้งคดีใบเหลือง-ใบแดง หลายพื้นที่ ส่งผลมาถึง "คดียุบพรรคพลังประชาชน" จาก "ใบแดง" ของ ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรองหัวหน้าพรรค ไล่มาจนคุณสมบัติรัฐมนตรี ที่ต้องกระเด็นออกจากตำแหน่งไป อย่าง "ไชยา สะสมทรัพย์" และ "วิรุฬ เตชะไพบูลย์" แม้กระทั่งคดีความต่างๆ ของ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่ล่าสุด ถึงกับยืนเหยียบอยู่บนผืนแผ่นดินไทยไม่ได้

สร้างความเจ็บปวดให้กับ "พลพรรค พปช." ไม่น้อย ดังนั้น ที่ผ่านมากิจกรรมหลายอย่างและคำพูดของแกนนำแต่ละคน จึงออกมาแบบที่มีกลิ่นของความท้าทาย "ตุลาการภิวัตน์"

แม้กระทั่ง "สมัคร สุนทรเวช" ยังเคยตำหนิอย่างรุนแรงถึง "คดีบางคดีไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญก็ยังเอาไปตัดสินกันได้" ในระหว่างการประชุมพรรคพลังประชาชน เพื่อเคลียร์ใจกับ ส.ส. กับข้อกล่าวหาเรื่อง "เอาใจออกห่าง" ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วงกลางเดือนสิงหาคม จนล่าสุด "คดีชิมไปบ่นไป" ก็ทำให้ "สมัคร" ต้องพ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ไปอย่างง่ายดาย ซึ่งได้ความสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับ "สมัคร" และ "พลังประชาชน" อย่างมาก

บรรดาแกนนำ "สายเหยี่ยว" จึงได้เตรียมการที่จะทำให้สังคม เห็นในสิ่งที่ "พรรคพลังประชาชน" อุปโลกน์ขึ้นมาว่าไม่เป็นธรรม

การดัน "สมัคร" ขึ้นมาเป็น "นายกรัฐมนตรี" อีกครั้ง ใน 3 วันให้หลังจาก "ศาลรัฐธรรมนูญ" วินิจฉัยให้ขาดคุณสมบัติ แล้วในขณะเดียวกัน วันที่ 25 กันยายน ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษาคดี "สมัคร" หรือไม่

จึงเป็นการเสี่ยงดวง บนความท้าทาย "ตุลาการภิวัตน์" อย่างยิ่ง

ซึ่ง "สมัคร" เองก็รู้ตัวดี เพราะในวงประชุมระหว่างแกนนำพรรคพลังประชาชนที่เข้าไปพบที่บ้านพักหมู่บ้านโอฬาร ซอย นวมินทร์ 81 เพื่อให้ "สมัคร" ได้ตัดสินใจว่าจะกลับมารับตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" อีกครั้งหรือไม่

จึงไม่แปลกที่มีคำพูดของ "สมัคร" เกี่ยวกับอนาคตของตัวเองที่แขวนไว้กับ "ตุลาการภิวัตน์" หลุดออกมาว่า "ขณะนี้สังคมจับตาดูอยู่ หากใครคิดที่จะกลั่นแกล้งก็คงอยู่ไม่ได้เหมือนกัน"


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์