รัฐสภาแห่งใหม่ บนน้ำตาชาว เกียกกาย

...เมื่อทราบว่าจะมีการเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ คนในชุมชนก็ไม่เห็นด้วยและต่างกินไม่ได้นอนไม่หลับ บางคนถึงขั้นเสียสติ ไม่รู้ว่าหากย้ายไปอยู่ที่วัดสลักเหนือจริง วิถีชีวิตจะเป็นอย่างไร ถ้าต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ก็ไม่เอา....


ยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ ท้ายสุดประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ "ชัย ชิดชอบ" ก็เจรจาต้าอ้วยกับประมุขฝ่ายบริหาร "สมัคร สุนทรเวช" เคาะเลือกพื้นที่ราชพัสดุทหาร ย่านเกียกกาย เนื้อที่ 119 ไร่ ตัดปัญหาความคับแคบของอาคารรัฐสภาย่านดุสิตแบบตัดช่องน้อยแต่พอตัว การผลักดันให้สร้างรัฐสภาแห่งใหม่นี้ถือเป็นนโยบายหลักที่ใครขึ้นมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรมักเข็นวาระสร้างรัฐสภาแห่งใหม่เสียทุกครั้ง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ถึงฝันเสียที

กระทั่งถึงสมัย "ชัย" จึงได้หยิบวาระนี้มาปัดฝั่นและเข็นอีกรอบ

คราวนี้ "ประธานชัย" หมายมั่นปั้นมือว่า "การสร้างสภาแห่งใหม่ถือเป็นความฝันของผม"ซึ่งก็เป็นดังหวังเมื่อ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา ครม.ไฟเขียวอนุมัติงบฯ 4,027 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ทว่ามติ ครม.ดังกล่าวได้ส่งผลให้ ร.ร.โยธินบูรณะ ร.ร.ขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) และชุมชุมย่านเกียกกายหลายพันรายต้องกลายเป็นผู้อพยพอย่างไม่รู้ตัวมาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจะงงงันเมื่อจะต้องถูกไล่รื้อ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้แม่บ้าน ขส.ทบ.รวมพลังเงียบเพื่อแสดงว่า "ไม่เอารัฐสภาแห่งใหม่บนความเดือนร้อนของประชาชน"

โดย "สุกาญจนา" ตัวแทนแม่บ้าน ขส.ทบ. เปิดเผยว่า หลังจากที่ทราบว่า จะมีการเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ คนในชุมชนก็ไม่เห็นด้วยและต่างกินไม่ได้นอนไม่หลับ

บางคนถึงขนาดเสียสติ เพราะไม่รู้ว่าหากย้ายไปอยู่ที่วัดสลักเหนือจริง วิถีชีวิตเราจะเป็นอย่างไร อีกทั้งเงินเดือนข้าราชการทหารก็น้อย ถ้าเราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นกับการใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งใหม่เราก็ไม่เอา
"แม้จะจ่ายค่าชดเชยมากแค่ไหนมันก็ไม่คุ้มกับการต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต ดังนั้น เราจึงอยากเจรจากับผู้ที่มีอำนาจว่า ขอให้ไปสร้างที่อื่นเถอะ จะทำให้ประชาชนเดือดร้อนทำไม หากยังยืนยันจะก่อสร้างตรงนี้ให้ได้ เราก็จะต่อต้านให้ถึงที่สุด จะยืดเยื้อแค่ไหนก็จะทำ ถ้ารัฐบาลมีงบประมาณจะสร้างรัฐสภาตรงไหนก็ได้ทำไมไม่ไปสร้างในพื้นที่ที่ไม่มีใครเดือดร้อน"

หลังจากที่ ครม.มีมติไฟเขียวให้ใช้พื้นที่ย่านเกียกกายสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ยิ่งทำให้ผู้ปกครองของนักเรียน ร.ร.โยธินบูรณะ และผู้ปกครองนักเรียน ร.ร.ขส.ทบ. โทรศัพท์มาสอบถามทางโรงเรียนจนสายแทบไหม้

ส่วนใหญ่ไม่มีใครเห็นด้วยกับการย้ายโรงเรียน ยิ่งเมื่อการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่นี้ไม่ผ่านการยอมรับจากคนในพื้นที่คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงยิ่งต้องเดือดร้อน
โดยมีเสียงสะท้อนจากพลังบริสุทธิ์จากรั้วโรงเรียน ขส.ทบ. อย่าง "ปิติพงศ์ ภู่ประเสริฐ" หรือ "กอล์ฟ" นักศึกษาแผนกช่างยนต์ ปวช.ปี 3 ที่ออกปากว่าไม่รู้เรื่องมาก่อนเลยว่าต้องย้ายไปเรียนที่อื่น แต่เมื่อรู้แล้วก็ตกใจ ยิ่งเมื่อคุยกับเพื่อนๆ ก็ไม่มีใครเห็นด้วย แต่เสียงพวกเราไม่ดัง หากต้องย้ายโรงเรียนไปที่วัดสลักเหนือ ก็ถือว่าไม่สะดวกต่อการเดินทาง เพราะไกลเกินไป

"ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมจะต้องใช้พื้นที่แห่งนี้สร้างรัฐสภา ซึ่งการอ้างว่ารัฐสภาแห่งใหม่จะเป็นหน้าตาประเทศชาตินั้น ผมเห็นว่าหน้าตาประเทศจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการบริหารงานของผู้นำประเทศ มันไม่เกี่ยวกับการมีอาคารใหญ่โตโอ่อ่า " กอล์ฟกล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น เสียงสะท้อนเหล่านี้ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ชัดเจนว่า การลงพื้นที่ชี้แจงต่อผู้ได้รับผลกระทบของ "นิคม ไวยรัชพาณิช" รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา "ล้มเหลวไม่เป็นท่า"

ถือเป็นคำถามคำโตต่อผู้ทรงเกียรติที่ถูกเลือกตั้งมาจากประชาชน แต่กลับจะใช้อำนาจขืนใจประชาชนให้ล่าถอยออกจากพื้นที่โดยไม่สมัครใจ

เชื่อว่าหากไม่เปิดโต๊ะเจรจากันอย่างเป็นทางการ ปัญหานี้ยิ่งจะบานปลาย เพราะในวันที่ประชาชนยังไม่สิ้นท่า แต่ผู้มีอำนาจกลับจะมัดมือชกด้วยการลงนามใน "เอ็มโอยู" ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ในวันที่ 15 ส.ค.เสียแล้ว
หากการลงนามใน "เอ็มโอยู" มีผลก็ไม่ต้องเอ่ยเลยว่าชะตากรรมของชาวชุมชนเกียกกายจะเป็นอย่างไร โดยคำตอบที่ได้คงเป็นถ้อยคำที่เจ็บปวดที่สุดของชาวเกียกกาย เพราะอาจเป็นการปาดน้ำตาหยดสุดท้าย เพื่อเสียสละพื้นที่ให้กับการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เพื่อให้ ส.ส.ที่เขาเลือกมากับมือได้ใช้สอยอย่างสมเกียรติ

 

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 15 สิงหาคม 2551 ฉบับที่ 11115

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์