แม้ว-อ้อขึ้นศาลคดีที่ดินรัชดา22ส.ค.

เวลา 09.30 น. วันที่ 5 ส.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง

นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานจำเลยครั้งที่ 2 คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานทุจริตซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกมูลค่า 772 ล้านบาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100 และ 122

โดยวันนี้ ทนายจำเลยนำพยานเข้าไต่สวนรวม 6 ปาก คือ

นายพัลลภ ศักดิ์โสภณกุล ผอ.กองกฎหมายและระเบียบ สำนักงบประมาณ ตัวแทน ผอ.สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง, นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นางดนุชา ยินดีพิธ รองผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง นายสาธร โตโพธิ์ไทย ผู้บริหารอาวุโสฝ่ายคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.), นายสุภร ดีพันธ์ เจ้าหน้าที่ ธปท. และนายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผอ.อาวุโสฝ่ายกฎหมายและคดี ธปท. ทั้งนี้ ศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยครั้งต่อไปวันที่ 15 ส.ค. เวลา 09.30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการไต่สวนพยานจำเลย เหลือวันนัดไต่สวนอีกเพียง 3 นัด คือ 15, 19 และ 22 ส.ค. ซึ่งเดิมทนายจำเลยเตรียมนำพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เข้าไต่สวนเป็นพยานจำเลยปากสุดท้าย ในวันที่ 22 ส.ค.

วันเดียวกัน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีศาลฎีกาส่งคำโต้แย้งของพ.ต.ท. ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 211 ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 100, 122 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 29, 50 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หรือไม่ และขัดหรือแย้งกับมาตรา 3, 38 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2549 และขัดหรือแย้งกับมาตรา 26 ,27 ,28, 29, 39 และ 43 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หรือไม่

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า มาตรา 4, 100, 122 ของพ.ร.บ.ป.ป.ช. ไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 26, 27, 28, 29, 39 และ 43 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550

เนื่องจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายป.ป.ช.ทั้ง 3 มาตรา มีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ ของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง รวมทั้งยังบัญญัติทางแก้ไขเพื่อความเป็นธรรมไว้ด้วยว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดพิสูจน์ได้ว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นยินยอมด้วยในการกระทำของคู่สมรสให้ถือผู้นั้นไม่มีความผิด ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวนั้นถือว่ามีขอบเขตที่พอเหมาะพอควร สมเหตุสมผล ไม่ล่วงละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จำกัดสิทธิเสรีภาพเกินจำเป็น

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์