เขมรมาเหนือเมฆ ร้องยูเอ็น เคลียร์ปมพระวิหาร

ผลจากที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หยิบยกประเด็นที่กัมพูชานำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

มาขยายผลจนบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา และระหว่างคนไทยด้วยกันเองในขณะนี้ ปรากฏว่า สถานการณ์ส่อเค้าไปกันใหญ่ เมื่อทั้งไทยและกัมพูชาต่างระดมกำลังตรึงตามแนวชายแดน เพราะหวั่นสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ โดยกัมพูชาก็มีความพยายามดึงต่างชาติเข้ามาหย่าศึก

ผบ.สส.มีธงเรื่องเขาพระวิหาร 

โดยเมื่อวันที่ 19 ก.ค. พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้เดินทางไปเจรจากรณีปราสาทพระวิหารกับ พล.อ.เตียบันห์ ที่ จ.สระแก้ว ในวันที่ 21 ก.ค.นี้ ว่ามีธงอยู่ในใจแล้ว ซึ่งจากการประชุมเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา มีจุดยืนอยู่แล้ว เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงเปลี่ยนท่าทีจากที่เคยเข้าข้างทางกัมพูชา แต่ตอนนี้มีการทำจดหมายตอบโต้กัมพูชาในลักษณะนั้น พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ก็ดีแล้ว อย่าไปถามถึงสาเหตุ หากทำไปดีแล้วก็อย่าถามว่าทำไม และยืนยันว่าจุดยืนของ กองทัพไทยและกองทัพบก เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 


ปากไม่หวาน ไม่ให้ความหวังใคร

เมื่อถามว่า การเจรจาในวันจันทร์นี้คือ เรื่องกำลังทหารและพื้นที่ทับซ้อนใช่หรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า จะพูดเฉพาะเรื่องการทหารเป็นหลัก เรื่องอื่นๆ ค่อยว่ากัน และยังไม่อยากพูดเรื่องถอนกำลัง เพราะเป็นเรื่องเซ็นซิทีฟ และขออย่าไปคิดมาก ทำไปตามหน้าที่ ซึ่งเราจะต้องทำความเข้าใจปัญหาซึ่งกันและกัน เพื่อหาทางออก โดยจะไปคุยเรื่องทหารอย่างเดียว ส่วนเรื่องของเขตแดนเป็นของกระทรวงการต่างประเทศ และการที่เสริมกำลังทหารเข้าไปก็ไม่มีผลต่อการเจรจา เพราะเราพูดกันรู้เรื่องอยู่แล้ว เราใช้ปัญญาไม่ได้ใช้กำลัง ซึ่งกำลังของไทยและของกัมพูชาที่อยู่ในพื้นที่นั้น ไม่มีปัญหาในเรื่องความรุนแรง ผู้บังคับบัญชาของแต่ละฝ่ายจะต้องช่วยกันลดอุณหภูมิ เพราะจะเกิดอารมณ์ง่าย จะต้องบังคับกันให้ดี ต่างคนต่างช่วยดูแลคนของอีกฝ่าย ท่านก็ไม่อยากให้มีเรื่อง เราก็ไม่อยากให้มีเรื่อง คงคุย กันได้ พร้อมกับย้ำด้วยว่า ตนไม่ใช่คนปากหวาน ไม่ชอบให้ความหวังกับใคร แต่ก็จะทำให้ดีที่สุด 

ชาติต้องการความสามัคคีมากที่สุด

เมื่อถามว่า การเจรจาครั้งนี้ เสนอตัวไปเองหรือมีใครสั่งให้ทำ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ตนเป็นคนไม่เสนอตัวอยู่แล้ว เป็นทหารเขาสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าอย่าไปเที่ยวอาสาทำโน่นทำนี่ ขณะเดียวกัน ก็ให้เกียรติหน่วยงานอื่น รวมถึงให้ความเชื่อมั่นเขาด้วย พร้อมทั้งระบุบ้านเมืองเราตอนนี้ ต้องการความรู้รักสามัคคีมาก ที่สุด อย่าให้เป็นช่วงที่เรามีความสามัคคีน้อยที่สุดในเมื่อเราต้องการความสามัคคีมากที่สุด เพื่อดูแลบ้านเมือง 

เน้นหารือเรื่องทางการทหาร 

ด้าน พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก เจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียม การไปร่วมประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชาว่า ตอนนี้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันในการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลในเรื่องต่างๆ โดยตนได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปเตรียมการประชุมให้พร้อมแล้วที่โรงแรมอินโดจีน ซึ่งข้อมูลจะเน้นในส่วนของกองทัพบก ทั้งนี้เรื่องที่จะนำไปหารือกันจะเป็นเรื่องทางการทหารจะคุยถึงปัญหาสถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ แต่จะไม่นำเรื่องการปักปันเขตแดนไปเจรจา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการปักปันเขตแดน ซึ่งเป็นเรื่องระดับนโยบายและกระทรวงการต่างประเทศจะเข้าไปพูดคุย  “ตอนนี้เราต้องเน้นแก้ไขปัญหาความตึงเครียดในพื้นที่ก่อน ส่วนเขตแดนต้องให้ระดับนโยบายไปเจรจา ดังนั้นการเจรจาครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของทหารเท่านั้น ซึ่งทหารเราพูดคุยกันจะเข้าใจกันง่าย เพราะที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพของ 2 ประเทศ เรียกได้ว่ามีความเเน่นเเฟ้นกันดีมาก  ส่วนเรื่องการถอนกำลังออกจากพื้นที่หรือไม่คงต้องไปพูดคุยกันในวันนั้นว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะเอาอย่างไร ซึ่งคิดว่าน่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ” พล.ท.นิพัทธ์กล่าว 

กองทัพไทยย้ำภารกิจกู้ทุ่นระเบิด

นอกจากนี้ในวันเดียวกัน กองทัพไทยมีหนังสือชี้แจงฉบับที่ 2 เกี่ยวกับการปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม ในพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร มีใจความว่า ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (Thai Mine Action Center:TMAC) ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน (Mekong Organization for Mankind :MOM) ได้เข้าเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแผนปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมประจำปี 2551 ซึ่งเป็นพันธะที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (อนุสัญญาออตตาวา) โดยได้เริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร ซึ่งอยู่ในเขตอธิปไตยของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2551 หนังสือดังกล่าว ยังระบุอีกว่า กองทัพไทยขอยืนยันว่าการปฏิบัติการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับราษฎรในพื้นที่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาออตตาวา และเป็นการดำเนินการในพื้นที่เขตอธิปไตยของประเทศไทย 

สำหรับผลการปฏิบัติ งานในห้วงแรกของหน่วยปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี ทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารประมาณ 910 ตารางเมตร กองทัพไทยจะแจ้งความคืบหน้าในการปฏิบัติงานให้ทราบตามโอกาสที่เหมาะสมต่อไป และขอความร่วมมือจาก ประชาชนในพื้นที่หากพบวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นวัตถุระเบิดกรุณาแจ้งได้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองรวมทั้งแจ้งที่กองกำลังสุรนารี หมายเลขโทรศัพท์ 0-4551-3639 เพื่อช่วยให้การดำเนินการเก็บกู้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือในการเก็บกู้ ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในครั้งนี้ และเพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวปลอดภัยจากวัตถุระเบิดตามแผนที่ได้วางไว้


เวรกรรมประเทศมีแต่เรื่อง

ขณะที่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ให้สัมภาษณ์ในรายการลับ ลวง พราง ทางสถานีวิทยุ 100.5 ถึงกรณีความขัดแย้งที่เขาพระวิหารว่า เป็นเวรกรรมของประเทศไทยที่ประดังเข้ามา ประชาชนจะอยู่อย่างสันติสุขก็มีเรื่องเข้ามาแล้วเป็นเรื่องใหญ่ๆทั้งนั้นทุกคนก็ไม่สบายใจ ตนเป็นทหารแก่ที่นั่งดูอยู่ก็ไม่สบายใจ เป็นเรื่องระดับชาติที่เราอาจจะต้องเสียใจ อยากจะเตือนผู้ที่มีอำนาจในขณะนี้ว่า การทำอะไรที่เกี่ยวกับอธิปไตยผืนแผ่นดินไทยจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ใช่ทำกันง่ายๆ แบบนี้ ซึ่งเราประกาศไว้เสมอว่าจะรักษามรดกของพระองค์ท่านไว้ด้วยเลือดและไม่ยอมเสียแผ่นดินไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว แต่ในขณะนี้อยู่ในสภาพที่จะเสียจริง ตนคิดว่าอยากฝากผู้มีอำนาจทุกคนเพราะเรื่องนี้มีความสำคัญที่สุดที่เกี่ยวกับอธิปไตยและเกียรติภูมิของคนไทย ที่บรรพบุรุษเราสะสมมานาน

หากตกลงกันไม่ได้มีสิทธิปะทะ

เมื่อพิธีกรในรายการถามว่า รัฐบาลและทหารจะต้องทำอย่างไร พล.อ.พัลลภกล่าวว่า รัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงผลได้ผลเสียที่ไปเจรจา ในกรณีของปราสาทพระวิหารก็รู้กันอยู่แล้วว่า ทำไปผิดขั้นตอนของรัฐธรรมนูญและในส่วนของทหาร เราที่มีหน้าที่ป้องกันอธิปไตยดินแดนของประเทศอยู่แล้ว วันนี้เขาก็ทำถูกต้องที่ขึ้นไปตรึงกำลังไว้ในพื้นที่ของเราไม่ให้อีกฝ่ายรุกล้ำเข้ามา ส่วนโอกาสเกิดการปะทะนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองประเทศจะยอมรับกันมากน้อยขนาดไหน ถ้าเรายืนยันว่านี่เป็นดินแดนของเรา หรือเขาก็ยืนยันว่าเป็นของเขา ถ้าตกลงกันไม่ได้โอกาสที่จะปะทะกันก็มีสูง แต่ถ้าให้เปรียบเทียบกัน ถ้าพูดถึงประชาชน เราเหนือกว่าเขาเยอะ กำลังรบเทคนิคเรามีมากกว่า เราถือไพ่เหนือกว่า 

เขมรฟ้องยูเอ็นเคลียร์เขาพระวิหาร 

ต่อมาในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้รับแจ้งจากนายดอน ปรมัตถ์วินัย เอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ว่ารัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นเรื่องให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ดูแลปัญหาเขาพระวิหาร ที่กำลังมีข้อพิพาทชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอยู่ในเวลานี้ และตนได้แจ้งเรื่องนี้ให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ทราบแล้ว คิดว่านายกฯ น่าจะชี้แจงเรื่องนี้ในรายการ “สนทนาประสาสมัคร” ในวันที่ 20 ก.ค. อย่างไรก็ตาม นายดอนไม่ได้แจ้งว่าชนวนเหตุที่ยื่นเรื่องให้ยูเอ็นเข้ามาจัดการปัญหาครั้งนี้ มาจากอะไร แต่ส่วนตัวมองว่าสาเหตุที่กัมพูชายื่นเรื่องต่อยูเอ็นให้เข้ามาจัดการปัญหาเขาพระวิหาร เนื่องจากไม่พอใจที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พากลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปกดดันในบริเวณพื้นที่เขาพระวิหาร เพราะที่ผ่านมาความสัมพันธ์ ระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นไปด้วยดีมาตลอด จนกระทั่งกลุ่มพันธมิตรฯ พาผู้ชุมนุมเข้ามา ทำให้สถานการณ์กดดันมากขึ้นอยากให้กลุ่มพันธมิตรฯเลิกสร้างความกดดันแก่ทหารกัมพูชา ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายทหาร และกระทรวงการต่างประเทศดีกว่า 

วอน “จำลอง” อย่าชักศึกเข้าบ้าน 

“อยากบอก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ว่าขอให้เรียกกลุ่มพันธมิตรฯ กลับที่ชุมนุมได้แล้ว อย่าชักศึกเข้าบ้านให้หยุดได้แล้ว อย่าทำให้ทหารเดือดร้อน คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน ถ้าหากยูเอ็นส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาในพื้นที่จะเกิดอะไรขึ้น ประเทศไทยคงขายขี้หน้าไปทั่วโลก เพราะทุกพื้นที่ที่มีกรณีข้อพิพาทชายแดนแล้วทั้งสองประเทศไม่สามารถตกลงกันได้ ยูเอ็นจะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา” พล.ต.ท.วิเชียรโชติกล่าว 


ปชป.แนะให้ยึดข้อตกลงปี 2543

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และก่อให้เกิดสถานการณ์ บานปลายที่นำไปสู่ความรุนแรงระหว่างไทย-กัมพูชาว่า พรรคขอเรียกร้องใน 2 ประเด็น คือ 1. ขอให้คนไทยทุกฝ่ายยุติการดำเนินการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความตึงเครียด และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้รับผิดชอบต่อสถานการณ์ 2. สนับสนุนการจัดประชุมร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อหารือถึงเรื่องหนังสือตอบโต้ระหว่างผู้นำไทยและกัมพูชา เพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธี โดยขอให้ฝ่ายไทยสร้างความเข้าใจที่ตรงกันว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย.2551 ที่เป็นหนังสือสัญญาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดกับความรู้สึกของประชาชน ชาวไทยนั้น ไม่มีผลของการบังคับใช้อีกต่อไป และให้ เจรจาโดยยึดบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 2 ประเทศเมื่อปี 2543 ที่ดำเนินการในสมัยที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็น รมว.ต่างประเทศ ที่มีสาระว่าทั้ง 2 ประเทศยอมรับว่า มีปัญหาเกี่ยวกับเขตแดนที่ทับซ้อน และเห็นด้วยที่จะมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อสำรวจ และในระหว่างที่สำรวจจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นที่ที่เป็นปัญหา ซึ่งหากยึดในแนวทางนี้ก็จะไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน

กระฉ่อนทั่วโลก “ไทย-เขมร” ตึงเครียด 

อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกัน สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพีรายงานสถานการณ์ริมชายแดนไทยและกัมพูชาว่า เริ่มตึงเครียดมากขึ้น เมื่อทั้งสองประเทศต่างก็ระดมกำลังทหารเข้ามาในบริเวณดินแดนพิพาทปราสาทพระวิหาร โดยนายพลจัตวาเจีย เกียว ผบ.ทหารกัมพูชาประจำจังหวัดพระวิหาร ระบุว่า ทหารไทยประมาณ 400 นาย ตาม มาสมทบกับทหารรักษาการณ์ ซึ่งมีอยู่แล้ว 100 นาย ที่บริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหารเมื่อวันที่ 18 ก.ค. แต่ไม่แน่ใจว่ามีทหารซุ่มอยู่ในป่าอีกเป็นจำนวนเท่าไหร่ ส่วนฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมเปิดเผยว่ามีทหารกี่นายในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว แต่ตำรวจปราบจลาจลกัมพูชาตามมาสมทบอีกหลายร้อยนาย รวมแล้วเป็นพันนาย ส่วน รมว. มหาดไทยกัมพูชา พยายามรักษาสถานการณ์ ไม่ให้ตึงเครียด โดยกำชับเจ้าหน้าที่ ซึ่งทำงานในเขตพิพาทระมัดระวังและรักษา “ความสัมพันธ์อันดี” รวมถึงหลีกเลี่ยง “การปะทะด้วยความรุนแรง” ให้ได้ และตัวแทนของไทยและกัมพูชามีกำหนดเจรจาในวันที่ 21 ก.ค. เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน 

เขมรไม่ปลื้มคำโผ “สมัคร”

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กัมพูชาไม่เปิดเผยนามรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอเอฟพี ยืนยันว่าสถานการณ์ ดินแดนข้อพิพาท “ไม่เปลี่ยนแปลง” แต่ชาวกัมพูชาไม่พอใจบันทึกข้อความที่นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ของไทย ส่งผ่านนายเตีย บันห์ รมว.กลาโหมกัมพูชา ไปยังนายกฯ ฮุน เซน เมื่อวันที่ 17 ก.ค. โดยเนื้อหาในบันทึกข้อความระบุว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างของชุมชนชาวกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือบ้านเรือนของประชาชน รวมถึงหน่วยงานทหารในบริเวณดังกล่าว เป็นการละเมิดอธิปไตยของไทย และทำลายความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพื้นที่ ทั้งนี้ สาส์นของนายฮุน เซน ส่งมาถึงนายสมัครเมื่อวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าความสัมพันธ์ของไทยและกัมพูชาแย่ลง นับตั้งแต่ทหารไทยยกกำลังเข้าบุกรุกดินแดนจังหวัดพระวิหารของกัมพูชา นายสมัครจึงตอบโต้ว่า การสั่งเพิ่มกำลังทหารกัมพูชาในพื้นที่ มีส่วนทำให้สถานการณ์ ระหว่างสองประเทศเลวร้ายลงเช่นกัน แม้ว่าเนื้อหาในบันทึกข้อความเรียกร้องให้ทั้ง 2 ประเทศหาทางยุติข้อพิพาทร่วมกันอย่างสันติ แต่นายสมัครอ้างว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายละเมิดข้อตกลงก่อน ซึ่งนายพลเจีย เกียว แย้งว่าหากพิจารณาจากแผนที่ ถือว่าดินแดนที่เป็นข้อพิพาทคือส่วนหนึ่งของกัมพูชา 

สื่อนอกวิเคราะห์เจ็บตัวทั้งสองฝ่าย

ขณะที่สำนักข่าวเอพีรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า กรณีพิพาทครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ โดยแรงงานชาวไทยกว่า 200 คน เดินทางกลับจากกัมพูชา เพราะเกรงว่าจะได้รับอันตราย แต่ยังหวังว่าจะได้กลับ ไปทำงานที่กัมพูชาอีกครั้งเมื่อสถานการณ์สงบลง


เขมรดึงต่างชาติช่วยแก้ปัญหา

นอกจากนี้ มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการทูตจาก 4 ประเทศประจำกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ฝรั่งเศส และเวียดนาม ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากกรุงพนมเปญ มายังชายแดนไทย-กัมพูชา เมื่อเวลาประมาณ 17.20 น. เพื่อเพิ่มแรงกดดันทางการทูต หวังยุติการเผชิญหน้าระหว่างทหารไทยและกัมพูชา หลังฝ่ายไทยส่งทหาร 500 คนไปประจำการบริเวณรอยต่อปราสาทพระวิหาร และฝ่ายกัมพูชาสั่งเพิ่มตำรวจปราบจลาจลกว่า 1,000 คนเข้าตั้งรับเมื่อ 18 ก.ค.ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดขึ้น ทั้งนี้ ทูตทั้งสี่ประเทศเดินสำรวจรอบๆบริเวณและถ่ายภาพเก็บไว้ แต่ปฏิเสธการพูดคุยกับผู้สื่อข่าว ส่วนนายเสา โสกา ผบ.ตร.กัมพูชา กล่าวกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า ได้หารือกับ พันเอกชยันต์ ห้วยสูงเนิน เมื่อช่วงเช้าเพื่อเจรจาหาทางหลีกเลี่ยงการปะทะ พร้อมระบุว่าไม่ควรปล่อยให้กอง กำลังของทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน เพราะการเปิดศึกระหว่างประเทศเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ 

ทหารเข้มห้ามขึ้นเขาพระวิหาร 

สำหรับสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ใน จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณด่านค่าธรรมเนียม อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร มีทหารพรานมาคุมเข้ม ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปในบริเวณอุทยานฯอย่างเด็ดขาด อนุญาตให้เฉพาะรถบรรทุกและรถบัสที่ลำเลียงกำลังพลเข้าไปเสริมในเขตพื้นที่ผามออีแดงเท่านั้น ส่วนรถของแม่ค้าพ่อค้าที่ขายของที่ลานจอดรถผามออีแดง ต่างขนข้าวของเครื่องใช้ โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องครัวลงจากลานผามออีแดงกลับบ้านกันหมด ขณะที่บนผามออีแดง มีรถปิกอัพและรถบัสบรรทุกทหารพรานเต็มรถขึ้นไปเสริมกำลังเป็นระยะ พร้อมอาวุธปืนใหญ่อีก 5 กระบอก และฝ่ายทหารยังได้ขอร้องให้คณะธรรมยาตราที่ปฏิบัติ ธรรมประท้วงอยู่บนผามออีแดงให้ลงไปปฏิบัติธรรม อยู่ข้างล่าง เพราะเกรงจะเกิดอันตรายหากเกิดเหตุการณ์ สู้รบขึ้น แต่นายสมาน ศรีงาม แกนนำกลุ่มธรรมยาตราไม่ยอม อ้างว่าจะปักหลักต่ออยู่ร่วมกับทหารต่อไป 

ผู้ชุมนุมรุกไม่เลิกจี้ทหารยึดแผ่นดินคืน

สำหรับกลุ่มเครือข่ายประชาชนคนกันทรลักษ์พิทักษ์ เขาพระวิหาร ก็ได้งดการเคลื่อนไหวบนผามออีแดง หลังถูกม็อบต่อต้านเมื่อวันก่อน เลยหันมาตั้งเวทีสันติภาพที่ศาลหลักเมืองหน้าที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์แทน พร้อมกันนี้ ทางกลุ่มเครือข่ายประชาชนคนกันทรลักษ์ฯ ยังได้ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ผบ.ทบ. เรียกร้องให้ทหารเข้าจัดการยึดพื้นที่คืนจากกัมพูชา โดยผลักดันให้ชาวกัมพูชาย้ายออกจากดินแดนทับซ้อนให้หมดและทางกลุ่มฯ จะจัดผ้าป่า “สันติภาพ” เพื่อนำเงินไปมอบให้ทหารที่ตรึงกำลังอยู่บนเขาพระวิหาร และทำบุญกับพระที่อยู่กับกลุ่มธรรมยาตรา 

คุมเข้มโรงแรมที่หารือ 2 บิ๊ก

ส่วนความเคลื่อนไหวด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงแรมอินโดจีน สถานที่สำหรับประชุมแก้ปัญหาเข้าพระวิหารระหว่าง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.ทหารสูงสุดของไทย กับ พล.อ.เตีย บันห์ รมว.กลาโหมของกัมพูชา ได้มีการเตรียมรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ โดย พ.ต.ศลิษฏพงษ์ แก้วพิลา ผบ.ร้อย ทพ.ที่ 1201 ฉก.กรม.ทพ.ที่ 12 กกล.บูรพา นำกำลังทหารพรานตั้งด่านตรวจค้นอย่างเข้มงวดบริเวณหน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ พร้อมออกลาดตระเวนตามตะเข็บแนวชาย-แดนเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวเขมรลักลอบเข้ามาในประเทศโดยผิดกฎหมาย ขณะที่ พล.ต.ต.อิทธิพล พิริยะภิญโญ ผบก.ภ.จ.สระแก้ว เปิดเผยว่า จากการที่ ผบ.ทหารสูงสุดของไทยจะประชุมหารือกรณีเขาพระวิหารกับ รมว.กลาโหมของกัมพูชาที่โรงแรมอินโดจีนในวันที่ 21 ก.ค.นั้น ทางตำรวจสระแก้วได้เตรียมความพร้อมและเตรียมกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ทั้งในและนอกโรงแรม แถมยังมีชุดเคลื่อนที่เร็วไว้ที่ สภ.คลองลึกด้วย รวมทั้งตาม เส้นทางจากด่านพรมแดนอรัญประเทศ จนถึงโรงแรมอินโดจีนมีกำลังตำรวจตลอดเส้นทาง ส่วนปัญหาที่มีข่าวว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะมาชุมนุมประท้วง รมว.กลาโหมของกัมพูชาที่โรงแรมฯนั้น ยังไม่ได้รับรายงาน แต่เพื่อความไม่ประมาทได้จัดกำลังไว้รักษาความสงบเรียบร้อยไว้ทุกขั้นตอนแล้ว 


ปล่อยข่าวป่วนหวังเขมรเกลียดไทย

ที่บริเวณหน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ ยังคงมีชาวเขมรนับพันเดินทางเข้ามาซื้อสินค้าในตลาดโรงเกลือ ส่วนใหญ่ ได้ซื้อสินค้าประเภทอาหารแห้ง และอาหารสดกลับไปกักตุนไว้ที่ฝั่งกัมพูชาจำนวนมาก เนื่องจากเกรงว่า หากเกิดเหตุรุนแรงเรื่องเขาพระวิหารอาจทำให้ด่านชายแดนอรัญประเทศถูกสั่งปิด นอกจากนี้ ในฝั่งปอยเปตมีการปล่อยข่าวห้ามชาวกัมพูชาเข้ามาซื้อผลไม้ในตลาดโรงเกลือโดยอ้างว่าพ่อค้าผลไม้ชาวไทยได้ฉีดสารอันตรายใส่ในผลไม้ เช่น ทุเรียน และมังคุด ทำให้ชาวเขมรกินแล้วเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย จากกระแสข่าวดังกล่าวทำให้ผลไม้ ในตลาดโรงเกลือถึงกับขายไม่ออก ซึ่งพ่อค้า แม่ค้าชาวไทยเชื่อว่าเป็นการปล่อยข่าวเพื่อทำให้ชาวกัมพูชาเกลียดคนไทย 

ปิดสนามบินขวางแกนนำพันธมิตรฯ

ด้าน จ.เชียงราย ที่ท่าอากาศยานเชียงราย อ.เมืองเชียงราย กลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนรัฐบาลจากเครือข่ายคนเจียงฮายฮักประชาธิปไตย กว่า 1,000 คน ชุมนุมปิดทางเข้าท่าอากาศยานเชียงราย เพื่อตรวจสอบรถยนต์ที่ขับออกจากสนามบินเพื่อหาตัวนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว.เชียงราย และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ที่จะเดินทางไปเป็นวิทยากรในการสัมมนาของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่โรงแรมวังคำ อ.เมืองเชียงรายเพื่อขัดขวางไม่ให้บุคคลทั้งสามไปร่วมงานสัมมนาสร้างความตื่นตกใจให้กับผู้ที่ขับรถผ่านออกจากสนามบินเป็นอย่างมาก พร้อมกันนี้ทางกลุ่มฯ ยังปราศรัยโจมตีกลุ่มพันธมิตรฯอย่างดุเดือด ซึ่งภายหลังบุคคลทั้งสามไม่ได้ เดินทางมา ทั้งหมดจึงยกขบวนไปปักหลักที่สวนสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนธนาลัย เทศบาลนครเชียงราย เพื่อสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมจากกลุ่ม 24 มิถุนา เพื่อขัดขวางการจัดสัมมนาของกลุ่มพันธมิตรฯ สุดท้ายการสัมมนาของกลุ่มพันธมิตรฯต้องยกเลิกไปโดยปริยาย

พธม.โต้ นปก.รักทั้ง 3 สถาบัน 

สำหรับบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 ก.ค. ยังคงมีผู้ชุมนุมปักหลัก อยู่อย่างเหนียวแน่น ส่วนบนเวทีก็ยังคงมีการปราศรัยสลับกับการเล่นดนตรีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงค่ำวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา  จะมีกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการประมาณ 300 คน มาป่วนก็ตาม ต่อมาเมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่า ในขณะที่กลุ่มคนวัน เสาร์ฯ มายื่นหนังสือกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อให้ ยุติการชุมนุมก่อนในวันที่ 12 ส.ค.ที่จะถึงนี้  ถ้าหากไม่ หยุดการชุมนุมอาจแสดงถึงความไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ขอบอกว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ยังคงแสดง ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์  ที่ปักหลักชุมนุม เพื่อต้องการกระตุ้นให้รัฐบาลได้ใส่ใจในเรื่องที่เกิดขึ้นกับ ประเทศ เรื่องที่มากล่าวหาจึงไม่เป็นความจริง กลุ่มพันธมิตรฯ เคยบอกไว้แล้วว่าการชุมนุมในครั้งนี้ เพราะต้องการรักษา 3 สถาบัน ไม่ว่าจะเป็นชาติ หรือศาสนา โดยเฉพาะสถาบันพระมหากษัตริย์


รับคุมไม่ได้ขัดแย้งเขาพระวิหาร 

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการประเมินสถานการณ์หรือประสานงานกับกลุ่มพันธมิตรฯที่ชายแดน จ.ศรีสะเกษ หรือไม่ เพราะมีรายงานว่ากัมพูชามีการเพิ่มกำลังทหารตามแนวเขตแดนแล้ว พล.ต.จำลองตอบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล และทหารที่จะต้องจัดการ กลุ่มพันธมิตรฯ ได้บอกมานานแล้วว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ  ขณะนี้ได้รับความสนใจมากจากรัฐบาลและทหาร ถือว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องแล้ว ซึ่งนายพิภพ ธงไชย หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ เคยบอกแล้วว่าเป็นความริเริ่มของประชาชนจากต่างจังหวัด  ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯไม่ได้มีการลงทะเบียนว่าสมาชิกมีใครบ้าง เพราะทั่วประเทศมีเป็นแสนเป็นล้านคน ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า คิดอย่างไรกับเหตุการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา พล.ต.จำลอง ตอบว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ต้องมาร่วมกันพิจารณากัน ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ประจำจังหวัด ต้องเข้ามาดูแลกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งประชาชนที่อยู่บริเวณดังกล่าวด้วยว่า ไม่ควรจะให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ซึ่งมันนอกเหนือจากอำนาจของกลุ่มพันธมิตรฯ เราไม่ได้มีกำลังมากมายอะไร  ที่จะไปดูแลจุดนั้นจุดนี้  เป็นความริเริ่ม ของแต่ละจังหวัดที่ต่างคนต่างก็หวังดี โดยแสดงออกมาให้เห็นถึงความรักชาติ ศาสนาและสถาบันกษัตริย์ 

ปัดสวะให้ ตร.-ผวจ.ศรีสะเกษดูแล

ต่อข้อถามอีกว่า ในฐานะที่เป็น 5 แกนนำพันธมิตรฯ มีการปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางในการลดความขัดแย้งหรือไม่อย่างไร แกนนำพันธมิตรฯ ตอบว่าจะเข้าไปควบคุมได้อย่างไร เราควบคุมเขาไม่ได้  สั่งใครไม่ได้ที่มาชุมนุมกันเพราะว่าความสมัครใจเป็นเสรีภาพแต่ละบุคคล เราไม่ใช่หน่วยงานราชการ ไม่ใช่กองทัพที่มีการควบคุมด้วย ผู้บังคับบัญชาโดยตรง สำหรับเรื่องเมื่อคืนวันที่ 18 ก.ค. ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มารักษาความปลอดภัยที่สะพานมัฆวานฯ ที่มีกลุ่มมาก่อกวน  ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็มาดำเนินการทำให้สถานการณ์เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจในต่างจังหวัด  รวมทั้งผู้ว่าฯ  ของ  จ.ศรีสะเกษ เป็นแบบเมื่อคืน เหตุการณ์ร้ายๆ คงไม่เกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจรู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว  จึงขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะวางกองกำลังออกมาสกัดกั้นหรือไม่อย่างไร 

“บักใส” ชี้เขมรได้คืบจะเอาศอก 

ต่อมาในช่วงค่ำ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนิน ยิ่งคึกคัก มีประชาชนมาร่วมฟังการปราศรัยเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของกลุ่มการ์ดพันธมิตรฯอย่างเข้มงวด โดยนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่ม พันธมิตร เปิดแถลงข่าวถึงกรณีเขาพระวิหารว่า เชื่อว่าการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาในวันที่ 21 ก.ค.นี้ กัมพูชาจะยังยืนยันมีอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อน ประเภทได้คืบเอาศอก ได้ปราสาทไปแล้วจะเอาพื้นที่โดยรอบ จะมาให้ไทยถอนทหารออกจากพื้นที่ รัฐบาลไทยควรจะบอกให้คนเขมรที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนออกไป และต้องไม่เปิดทางให้คณะกรรมการ 7 ประเทศ เข้ามาพัฒนาพื้นที่ ถ้านโยบายต่างประเทศไม่แข็งพอไทยจะเสียพื้นที่ตามตะเข็บชายแดนอีกนับแสนไร่ เพราะเขมรจะอ้างกรรมสิทธิ์เหมือนกรณีเขาพระวิหาร แต่ขณะนี้ประชาชนไม่มีความหวังกับรัฐบาลแล้ว ภารกิจนี้ต้องเป็นหน้าที่ ของทหาร ไม่จำเป็นต้องประกาศสงคราม แต่ต้องแสดงความเข้มแข็ง โดยเอาบทเรียนจากนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ทำให้ไทยต้องเสียสิทธิอันพึงมีในประสาทพระวิหารไว้เตือนสติ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส.ต้องแสดงจุดยืนว่ามีสาระสำคัญที่จะไปเจรจากับเขมรคืออะไร และรัฐบาลบอกได้ไหมว่าทำไมนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จึงต้องเดินทางมาพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 9 ส.ค. ซึ่งคงหนีไม่พ้นเรื่องการบริหารพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน ระหว่างมหาอำนาจในคณะกรรมการ 7 ชาติ 

หนุน “สมเกียรติ” สู้คดีหมิ่นฯ

นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่พรรคพลังประชาชน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล กำลังกดดันด้วยการเข้าชื่อถอดถอน และตรวจสอบบทบาทของนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำทั้ง 4 คน พร้อมที่จะสนับสนุนนายสมเกียรติ เหมือนเดิม แม้นายสมเกียรติจะเป็น ส.ส. แต่มีส่วนสำคัญในการต่อตั้งกลุ่มพันธมิตรฯ ถ้าประชาชนให้ความเป็นธรรมก็ควรจะแยกแยะออก ต้องวัดกันว่าใครทำอะไรเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อส่วนตัว อยากถามว่าทำไมตอนนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นสถาบัน จึงไม่มีคนในพรรคพลังประชาชน หรือ ส.ส.รัฐบาลออกมากดดันให้ลาออก ที่นายจักรภพต้องออกไปเป็นเพราะแรงกดดันจากประชาชนและพันธมิตรฯ แต่เวลานี้กลับจะเอาเรื่องนี้มากดดันนายสมเกียรติ และพันธมิตรฯไม่ได้หวั่นไหวจากการถูกโจมตีในเรื่องนี้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์