ปชป.ดักคอนพดลไม่รอดแน่!ถ้าเขมรทำสำเร็จ รบ.ขิงแก่ปัดเซ็นยินยอมแค่เห็นพ้อง

รบ.ขิงแก่รุมอัด 'นพดล' ผิดไม่รอบคอบ เร่งรีบเซ็นสัญญา 'ปราสาทเขาพระวิหาร' ชี้รบ.สุรยุทธ์แค่เห็นพ้องแต่ไม่ได้ยินยอม 'แม้ว' อุ้ม 'นพดล' ทำตาม 'รบ.เก่า' 'สมัคร'ห่วงเป็นประเด็นการเมือง ปชป. ชี้พิรุธ 'นพดล' เร่งมือยิกตามเส้นตาย ถ้า 'เขมร' ทำสำเร็จหนีรับผิดชอบไม

'นิตย์'โต้หนุนพระวิหาร'มีเงื่อนไข'

นายนิตย์ พิบูลสงคราม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ตอบโต้นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า การลงนามในมติคณะกรรมการการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ คณะกรรมการมรดกโลกสมัยประชุมที่ 31 เมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2550 สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นการสนับสนุนแบบมีเงื่อนไข ว่าไทยเห็นด้วยว่าปราสาทพระวิหารมีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือในหลายด้าน ทั้งเรื่องการเงินและเรื่องเทคนิค แต่การดำเนินการต่างๆ เหล่านั้นจำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างไทยและกัมพูชา นอกจากนี้ ยังเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นคือการที่ทั้งสองประเทศต้องร่วมกันจัดทำแผนการบริหารพื้นที่ซึ่งมีความเหมาะสมด้วย 'หากกัมพูชาไม่ดำเนินการเราก็มีสิทธิที่จะบอกว่าเราไม่เห็นด้วย' นายนิตย์กล่าว

ทั้งนี้ การให้สัมภาษณ์ของนายนิตย์ครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังนายนพดลระบุ ระหว่างวันที่ 23 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2550 มีการประชุมคณะกรรมการการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ คณะกรรมการมรดกโลกสมัยประชุมที่ 31 เมืองไครส์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ มีการลงนามในมติคณะกรรมการในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ว่า 'รัฐภาคีกัมพูชา และรัฐภาคีไทยเห็นพ้องอย่างเต็มที่ว่า ปราสาทพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ มีคุณค่าสากลที่โดดเด่นและจะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยเร็วที่สุด ดังนั้นไทยและกัมพูชาตกลงกันว่ากัมพูชาจะเสนอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการในสมัยประชุมที่ 32 ของคณะกรรรมการมรดกโลกในปี 2551 โดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากไทย' ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่า การเดินทางไปแคนาดาระหว่างนี้ จะขอเลื่อนการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเรื่องนี้ออกไป และไม่ให้แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองได้หรือไม่

อดีตกุนซือชี้'นพดล'นั่นแหละผิด

พล.อ.วัธนชัย ฉายเหมือนวงศ์ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า สมัยนั้นมีการสนับสนุนกัมพูชาเพื่อขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกจริง แต่เป็นการยินยอมที่จะขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกันเท่านั้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมหากมีการขึ้นทะเบียนร่วมกัน แต่ภายหลังประเทศกัมพูชาได้ไปเสนอขอขึ้นทะเบียนแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นได้ทำเรื่องประท้วงและคัดค้านการกระทำของกัมพูชา ทำให้ทางยูเนสโกให้ทั้งไทยและกัมพูชามาตกลงกัน จนล่าสุดนายนพดลได้ไปเซ็นลงนามร่วมกับกัมพูชาในที่สุด

'นายนพดลทำผิดหลายข้อ ถือว่าไม่รอบคอบ รีบร้อนที่จะเซ็นเพื่อผลประโยชน์ ความจริงควรจะพูดกันมากกว่านี้ ตกลงในรายละเอียดให้แน่ชัดจึงจะเซ็นร่วมกันได้ คิดว่านายนพดลรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการเซ็นเพื่อสนับสนุนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเท่านั้น ไม่ได้เป็นการยินยอมให้ขึ้นทะเบียนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่การเซ็นสัญญาร่วมกันระหว่างประเทศครั้งนี้ ถือเป็นสนธิสัญญา ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่นายนพดลไปร่วมลงนามก่อนที่รัฐสภาจะรับทราบ จึงเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกล่าว และว่า ความจริงเป็นสิทธิของไทยที่จะไม่ยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะตามหลักกฎเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุเป็นมรดกโลกจะต้องได้รับความเห็นร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ และขึ้นอยู่กับข้อตกลงของทั้ง 2 ประเทศ แต่เมื่อนายนพดลเซ็นลงนามร่วมไปแล้วคงแก้ไม่ได้ และขณะนี้ถือว่าทางกัมพูชาได้เปรียบ ไทยต้องรีบนำคำสั่งของศาลปกครองไปชี้แจงยูเนสโก้

ชี้ตีความได้แต่ต้องรับกติกา

นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในเวลานี้ ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่การตีความ ทั้งการตีความด้านกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การตีความว่าเรื่องดังกล่าวเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายตามมาตรา 190 ของ รัฐธรรมนูญปี 2550 การตีความในรายละเอียดของผลการเจรจา และผลสืบเนื่องต่างๆ

การตีความที่ต่างกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ท้ายที่สุดก็จะมีผู้ที่ตัดสิน และทุกฝ่ายก็ควรยอมรับข้อยุติดังกล่าว เพื่อเดินหน้าปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยสอดคล้องต่อไป โดยเฉพาะคำตัดสินของศาลปกครอง คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกลไกตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่ทุกฝ่ายรวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเคารพและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังเช่นที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้ระงับการอ้างหรือใช้ประโยชน์และการดำเนินการใดๆ อันเกี่ยวเนื่องกับมติ ครม. ในเรื่องการลงนามในแถลงการณ์ร่วม กระทรวงการต่างประเทศก็ได้ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด รวมทั้งได้แจ้งขอให้ระงับผลการใช้บังคับของคำแถลงการณ์ร่วมไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว

ชัดตลอดให้ขึ้นร่วมแต่'เขมร'ไม่ยอม

ทั้งนี้ ปัญหาการตีความก็ยังได้เกิดกับกรณีหลังสุด เมื่อมีการกล่าวถึงข้อมติของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 31 ที่เมืองไครสท์เชิร์ช ก็มีการตีความว่า ข้อมติดังกล่าวเป็นเงื่อนไขว่ากัมพูชาจะขึ้นทะเบียนปราสาทได้จะต้องได้รับการสนับสนุนจากไทยก่อน เป็นต้น ในประเด็นนี้ ขอให้ข้อมูลในภาพรวมว่า ไทยมีท่าทีที่แสดงออกอยู่เสมอว่า สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เนื่องจากมีคุณค่าในเชิงโบราณคดีที่ควรเป็นมรดกแห่งมนุษยชาติ แต่ต้องไม่กระทบต่อเรื่องเขตแดน รวมทั้งไทยก็เป็นฝ่ายที่แสดงเจตจำนงมาโดยตลอดว่า ควรจะขึ้นองค์ประกอบทั้งหมดร่วมกัน ซึ่งรวมหมายถึง สระตราว สถูปคู่ แหล่งตัดหนิ ภาพสลักนูนต่ำ และอื่นๆ ที่อยู่ในเขตแดนไทยด้วย เพื่อความสมบูรณ์ แต่ก็ด้วยท่าทีของฝ่ายกัมพูชาที่เห็นว่า ควรต่างคนต่างขึ้น จึงเป็นที่มาของปัญหาของการที่จะขึ้นร่วมจนวันนี้ 

นายธฤตกล่าวว่า ขณะนี้กำลังจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 32 ที่เมืองควิเบก คาดว่าจะถึงวาระการประชุมหัวข้อนี้ในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ หรือวันที่ 7 กรกฎาคมตามเวลาในไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ยืนยันว่าจะไปดำเนินการมติ ครม. วันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งคงจะต้องติดตามผลในเรื่องนี้ต่อไป

'สมัคร'ห่วงเป็นประเด็นการเมือง

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับคณะของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ที่ร้านอาหารบ้านกลางน้ำ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากลงเรือดูสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่แล้วว่า เป็นห่วงกรณีเขาพระวิหาร 

'วันนี้อะไรๆ ก็น่าจะเดินไปได้ แต่ที่ผมห่วงอยู่ก็มีอยู่เรื่องเดียว คือเรื่องเขาพระวิหารที่เกิดเรื่องกันอยู่ ผมห่วง ไม่อยากให้เอาเรื่องเขาพระวิหารนี้มาเป็นเรื่องทางการเมือง' แหล่งข่าวอ้างคำพูดของนายสมัคร ขณะที่ผู้ร่วมโต๊ะได้แต่รับฟัง ไม่มีการแสดงความเห็นในเรื่องนี้แต่อย่างใด

'แม้ว'อุ้ม'นพดล' ทำตามรบ.สุรยุทธ์

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคพลังประชาชน (พปช.) กล่าวว่า เข้าพบและร่วมรับประทานอาหารกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อาหารชินวัตร 3 พร้อมด้วย ส.ส.บางส่วนเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการไปเยี่ยมเยือนธรรมดา ประสาคนที่เคารพรักกัน แต่ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้พูดถึงสถานการณ์การเมือง 

รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างการพบปะ พ.ต.ท.ทักษิณแสดงความกังวลกรณีปราสาทพระวิหาร โดยได้พูดกับบรรดา ส.ส.ว่าเรื่องนี้จะต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับทราบว่า เป็นเรื่องในอดีตตั้งแต่ปี 2505 มาแล้ว และเป็นเรื่องที่นายนพดลดำเนินการต่อเนื่องจากรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ เพราะขณะนี้มีคนคอยยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจผิด

'อภิสิทธิ์'ช่วยป้องรบ.ขิงแก่

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายนพดลไปให้ถ้อยคำกับศาลรัฐธรรมนูญและให้สัมภาษณ์หลายโอกาส พรรคตรวจสอบแล้วพบว่า มีข้อบิดเบือนหลายประการ และฟ้องถึงความไม่ชอบมาพากลและข้อพิรุธที่เพิ่มขึ้น การอ้างอิงว่าในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองไครส์เชิร์ช มีการตกลงกันไปเรียบร้อยที่จะให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้ มติของที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกหากอ่านให้ครบถ้วนจะปรากฏคำที่บอกว่าทั้งสองประเทศได้ตกลงกันที่จะให้กัมพูชาเป็นผู้เสนอ แต่มีเงื่อนไขว่าต้องมีการสนับสนุนจากฝ่ายไทยอย่างชัดเจน โจ่งแจ้ง เพราะฉะนั้น มตินี้ไม่ได้เป็นที่พึงพอใจ 100 เปอร์เซ็นต์จากฝ่ายไทย โดยเป็นข้อมูลจากสมุดปกขาวที่กระทรวงการต่างประเทศทำออกมา

อ้างมีรายงานสมช.ไม่อยากเป็นตรายาง

'ในระดับเจ้าหน้าที่มีปัญหามาตลอดเพราะช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้มีการส่งผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการของไทยไปร่วมทำเอกสารหรือรายงานที่กัมพูชาจะต้องส่งคณะกรรมการมรดกโลก หลังจากที่ได้เข้าไปทำงานระยะหนึ่งเห็นได้ชัดว่าความเห็นต่างๆ ในฝ่ายไทยจะไม่ได้รับการรับฟัง ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการกลุ่มดังกล่าวจึงประกาศแยกตัวออกมา เหตุผลที่ทำอย่างนั้นก็เพื่อให้การอ้างอิงใดๆของกัมพูชาจะไม่เป็นไปตามมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่เมืองไครส์เชิร์ชเพราะถือว่าประเทศไทยจะไม่สนับสนุนอย่างชัดแจ้ง ซึ่งกัมพูชาก็พยายามหาทางให้ไทยไปสนับสนุน โดยเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมาได้มีการเชิญฝ่ายไทยไปที่กรุงปารีส ยูเนสโก เพื่อปรึกษาเรื่องนี้อีก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าไม่ไป ผมมีรายงานของ สมช.ชัดเจนว่าสาเหตุที่ไม่ไปเพราะการไปก็เป็นเพียงเพื่อรับรองให้รายงานของฝ่ายกัมพูชาสมบูรณ์เท่านั้นเอง เราก็จะเห็นว่าท่าทีคัดค้านก็เป็นมาอย่างต่อเนื่อง วันที่ 10 เมษายน ก็ยังมีหนังสือประท้วงออกไปจากกระทรวงการต่างประเทศ เพราะฉะนั้นข้ออ้างที่บอกว่าเรื่องนี้มันจบมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์จึงไม่เป็นความจริง' นายอภิสิทธิ์กล่าว

พิรุธ'นพดล'เร่งมือยิกตามเส้นตาย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องมาสะดุดอยู่ว่าเหตุผลอะไรที่ยูเนสโกตอบหนังสือทักท้วงของ ส.ว.ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ไปลงนามในเอกสารฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งก็คือการลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มิถุนายน และมาเซ็นเต็มที่เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน จากการตรวจสอบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก โดยได้กำหนดเป็นตารางเวลาไว้ชัดเจนว่าขั้นตอนต่างๆ จะต้องทำอย่างไร ซึ่งประเทศที่ต้องการขึ้นทะเบียนในที่นี้คือกัมพูชาต้องส่งเอกสารไปยังองค์กรที่ปรึกษาเพื่อสรุปเอกสารทั้งหมดเข้าสู่การประชุมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้น กัมพูชาจะไม่สามารถอ้างได้เลยว่าประเทศไทยให้การสนับสนุน เพราะมีการแยกตัวในการทำรายงานทางวิชาการ ที่น่าสนใจก็คือเส้นตายเส้นสุดท้ายเกี่ยวกับการนำเอกสารเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งเป็นการรวบรวมโดยองค์กรที่ปรึกษา ตามข้อบังคับของกรรมการมรดกโลกก็คือ 6 สัปดาห์ก่อนที่ประชุม ถ้าการประชุมที่ทราบกันดีว่าเริ่มต้นวันที่ 2 กรกฎาคม เมื่อนับถอยหลังไป 6 สัปดาห์ จะพบว่าวันสุดท้ายที่จะสามารถรวบรวมเอกสารเสนอเข้าสู่ที่ประชุมได้ก็คือวันที่ 22 พฤษภาคม ฉะนั้นการที่นายนพดลได้เดินทางไปลงนามเป็นอักษรย่อเมื่อวันนั้นเป็นเอกสารเดียวที่จะทำให้กัมพูชานำไปอ้างอิงในการประชุม เนื่องจากคณะขององค์กรที่ปรึกษาก็จะรวบรวมเอกสารไปยืนยันว่าประเทศไทยให้การสนับสนุน

ถ้าเขมรทำสำเร็จหนีรับผิดชอบไม่ได้

'ผมไม่ทราบว่าการที่ไปลงนามในวันที่ 22 พฤษภาคม ได้แรงบันดาลใจจากที่ไปเปิดถนนที่เกาะกงเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมหรือไม่ มีอะไรแลกเปลี่ยนหรือไม่ แต่สิ่งมันผิดปกติก็คือว่ามีความจำเป็นอะไรที่ทางฝ่ายไทยจะต้องไปลงนามผูกมัดตัวเองในระดับหนึ่ง เพียงพอที่จะให้การนำเสนอเอกสารเข้าสู่ที่ประชุมของฝ่ายกัมพูชาเกิดความสมบูรณ์ทั้งๆ ที่ยังไม่มีมติ ครม.และสาระของเอกสารในวันที่ 22 พฤษภาคม เป็นสาระเดียวกัน โดยที่นายนพดลยังไม่ได้ให้มีการตรวจสอบแผนที่และการกำหนดพื้นที่ต่างๆ เลย' นายอภิสิทธิ์กล่าว

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศควรจะต้องบอกความจริงให้กับประชาชนทราบ ไม่ควรไปโยนความผิดไปให้คนอื่นหรือเสนอข้อมูลที่ขัดแย้งกับสมุดปกขาวที่กระทรวงทำออกมาเผยแพร่ ดังนั้น เอกสารฉบับนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่คณะกรรมการมรดกโลกจะตัดสินว่าจะยอมรับข้อเสนอของกัมพูชาหรือไม่ จึงเป็นความรับผิดชอบของนายนพดลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ถ้าไม่สามารถระงับยับยั้งการขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวของกัมพูชาได้ ความจริงได้เสนอมาตั้งแต่แรกว่าให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเร็วที่สุด แต่นายกฯก็ไม่ทำ ดังนั้น นายกฯก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย 

ผบ.สส.ชี้พิสูจน์คำพูดจริงเท็จไม่ยาก

พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ลับ ลวง พราง ทางคลื่น 100.5 เมกะเฮิร์ตซ์ กรณีนายนพดลออกมาระบุรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ไปตกลงสนับสนุนกัมพูชาให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกผูกมัดไว้แต่แรกว่า เท่าที่ทราบก็มีเรื่องอยู่แต่ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรมาก แทบจะไม่มีเรื่องผ่านมาทางกรมแผนที่ทหารเลย เพราะเป็นขั้นต้น และอดีตรัฐบาลชี้แจงว่า ยังมีการล้ำดินแดนมาก จึงน่าจะแก้ไขปัญหาในปัจจุบันมากกว่า แทนที่จะย้อนกลับไปดูเรื่องเก่าๆ ต้องพิสูจน์กันไปว่าจริงตามที่นายนพดลพูดหรือไม่ เพราะไม่ทราบทั้งหมดว่าเป็นมาอย่างไร เรื่องนี้ไม่ยากที่จะพิสูจน์ออกมา ว่าใครพูดตรงหรือไม่ตรง หรือพูดไม่หมด

เมื่อถามว่า ยังมีความหวังกับกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะเดินทางไปเจรจาเพื่อชะลอการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า ได้แต่หวังแต่จะได้แค่ไหนก็แล้วแต่

'ทางการกัมพูชาใช้แผนที่ของฝรั่งเศส ในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ซึ่งเราไม่เห็นด้วย แต่เขาจะใช้ และเราไม่มีอำนาจที่จะไปบังคับเขา เพราะถ้ามีอำนาจบังคับได้เราก็จะใช้แผนที่เรา แต่เขาไม่เอาด้วย เรื่องปัญหาตามแนวชายแดน เป็นที่เข้าใจว่าเราใช้ของเรา เขาใช้ของเขา แต่ปราสาทพระวิหารมีความซับซ้อนกว่าที่อื่น มีความเกี่ยวข้องกับศาลโลกด้วย จึงมีความเข้าใจยากพอสมควร' ผบ.สส.กล่าว

ป้องกรมแผนที่แค่ไปนั่งด้วยเท่านั้น

ส่วนหากทางทหารไม่เห็นด้วยเหตุใดกรมแผนที่ทหารจึงไปแถลงข่าวร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศก่อนหน้านี้ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า คงไม่ได้ไปเห็นด้วยกับทางกัมพูชา ถ้าหากว่าเห็นด้วยก็หมายความ ต้องยกพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ให้กัมพูชา เพราะว่าแผนที่กัมพูชาว่าไว้อย่างนั้น ไทยไม่เห็นด้วย เมื่อถามว่า เหตุใดทางทหารไปแถลงข่าวร่วมกับรัฐบาล พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่า คงไปนั่งด้วยอย่างนั้นเอง เรื่องนี้ไม่ทราบรายละเอียดว่าที่ให้ไปทำอะไรบ้าง ที่ผ่านมาได้บอกไปว่าให้ทำหน้าที่เฉพาะหน้าที่ของทหาร อย่าไปก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่นหรือรับเรื่องของหน่วยงานอื่น จะทำให้คนสับสนว่าทหารมีหน้าที่ทำอะไร อย่างไรก็ตาม

'การออกมาพูดเรื่องเขาพระวิหารนั้น ผมไม่ได้รับผลกระทบอะไร รัฐบาลก็รับฟัง เพราะผมไม่ได้พูดเรื่องที่ไม่ควรพูด ผมพูดในแง่ของทหารที่พูดในฐานะเป็นประชาชน บางเรื่องก็ต้องปล่อยกันบ้างเพราะเราต้องมีความห่วงบ้านเมือง ที่พูดก็เป็นไปในกรอบที่พูดได้' พล.อ.บุญสร้างกล่าว

เพิ่มทหารพรานตรึงชายแดน

ทางด้านนายสมาน ศรีงาม ประสานงานประชาธิปไตยแห่งชาติ แกนนำกลุ่มธรรมยาตรา พร้อมองค์กรพันธมิตรประมาณ 70 คน ชุมนุมปราศรัยโจมตีนายนพดล อยู่ที่บริเวณผามออีแดง ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กรณีแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเมื่อเวลา 12.30 น.

นายเศวต ทินกูล แกนนำกลุ่มอีสานกู้ชาติ กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้เพื่อทวงถามความคืบหน้าคดีที่แจ้งความกับตำรวจ สภ.บึงมะลู อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ให้ดำเนินคดีกับชาวกัมพูชาที่เข้ามาปลูกสร้างบ้านเรือนทางขึ้นเขาพระวิหาร แต่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
พล.ต.กนก เนตระคะเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลัง (ผบ.กกล.) สุรนารี กล่าวว่า สั่งการเพิ่มกำลังทหารพราน 1 กองร้อย เข้าปฏิบัติหน้าที่ ดูแลความความปลอดภัย ให้กับประชาชนเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่อกรณีเขาพระวิหาร เชื่อว่าไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรน่าวิตก เพราะต่างเป็นคนไทยด้วยกัน สำหรับการส่งกำลังออกลาดตระเวนนั้น ได้เจอกับทหารกัมพูชา ซึ่งต่างมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มิตรภาพในระดับพื้นที่ยังปกติ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์