โสภณแฉ ปฏิญญาฟินแลนด์ คอมมิวนิสต์ผสมพันธุ์ทุนนิยม

โสภณแฉ ปฏิญญาฟินแลนด์ คอมมิวนิสต์ผสมพันธุ์ทุนนิยม

โสภณ สุภาพงษ์ รักษาการส.ว.กทม.

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 พฤษภาคม 2549 21:58 น.

โสภณ สุภาพงษ์ แฉ ปฏิญญาฟินแลนด์เป็นแผนการยึดครองอำนาจของนายทุน โดยใช้กระบวนการคอมมิวนิสต์ เผยสถานะตอนนี้ นายทุน เป็นนาย สหาย เป็นลูกจ้าง ใส่เงินให้ประชาชนแทนอุดมการณ์ แต่ยังหน้าด้านหลอกว่าการคอร์รัปชันคือการทำเพื่อประชาชน

นายโสภณ สุภาพงษ์ รักษาการส.ว.กรุงเทพมหานคร เปิดเผยในเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร คอนเสิร์ตการเมืองครั้งที่ 1 เมื่อเวลาประมาณหนึ่งทุ่มตรงที่ผ่านมา ของวันนี้ (20 พ.ค.) ว่า มีโอกาสได้พูดคุยกับอดีตคอมมิวนิสต์เก่าๆ ซึ่งเป็นสหายของรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลชุดนี้ ทำให้ได้ข้อมูลว่าแนวคิดของ ปฏิญญาฟินแลนด์ ที่มีการกล่าวขวัญกันในระยะนี้มีอยู่จริง

มีพ่อค้าทุนนิยมที่เป็นนายคนหนึ่ง ชวนลูกจ้างที่เป็นสหายคอมมิวนิสต์เก่า ซึ่งเป็นรัฐมนตรีด้วย ไปนั่งคุยที่ฟินแลนด์เมื่อปี 2542 และได้ทำแผนการขึ้นมาอันหนึ่ง ประกอบไปด้วยหลักการห้าข้อ ซึ่งปรากฏว่าพอศึกษาดูแผนการนี้ มันอธิบายปรากฏการณ์ที่เราไม่เข้าใจได้ทั้งหมดเลย ซึ่งรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ยังไปพูดในพื้นที่อย่างภาคภูมิใจว่า แผนนี้กำลังดำเนินอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

แผนการฟินแลนด์ข้อแรก คือให้ความสำคัญกับการยึดรากหญ้า ประชาชน เกษตรกรที่ยากจนไว้ให้ได้ทั้งหมด ข้อสอง คือต้องใช้ระบบทุนนิยมดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องทรัพย์สินของประเทศ ข้อสาม ประเทศไทยจะต้องมีพรรคเดียว ข้อสี่ จะต้องรื้อระบบราชการทั้งหมด และข้อห้า จะต้องให้สถาบันกษัตริย์เหลือเพียงเป็นสัญลักษณ์

นายโสภณระบุว่า เมื่อได้รู้แผนการทั้งห้าข้อแล้วทำให้เข้าใจปรากฏการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ดียิ่งขึ้น เช่นที่บอกว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้นโยบาย dual track คือ พัฒนาไปทั้งเศรษฐกิจชุมชนและการลงทุนจากต่างประทศ แท้จริงคือการดำเนินนโยบายตามแผนการฟินแลนด์ทั้งสิ้น

แผนการข้อแรกบอกต้องยึดรากหญ้าเพราะรากหญ้าเป็นอำนาจในระบบคอมมิวนิสต์ เขาถือว่าอำนาจอยู่กับคนรากหญ้าที่เป็นชนชั้นกรรมาชีพ ฉะนั้นต้องแปรรูปรากหญ้าเหล่านี้มาเป็นอำนาจของตนโดยใช้งบประมาณ เพื่อให้ได้อำนาจอันชอบธรรมเป็นคะแนน เป็นวิธีการที่เราเรียกว่าประชานิยม

ประเด็นที่สอง ต้องใช้ทุนนิยม ในระบอบคอมมิวนิสต์เขานำทรัพย์สินส่วนรวมมาเป็นของรัฐ เมื่อเป็นระบบทุนนิยมก็เอาทรัพย์สินส่วนรวมมาเป็นของรัฐโดยผ่านตลาดหุ้น แปรรูปทรัพย์สินสาธารณะ เพราะตอนนี้คอมมิวนิสต์คุยกับทุนนิยม โดยใช้กระบวนการคอมมิวนิสต์และให้ผลประโยชน์ตกกับเจ้าของทุน

ประเด็นที่สาม กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้ในระบอบคอมมิวนิสต์ จะต้องมีพรรคการเมืองพรรคเดียวเพื่อความเข้มแข็ง ถ้ามองในกระบวนการทุนนิยม การมีพรรคเดียวเพื่อให้เกิดเอกภาพก็เป็นรูปแบบของลีกวนยูและมหาเธร์ จะได้จัดการกับประเทศได้ทั้งหมดเพื่อความเข้มแข็ง

ประเด็นที่สี่ เพื่อจะได้สิ่งนี้ต้องรื้อระบบราชการ เพราะระบบราชการเราเป็น ข้า ราชการ ต้องเปลี่ยนให้เป็น ข้า ซีอีโอ ก็ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง ให้มาขึ้นกับซีอีโอ ข้าราชการมหาลัยเปลี่ยนเป็นพนักงานมหาวิทลัย ให้หลุดจากสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด ความสัมพันธ์ต้องหลุดจากกัน

ข้อห้าจึงต้องตามมา ว่าสถาบันกษัตริย์คงจะต้องดำรงในลักษณะสัญลักษณ์เท่านั้น โครงสร้างห้าอันถูกใช้ เราถึงงงว่าทำไมถึงต้องดำเนินนโยบายกับทั้งรากหญ้าและทุนนิยม จริงๆ มันเป็นการหาประโยชน์ให้ตัวโดยใช้กระบวนการคอมมิวนิสต์เก่า ฉะนั้นลูกจ้างผู้เป็นสหายทั้งหลายจึงคุยกับนายทุนที่เป็นทุนนิยมได้ เป็นการดึงจุดแข็งของทั้งคู่มาผสมกัน นายทุนเป็นนาย สหายเป็นลูกจ้าง เป้าประสงค์คือเงินและอำนาจ ซึ่งเขาบอกว่าต้องมีก่อนถึงจะทำอะไรได้

คอมมิวนิสต์เอารากหญ้ามาเป็นอำนาจของตัวเองด้วยการใส่อุดมการณ์ลงไป ทำให้คนทั้งหมดเคารพในสิ่งเดียวกันคืออุดมการณ์ แต่ในระบบตอนนี้คนเคารพศาสนาเดียวกันคือเงิน เชื่อมั่นในสิ่งเดียวกันคือเงิน เชื่อถือในคนที่มีเงิน ผู้ที่เป็นคอมมิวนิสต์เดิมเขายอมรับว่าคอมมิวนิสต์ในโลกนี้จบแล้ว ขณะนี้เหลือแต่ทุนนิยม สิ่งที่จะเป็นต่อไปได้ไม่ใช่อุดมการณ์แต่เป็นเงิน เงินทำให้คนเป็นเพื่อนกัน ฉะนั้นคนเหล่านี้จะรักลีกวนยู รักนักการเมืองสิงคโปร์ รักลูกสะใภ้ลีกวนยู มากกว่ารักคนไทย เพราะพวกเขามีเงินเหมือนกัน เชื่อสิ่งเดียวกัน

ในส่วนของการเปลี่ยนทรัพย์สินของประชาชนเป็นของรัฐ กระบวนการทุนนิยมใช้ตลาดหุ้นเป็นช่องทางโดยแปรรูปทรัพย์สินสาธารณะต่างๆ มาเป็นของตัวเอง จากนั้นก็เอาทรัพย์สินนั้นมาหากินกับประชาชนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งรากหญ้าไม่เข้าใจเพราะเขาได้เงินอยู่เรื่อย แต่ไม่รู้ตัวตอนถูกดูดไปด้วยค่าโทรศัพท์ค่าอะไรต่างๆ

นายโสภณอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตราสาม ซึ่งระบุว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจผ่านศาล คณะรัฐมนตรี และสภา แต่เผด็จการหรือทรราชถือว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของทรราช หัวหน้าใช้อำนาจนี้ผ่านกองกำลังส่วนตัวในสภา ในคณะรัฐมนตรี ในองค์กรอิสระ และในศาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีรับสั่งให้ศาลและองค์กรต่างๆ ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง โดยไม่ปล่อยให้กองกำลังส่วนตัวของใครต่อใครมากวาดต้อนคนในองค์กร

ฉะนั้นประชาชนทุกคนก็ต้องร่วมกันต่อสู้กับผู้ที่แย่งอำนาจอธิปไตยของประชาชนไป ต่อไปเราต้องทำหน้าที่ของเรา จะมาร้องตะโกนเฉยๆ ไม่ได้แล้ว ไม่มีการต่อสู้โดยสันติวิธีที่ไหนมาชุมนุมแล้วตะโกนเฉยๆ การต่อสู้โดยสันติวิธีคือการต่อสู้ มหาตมะ คานธี ก็ต่อสู้ แต่ไม่รุนแรง ข้าราชการก็ต้องหยุดงาน รัฐวิสาหกิจก็ต้องหยุดงาน เพราะเรากำลังต่อสู้ตามหน้าที่ ในมาตรา 65 บอกว่าบุคคลมีสิทธิที่จะต่อต้านการได้อำนาจใดมาที่ไม่ใช่เป็นตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งสิทธิการต่อสู้มีแต่ต้องไม่รุนแรง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์