จาตุรนต์ คาใจกลุ่มไทยรักไทย ถูกสกัดกั้นตั้งพรรคใหม่

นายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย กล่าววันนี้ (17 มิ.ย.) ว่า


ในวันอังคารที่ 19 มิถุนายนนี้ ตัวแทนกลุ่มไทยรักไทย จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 15เพื่อเปิดโอกาสให้จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้โดยเร็ว

และในวันพรุ่งนี้ (18 มิ.ย.)

ทางกลุ่มฯ ยังนัดหารือกับอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคไทยรักไทย เพื่อเตรียมลงพื้นที่ชี้แจงและขอการสนับสนุนจากประชาชนในการจัดตั้งพรรคใหม่ โดยจะให้กรอกเอกสารการสนับสนุนด้วย

หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย กล่าวต่อว่า


จากการตรวจสอบพบว่า มีความพยายามของหลายฝ่ายที่ไม่ต้องการให้กลุ่มฯ ตั้งพรรคใหม่ได้สำเร็จ โดยอาจจะเกิดจากความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความล่าช้าในการแก้ไขประกาศ คปค. ฉบับที่ 15 นอกจากนี้ ผู้นำของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) บางคนยังพูดชัดเจนว่า ก่อนส่งมอบอำนาจคืนต้องขอดูก่อนว่าใครจะเข้ามารับหน้าที่แทน

ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ต้องการพรรคไทยรักไทย หรือไม่

รวมถึงการเลื่อนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่เร็วขึ้น จะมีผลต่อพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่ จึงอยากให้รัฐบาล และ คมช. พูดให้ชัดเจนว่าต้องการให้มีพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หรือต้องการให้อดีต ส.ส.ไทยรักไทย เลิกความคิดการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า ไม่ควรมาขัดขวาง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่ต้องการให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรม

เมื่อถามถึงแนวคิดที่จะถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษให้กับอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ทางกลุ่มไทยรักไทย คงไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากกลุ่มฯ ไม่มีข้อสรุปเช่นนั้น แต่ถ้าเป็นการกระทำของกลุ่มประชาชนก็เป็นเอกสิทธิ์ในฐานะที่เป็นพสกนิกร ใครไปห้ามไม่ได้ ส่วนที่ได้พบปะกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เมื่อวานนี้ ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ นั้น เป็นการพบปะพูดคุยกับคนที่เคยร่วมต่อสู้ทางการเมืองกันมาในอดีต ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน และเป็นการไปในฐานะส่วนตัว ไม่ได้ไปนามองค์กรแต่อย่างใด


ด้าน ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง แกนนำกลุ่มไทยรักไทย กล่าวว่า


ยังไม่ทราบเวลาที่แน่นอนในการเข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เพราะกำลังอยู่ระหว่างการประสานงาน อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาล และ คมช. มีความจริงใจ ไม่มีเจตนาเพื่อให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมือง ขอให้รีบแก้ไขประกาศ คปค. ฉบับที่ 15 โดยเร็ว และอยากเรียกร้องให้รัฐบาล และ คมช. เร่งทำงานตามที่ประกาศไว้ 4 ข้อ มากกว่าไปทุ่มเทเรื่องการทำลายล้าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรื่องของเศรษฐกิจที่ยังมีปัญหาหนักอยู่ในขณะนี้


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย:
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์