´ธีรยุทธ´ เปรียบ รบ.ฤาษีเลี้ยงเต่า! ต้องผู้นำแบบ ´ขุนพันธ์´

แม้ว"เตรียมจะเคลื่อนไหวอีก


"ธีรยุทธ บุญมี"วิพากษ์การเมืองส่งท้ายเดือนแห่งความรัก จวกรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหาทุจริตของ "เสี่ยแม้ว" ดันทำตัวเป็นพวกต่อมความดีโต เปรียบรัฐบาล "บิ๊กแอ้ด" เป็น "ฤาษีเลี้ยงเต่า" ขิงแก่ต้วมเตี้ยมแถมไปคนละทิศละทาง ชี้หากแก้ปัญหาชาติไม่ได้ทหารอาจใช้เป็นข้ออ้างในการสืบทอดอำนาจนายกฯ ต้องแสดงผู้นำแบบ "ขุนพันธ์"

ด้าน ทรท.ลุยเปิดนโยบายพรรค หวังกุมใจคนรากหญ้า "อารีย์" เต้นทนเสียงวิจารณ์ไม่ได้ โต้พูดง่ายแต่ทำยาก ขณะที่โฆษกรัฐบาลน้อมรับคำวิจารณ์ "อ๋อย" ยันทุกนโยบายเชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียง ชี้พร้อมรับผลการตัดสินคดียุบพรรค ไม่คิดใช้กฎหมู่กดดัน ส่วนพันธมิตรฯ เห็นด้วยที่ ทรท. จะลงไปชี้แจง

แต่มีข้อแม้ว่าต้องพูดความจริง พร้อมเมินคำท้ากลุ่มมัชฌิมาลงเล่นการเมือง อ้างอยู่วงนอกทำประโยชน์ได้มากกว่า "นพดล" แย้ม "แม้ว" เตรียมเคลื่อนไหวอีกระลอกรับเชิญพูดเรื่อง "ประชาธิปไตยที่ทางแยก"


"แอ้ด" ปิดปากงดจ้อรายวัน


เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุม ธานี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดเดินเทิดพระเกียรติ "เก้าทศวรรษสหกรณ์ไทย ร่วมใจ เทิดไท้ องค์ราชัน" โดยร่วมเดินเทิดพระเกียรติกับชาวสหกรณ์ที่มาร่วมงานประมาณ 3 กิโลเมตร

ภายหลังการเดินเทิดพระเกียรติ พล.อ. สุรยุทธ์ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยเดินทางกลับ บ้านพักทันที และในเวลา 17.30 น. นายกฯพร้อมภริยาได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินแทน พระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพ จอมพลถนอม กิตติขจร ณ เมรุหลวง หน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสวรวิหาร


"สุรยุทธ์" ลั่นวางมือการเมือง


ด้านสำนักข่าวเอพีรายงานจากกรุง กัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซียในวันเดียวกันนี้ว่า "เบอร์นามา" สำนักข่าวแห่งชาติของมาเลเซีย รายงานบทสัมภาษณ์ของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทย

ซึ่งบันทึกเทปไว้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่าต้องการ จะวางมือทางการเมืองหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงปลายปีนี้ เพื่อต้องการที่จะพักผ่อนและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

อย่างไรก็ตาม พล.อ. สุรยุทธ์ยอมรับว่า ไม่แน่ใจว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ได้ในเดือน ต.ค. ตามกำหนดเดิมหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอนของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมา ร.อ.นพ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันความถูกต้องของบทสัมภาษณ์ดังกล่าว ของนายกรัฐมนตรี

ส่วนเรื่องการเลือกตั้ง หากการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการเสร็จสิ้นในเดือน ก.ย. ก็จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในเดือน ต.ค.

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน จากประเทศสิงคโปร์โดยอ้างจากหนังสือพิมพ์ เดอะ ซันเดย์ ไทมส์ ว่า นายจอร์จ เยียว รมว. ต่างประเทศสิงคโปร์เปิดเผยว่า รัฐบาลสิงคโปร์ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด หากดาวเทียมชิน แซทเทิลไลท์ ของไทยซึ่งกองทุนเทมาเส็กซื้อสัมปทานไปนั้น

จะมีการขายคืนกลับมาให้ไทย เพราะหากเป็นการถ่ายโอนทางธุรกิจซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของทั้งสองฝ่าย ตนก็มองไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร เป็นเรื่องของเทมาเส็กที่จะพิจารณาเช่นเดียวกับผู้ซื้อ หากสามารถตกลงกันได้เรื่องราคา


"แม้ว" เตรียมอาละวาดอีกรอบ


นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท. ทักษิณว่า ในวันที่ 2 มี.ค. อดีตนายกฯ ได้รับเชิญไปพูดที่สถาบันไอไอเอสเอส ซึ่งเป็นสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์ของอังกฤษ

โดยหัวข้อที่จะพูดคือ "ประชาธิปไตยที่ทางแยก" การพูดในครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจะพูดในฐานะอดีตผู้นำประเทศ แต่จะไม่พูดถึงประเด็น การเมืองเล็กน้อยในประเทศ ไม่วิจารณ์ คมช. และรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณจะพูดถึงหลักการการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เชื่อว่าจะมีผลดีทำให้คนอังกฤษ ยุโรป เข้าใจสถานการณ์การเมืองและกลับมาลงทุน

นายนพดลยังกล่าวถึงกรณีที่ นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี จะออกสมุดปกดำในเดือน เม.ย. เพื่อมุ่งเน้นการทุจริตหลายโครงการของรัฐบาลชุดที่แล้วว่า การทำสมุดปกดำ หรือเชื่อมสัญญาณรายการยามเฝ้าแผ่นดินของเอเอสทีวีกับช่อง 11

โดยให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาพูดและอ้างว่าเป็นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกของรัฐบาลนั้น ไม่ทราบว่าต้องการความสมานฉันท์หรือไม่ ตนคิดว่ามันเป็นการสร้างความแตกแยกมากกว่า เราไม่กลัวสมุดปกดำแต่ขอให้พูดความจริง พูดชัด ๆ จะพูดถึงใคร กล่าวหาใครอย่าอ้อมค้อมระบุเป็นตัวบุคคลมาเลย เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้ตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงได้

ถ้าไม่ถูกต้องจะได้ชี้แจงได้ หรือถ้าละเมิดสิทธิ หรือหมิ่นประมาทจะได้ดำเนินคดีได้ถูก เพราะการไปโจมตีและเผยแพร่ไปทั่วโลกแบบนี้มันไม่สมควร รัฐบาลควรเอาเวลาที่เหลือไปทำงานที่สร้างสรรค์ เพราะ 5 เดือนที่ผ่านมาไม่มีผลงานอะไรเลย จมปลักแต่อดีต จ้องทำลายไม่มองถึงอนาคต


จวกรัฐบาลชกผิดเป้า


วันเดียวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและ มานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวเรื่อง "คมช.รัฐบาลสุรยุทธ์ควรเร่งแก้ปัญหาทักษิณและก้าวข้ามไปแก้วิกฤติอื่น ๆ ของชาติ" ว่า ระบอบทักษิณทำให้ประเทศไทยเสียหายร้ายแรงหลายด้าน

ขณะนี้การกู้คืนยังทำได้ไม่ดีพอ จึงไม่ควรมีทัศนคติว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมาเป็นความสำเร็จของ คมช. รัฐบาล พันธมิตร นักวิชาการ หรือกลุ่มต่อต้านทักษิณ ควรมองว่าทุกฝ่ายยังทำได้ไม่ดีพอ จนทำให้บ้านเมืองเสียหายน้อยกว่านี้ไม่ได้ ควรตั้งสติร่วมกันหาทิศทางดีที่สุดให้ประเทศ ข้อควรระวังคือ ทุกฝ่ายอย่าโน้มเอียงมาให้บทบาทและความสำคัญแก่ภาคสถาบันต่าง ๆ ของประเทศ เช่น กองทัพ ศาลยุติธรรม นักวิชาการ จนเกินความจำเป็นและพอดี

นายธีรยุทธกล่าวต่อว่า ขณะนี้ พ.ต.ท. ทักษิณหมดอนาคตการเมืองแล้ว และคงไม่มีโอกาสในอย่างน้อย 3-5 ปี ที่ผ่านมาระบบทักษิณ ทำให้ระบบต่าง ๆ ในสังคมอ่อนแอลง คมช. เองก็เริ่มไม่นิ่งชกผิดเป้า หรือเปลี่ยนเป้าสร้างกระแสชาตินิยมไปชกสิงคโปร์ ชกกับนามธรรมคือเผด็จการทุนนิยมมากกว่าการยืนยันการโกงกินของระบอบทักษิณ

ทั้งยังปิดกั้นการเคลื่อนไหวพรรคการเมือง ระแวงชาวบ้านแบบเหมารวม มีแนวโน้มหวนไปใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยม 3 ลักษณะ คือ

1.ไม่แก้ปัญหาด้วยระบบแต่แก้ด้วยตัวบุคคล
2.การแก้ปัญหาแบบแบ่งแยกแล้วปกครอง
3.ความเชื่อมั่นที่ผิด ๆ ว่า อำนาจอย่างเดียวเป็นเครื่องมือ

สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหา ทั้งที่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือแก้ด้วยความรู้ความคิด ด้วยกลไกเชิงสถาบันที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีส่วนร่วมจากสังคมและภาคประชาชน แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ประชาชน พรรคการเมือง ถูกกดดันไม่ให้มีบทบาทใด ๆ


เหน็บต่อมความดีโต


อาจารย์ธรรมศาสตร์กล่าวอีกว่า ตอนนี้ คมช. และรัฐบาลควรเร่งตรวจสอบว่ารัฐบาลทักษิณก่อความเสียหายต่อประเทศอย่างไรบ้าง ขาดความชอบธรรมเพราะเข้าดำรงตำแหน่งนายกฯ อย่างผิดกฎหมายจากกรณีซุกหุ้นแอมเพิลริช วินมาร์ค โอเวอร์ซี โกรธ์ ฟันด์ ออฟชอว์ ไดนามิค ฟันด์ ฯลฯ หรือไม่

ระบอบทักษิณขาดความ ชอบธรรมเพราะเปิดช่องทางให้นักการเมืองคอร์รัปชันสนามบินสุวรรณภูมิอย่างมโหฬาร เพื่อหาเงินใช้ในการเลือกตั้งปี 2548

"โรคต่อมความดีและโรคต่อมอำนาจโตของชนชั้นนำไทย ทำให้ไม่เคยแก้วิกฤติได้สำเร็จ โรคต่อมความดีโตคือความเชื่อว่าถ้าตัวเองเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน มีเจตนาที่ดี พูดชักชวนให้ทำในสิ่งที่ดี ความชั่วก็จะแพ้ความดี หรือไม่กล้าไปตรวจสอบความผิดเพราะคิดว่าไม่ควรไป ซ้ำเติม ทั้งที่เป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ

ส่วนโรคต่อมอำนาจโตคือ เมื่อมีอำนาจแล้วมักยึดติดว่าอำนาจเป็นของตน หลงลืมไปว่าอำนาจนั้นย่อมมีวัตถุประสงค์หรือมีที่มาจากประชาชน เกิดอาการหน้าใหญ่หน้าโตแตะต้องไม่ได้ ปรึกษาหารือกันเองไม่ได้ อาการข้างเคียงอีกอย่างหนึ่งคือ

แต่ละคนต่างใช้อำนาจกันกะปริบกะปรอยคนละทีสองที ไม่ประสานงานกัน คล้ายคนสูงอายุที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต ปัญหาเมืองไทยจึงแก้ไม่ตรงเป้าและไม่สุดปลายทางของมัน ส่วนการบ้าอำนาจนั้นเป็นอาการขั้นสุดท้ายของโรคนี้"นายธีรยุทธกล่าว


นายกฯ ต้องโชว์ความเป็นผู้นำ


นายธีรยุทธกล่าวต่อว่า หากทักษิณเป็น CEO พล.อ.สุรยุทธ์ควรเป็นแม่ทัพ เป็นขุนพันธรักษ์ราชเดช ไม่ใช่เป็นแค่ขุนพันธ์เฉพาะกิจ คนไทยอยู่ในสภาพที่กดดันของวิกฤติต่อเนื่องยาวนาน เครียดหวาดวิตกต้องการความมั่นคงสูง ยิ่งเป็นยุคที่ไม่มีระบบผู้แทนเป็นตัวกลางเชื่อมต่อปัญหาต่าง ๆ ชาวบ้านยิ่งต้องการผู้นำที่มีลักษณะการนำสูงยิ่งขึ้นกว่าสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ

ถ้าจะเปรียบก็คือคนอยากให้มีจตุคามรามเทพ 4 องค์ หรือ 4 ทิศ คือ นายกฯ ประธาน คมช. ประธาน สนช. และองค์กรตรวจสอบ มาช่วยขจัดปัดเป่าทุกข์ร้อนภัยอันตรายต่อชีวิตทรัพย์สินของเขา ไม่ใช่ประทับอยู่ในเจว็ดของตน ตอนนี้คนต้องการ ผู้นำที่แข็งขันยิ่งกว่ารัฐบาลปกติ ถ้านายกฯ ไม่ปรับบุคคลิก ปรับ ครม. อีกกี่ครั้งก็ไม่ช่วยแก้ปัญหา

อาจารย์นักวิจารณ์กล่าวด้วยว่า นายกฯ ต้องแสดงความเป็นผู้นำใน 5 ด้าน คือ การต่อสู้เชิงการเมืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ถอดรื้อความชอบธรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชักชวนคนไทยทั่วประเทศเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อรับมือกับโลกความเสี่ยงยุคใหม่ การระดมสมองนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ

เพื่อแก้ปัญหา และเปิดแนวรุกและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นผู้นำในการเข้าถึงเข้าใจปัญหาของชาวบ้านคนยากคนจน


ทำนายอีก 2-3 เดือนระอุ


นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า รัฐบาลควร เจริญสติเพ่งดูความเสียหายของประเทศในอนาคต ครม. ยังซื่อสัตย์สุจริตทุกคน แต่คนเริ่มมองรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ เป็นรัฐบาลเสนีย์-ชวน คือ ช้าแบบรัฐบาลชวน หลีกภัย และยุ่งเหยิงเป็นฤาษีเลี้ยงลิงแบบรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

แต่ยุครัฐบาลสุรยุทธ์เป็นฤาษีเลี้ยงเต่าที่ต้วมเตี้ยมคนละทิศคนละทางไปหมด เพราะทั้ง ครม. สภานิติบัญญัติ องค์กรต่าง ๆ ล้วนเป็น เทคโนแครตสูงอายุ แต่คิดเชื่อกันไปคนละทาง กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเมืองไทยเกิดอาการทหาร ฮึ่ม ๆ เพราะเป็นจำเลยแต่ไม่มีอำนาจแก้ไข คตส. ฮึดฮัด เพราะขยับตัวไม่ได้ดังความตั้งใจ

"สังคมไทยเริ่มรวนเรขัดแย้งมีโอกาสก้าวไปสู่ความขัดแย้งใหญ่อีกหน จะเกิดการถกเถียงกล่าวหาจากทุกฝ่ายอย่างเข้มข้นใน 2-3 เดือนข้างหน้า และหากเกิดเหตุการณ์ขั้นเลวร้ายอีกประการหนึ่งแต่ไม่ควรจะเกิดขึ้นคือ คมช. กับรัฐบาลขัดแย้งกันเองมากขึ้น จนนายกฯ ต้องลาออก

เกิดปัญหาต้องแสวงหาผู้นำชุดใหม่มาแก้ปัญหาในเวลาที่สั้นลง และขั้นเลวร้ายที่สุด คือ กองทัพจะรู้สึกถูกกดดันรู้สึกว่าตัวเองเสียสละแต่ถูกกล่าวร้ายโจมตี จนบางส่วนขาดสติ ถือเป็นข้ออ้างในการสืบทอดอำนาจ" นายธีรยุทธกล่าว


รัฐบาลน้อมรับคำวิจารณ์


ส่วนเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายธีรยุทธกล่าวว่า เมื่อ คมช. และรัฐบาลมาจากการรัฐประหาร จึงไม่ควรก้าวล่วงไปในรายละเอียด ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐบาลควรตอกย้ำในประเด็นไม่สืบทอดอำนาจ พรรคการเมืองไทยแม้ความชอบธรรมจะลดลง แต่ก็ต้องส่งเสริมให้ได้พัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบันที่เชื่อมโยงกับภาคประชาชนและสังคม

ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการวิจารณ์รัฐบาลของนายธีรยุทธว่า รัฐบาลพร้อมรับฟัง นายกฯ บอกแล้วว่าภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดนี้คือ ภาคใต้และความสมานฉันท์ ตอนนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของฝ่ายต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่

ถ้ารัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้แล้ว ทุกอย่างก็จะเข้ารูป การแก้ปัญหาต่าง ๆ ก็จะดีขึ้น รัฐบาลได้วางเป้าหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้กับประเทศ ไว้อย่างชัดเจน กฎหมายฉบับใดที่ไม่เป็นประโยชน์ ก็แก้ไขอยู่ ส่วนการปรับปรุงการทำงานนั้นรัฐบาล ปรับปรุงตลอด รัฐบาลฟังเสียงทุกฝ่าย ถ้าความเห็นใดเหมาะสมก็จะทำตามคำแนะนำพอสมควร ยืนยันรัฐบาลมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่


โต้ชอบวิจารณ์แต่ทำไม่ง่าย


นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลเร่งรัดการทำงานอย่างเต็มที่ โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทยที่ทำงานกับประชาชน หากจะเร่งรัดจนประชาชนตั้งตัวไม่ทัน คงไม่ได้ การทำงานจะต้องวางแผน หากต้องการ ให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือกับเรา จะต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบว่า เมื่อเขาร่วมมือกับราชการแล้ว ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับประชาชน

เมื่อถามว่า กรณีที่นักวิชาการออกมา เร่งรัดให้จัดการขั้นเด็ดขาดกับนักการเมืองกลุ่มอำนาจเก่า นายอารีย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวกำลังดำเนินการ การจะดำเนินการอะไรกับใครต้องให้ความยุติธรรม ไม่ใช่เมื่อปฏิวัติแล้วจะไปยึดได้ ต้องมีการสอบสวนหาความจริงแล้วดำเนินการ ขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังเร่งกันอยู่ จะให้ทำวันนี้พรุ่งนี้เสร็จคงไม่ได้ ตอนนี้คนชอบวิจารณ์ แต่ถ้าให้ไปทำเองคงลำบากเหมือนกัน


คนอยากได้สังคมสงบสุข

ด้านเอแบคโพลล์ได้ทำการสำรวจความเห็นประชาชนในเขต กท. จำนวน 1,373 คน เรื่อง "บรรยากาศการเมือง รัฐธรรมนูญ และ คุณลักษณะนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนอยากได้" พบว่า ประเด็นบรรยากาศการเมืองขณะนี้ 38.8% เห็นว่าแย่ลง มีเพียง 13.7% เท่านั้นที่เห็นว่าดีขึ้น ส่วนความหมายของรัฐธรรมนูญ 64.1% ไม่ทราบความหมาย 16.7% ทราบว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ส่วนความเชื่อมั่น ที่จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง 54.7% ไม่เชื่อมั่น แต่ 29.1% เชื่อ สำหรับความจำเป็นที่ต้องให้ประชาชนอ่านรัฐธรรมนูญ ก่อนลงประชามติ 71.6% เห็นว่าจำเป็น มีเพียง 9.5% เห็นว่าไม่จำเป็น

ประเด็นความมั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 50 49.4% ไม่มั่นใจ แต่ 36.7% มั่นใจ ส่วนลักษณะของนายกฯ คนใหม่ที่ต้องการ 79.5% มีความซื่อสัตย์ 65.5% มีความเป็นผู้นำ 65.0% กล้าคิดกล้าตัดสินใจ ส่วนการเปรียบเทียบระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ กับ พ.ต.ท.ทักษิณ 34.8% สนับสนุน พล.อ.สุรยุทธ์ ส่วน 28.8% สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ

ส่วนความเห็นต่อการกลับมาประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ 26.9% ควรรออีกระยะหนึ่ง 22.0% ควรกลับมาหลังเลือกตั้ง 15.2% ควรกลับมาทันที ประเด็นสิ่งที่ต้องการจะเลือกระหว่างนายกรัฐมนตรีที่อยากได้กับสังคมไทยที่สงบสุข 45.5% เลือกสังคมไทยที่สงบสุข ส่วน 2.4% เลือกนายกฯ ที่อยากได้


ขอขอบคุณ : ข้อมูลข่าวที่มีคุณภาพ

จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์