ส.ท่องเที่ยวเกาะเสม็ดฟ้องปตท.พันล้าน ทำน้ำมันรั่ว-ระบบนิเวศเสียหาย

ส.ท่องเที่ยวเกาะเสม็ดฟ้องปตท.พันล้าน ทำน้ำมันรั่ว-ระบบนิเวศเสียหาย

28 ก.ค.57 ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นางสุจารี เจริญผล อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวหมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง
 
ซึ่งมีสมาชิกกว่า 70 ราย ได้เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.เป็นจำเลย เรื่องละเมิดและความผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เรียกค่าเสียหายจำนวนทุนทรัพย์ 1 พันล้านบาทถ้วน

โดยโจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า โจทก์เป็นสมาคมของกลุ่มเจ้าของ ผู้จัดการ ตัวแทนโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร สถานบันเทิง  บริษัทนำเที่ยว

ผู้ประกอบอาชีพท่องเที่ยว ร้านค้าขายของที่ระลึกในหมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง มีสมาชิก 70 ราย  ประกอบกิจการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว และมีวัตถุประสงค์เป็นตัวแทนประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ เมื่อพบเห็นการกระทำผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือรับแจ้งว่ามีภยันตรายแก่เกาะเสม็ดจากสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดความเสียหายใดๆ สมาคมฯ ก็จะเป็นตัวแทนดำเนินคดีแทนสมาชิก ส่วนจำเลยเป็นบริษัทมหาชน

เมื่อวันที่ 27 ก.ค.56 จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ กล่าวคือ ขณะเรือบรรทุกน้ำมันของจำเลยได้ถ่ายน้ำมันดิบผ่านทุ่นรับน้ำมันมายังโรงกลั่นน้ำของจำเลย

และเกิดเหตุท่อรับน้ำมันดิบรั่ว ห่างจากชายฝั่งมาบตาพุดไปทางทิศเตะวันออกเฉียงใต้ 20 กม.อันเกิดจากความประมาทของจำเลย ซึ่งไม่ตรวจสอบประสิทธิภาพของท่อส่งน้ำมันให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติ และหลังจากน้ำมันดิบรั่วแล้ว พนักงานของที่ควบคุมการขนถ่ายน้ำมันดิบจากเรือ ก็ไม่ดำเนินการตัดวาล์ว ทำให้น้ำมันดิบกว่า 5 หมื่นลิตร รั่วไหลลงสู่ทะเล จ.ระยอง จำเลยก็ไม่ดำเนินการแก้ไขเก็บกู้อย่างถูกต้องทันท่วงที เพราะใช้ทุ่นล้อมน้ำมันดิบขนาดสั้นมาก ทุ่นบางอันก็ขาดบางอันก็จมน้ำ ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ น้ำมันดิบจึงไหลกระจายเป็นบริเวณกว้างกว่า 2 กม.ยาว 8 กม.ต่อมาวันที่ 29 ก.ค.56 เกิดคลื่นลมแรง น้ำมันดิบจึงไหลทะลักเข้าบริเวณชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ยาว 600 ม.

หลังจากนั้น จ.ระยอง ได้ประกาศให้เกาะเสม็ดเป็นเขตภัยพิบัติทางทะเล นายอนันต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริษัทของจำเลย ได้มีหนังสือแจ้งน้ำมันรั่วไหลในทะเลไปยัง กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) แต่กลับไม่แจ้งข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ และได้ใช้สารเคมี 2 ชนิด เพื่อกำจัดคราบน้ำมันดิบ โดยไม่แจ้งต่ออุทยานแห่งชาติ เขาแหลมหญ้า - หมู่เกะเสม็ด โดยไม่คำนึงว่า เป็นพื้นที่เขตอ่อนไหวทางธรรมชาติ ซึ่งสารเคมีที่ใช้มีผลต่อปะการัง สัตว์ทะเล ระบบนิเวศ ทั้งในระยะสั้นระยะยาว โดยจำเลยไม่เคยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพิ่มจุลินทรีย์ จัดฝึกอบรมพร้อมรับมือต่อภัยพิบัติ

โจทก์ระบุฟ้องอีกว่า หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจำเลยไม่เคยให้ข้อมูลการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศและสุขภาพประชาชน
 
จึงไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของจำเลยได้ โจทก์ทราบจากนักวิชาการสิ่งแวดล้อมว่า เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสียหายด้านต่างๆ เสียหายไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท และต้องใช้เวลาฟื้นฟูนาน 10 ปี แม้ชายหาดจะถูกทำความสะอาด แต่การฟื้นฟูทางระบบนิเวศต้องดำเนินต่อไป


โดยความเสียหายดังกล่าว ส่งผลให้กระทบรุนแรงเป็นลูกโซ่ จนนักท่องเที่ยวเกิดอาการหวาดกลัว

ยกเลิกการมาเที่ยวเกือบหมดลดลงร้อยละ 50 ทำให้ โรงแรม ร้านค้า ที่พัก รถโดยสาร ผู้ค้า ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ซ้ำยังส่งผลเสียหายแกแนวปะการัง ที่อ่าวปลาต้ม อ่าวน้อยหน่า นกและปลาตายจำนวนมาก เกิดการสะสมของสารปรอท และอื่นๆ ดังนั้น โจทก์จึงต้องฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1 พันล้านบาท และให้จำเลยจัดทำแผนแก้ไขปัญหาสิ่งปนเปื้อนในระยะสั้น ระยะยาว และทำแผนมาตรการป้องกันน้ำมันรั่วไหล

ศาลรับคำฟ้องไว้พิจารณา เป็นคดีดำ สว.7/57 สืบพยานและนัดพิจารณาคดีวันที่ 22 ก.ย.นี้ เวลา 09. 00 น.

อุปนายกฯ สมาคม กล่าวว่า เคยเข้าไปเจรจากับผู้แทน ปตท.หลายครั้ง แต่ยังไม่มีอะไรชัดเจน จึงเรียกประชุมสมาชิก แล้วมีมติให้ฟ้อง ปตท.เพื่อเรียกค่าเสียหาย จะได้นำมาแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมต่อไป


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์