ส่งออกหืดจับแบงก์เริ่มเล่นบทโหด



นายทวี ปิยพัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจส่งออกเจอปัญหาขาดสภาพคล่องทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เนื่องจากสถาบันการเงินเริ่มลดวงเงินแพกกิ้งเครดิตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาลูกค้าขอยืดเวลาการชำระเงินออกไป ยิ่งซ้ำเติมเพิ่มอีก โดยที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้เสนอผ่านถึงประเด็นดังกล่าวมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

นายทวีกล่าวว่า กรณีที่ธนาคารพาณิชย์จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูง ผู้ส่งออกยังยอมรับได้ แต่การที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยเงินกู้ ทำให้ผู้ส่งออกขาดสภาพคล่อง

และรัฐบาลก็ไม่สามารถไปบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้ให้ผู้ส่งออกได้ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของรัฐก็ล่าช้าในการปล่อยกู้ ทำให้ผู้ส่งออกเผชิญปัญหา 2 ด้าน ทั้งขาดสภาพคล่องและถูกลดวงเงินแพกกิ้งเครดิต แถมยังเจอกับปัญหาผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศขอเลื่อนเวลาจ่ายเงินจากเดิม 60 วันเป็น 90 วันเข้าอีก ทำให้ผู้ส่งออกรายเล็กที่มีสายป่านสั้นทยอยปิดกิจการ

"ขณะนี้เศรษฐกิจภาคใต้เริ่มฟื้นตัวจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ขยับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งปาล์มน้ำมัน ยางพารา ธุรกิจ ประมง การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับคืนมา แต่ทางด้านแรงงานในภาคใต้ส่วนใหญ่กลับพบว่ายังคงขาดแคลน โดยเฉพาะแรงงานระดับล่างที่ขาดอยู่ 30,000 คน ขณะเดียวกันยังพบว่า แรงงานระดับล่างที่จังหวัดสมุทรสาครก็ขาดแคลนเกือบแสนคน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ส.อ.ท.ได้เสนอให้รัฐบาลนำเข้า แรงงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น แต่ขณะนี้ก็ไม่มีความคืบหน้า"

นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ยอมรับว่าธนาคารพาณิชย์ หันมาลดวงเงินแพกกิ้งเครดิตของผู้ส่งออกมากขึ้น

ขณะที่ก่อนหน้านี้แม้จะมีการลดวงเงินดังกล่าวแต่ผู้ส่งออกก็ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้เพิ่มขึ้น แต่ก่อนหน้านี้จะไม่เข้มโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักค้ำประกันก็ได้ เพราะถือว่ามีแอลซีเป็นตัวค้ำประกันแล้ว ดังนั้นรัฐบาลก็ควรจะมีการจัดตั้งบริษัทเข้ามารับประกัน หรือใช้บทบาทของบรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยเหลือผู้ส่งออก

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์