ชาวบ้านร้องลั่นหมูโลละ 130 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการสำรวจราคาเนื้อสุกรในตลาดสดทั่วกรุงเทพฯ และราคากลางจากกระทรวงพาณิชย์

พบว่าปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยที่ กก.ละ 120-130 บาท โดยราคา ณ วันที่ 23 เม.ย. ของกรมการค้าภายใน หมูเนื้อแดงไหล่ กก.ละ 120-125 บาท เนื้อแดงตะโพก 120-130 บาท เนื้อสันนอก 120-130 บาท และเนื้อสามชั้น 120-125 บาท โดยจากการสอบถามผู้ค้าหน้าเขียงระบุว่าสาเหตุที่ขึ้นราคาเพราะต้นทุนราคาส่งจากโรงเชือด และพ่อค้าคนกลางแพงขึ้นทำให้ต้องขยับราคาเพิ่มตาม
 
ด้านผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลเข้มงวดการดูแลราคาอาหารสด และราคาอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น

เพราะอาหารสดหลายชนิดปรับราคาเพิ่มต่อเนื่องสวนทางกับราคาน้ำมันที่ลดลง โดยผักสดปรับขึ้นมาหลายชนิด เช่น คะน้า มะนาว ข้าวสาร ไข่ไก่ เนื้อหมู ซึ่งผู้ค้าให้เหตุผลว่าผลผลิตเสียหายจากภัยพิบัติและเกิดโรคระบาดทำให้ปริมาณมีน้อย รวมถึงอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานก็ปรับขึ้นมาก ไม่มีทีท่าจะลดลง
 
รายงานข่าวจากวงการค้าสุกรเปิดเผยว่า ราคาหมูเป็นและเนื้อหมูหน้าเขียง ทยอยปรับขึ้นราคาหลังจากจบเทศกาลตรุษจีนแล้ว

โดยหมูเป็นทยอยขึ้นราคาจาก กก.ละ 52 บาท ถึงช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์เฉลี่ยที่ กก.ละ 62-64 บาท ทำให้ราคาหมูเนื้อแดงหน้าเขียงขยับขึ้นต่อเนื่องจาก กก.ละ 105-110 บาท มาอยู่ที่ปัจจุบันกก.ละ 125-130 บาท ทั้งนี้สาเหตุเนื้อหมูที่แพงขึ้น เป็นไปตามกลไกตลาดไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไร หรือต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแต่อย่างใด
 
“ขณะนี้เนื้อหมูอยู่ในช่วงขาดตลาด มีการผลิตออกมาน้อยกว่าความต้องการของผู้บริโภคส่งผลให้ราคาแพงขึ้น โดยปัจจุบันความต้องการบริโภคเนื้อหมูทั่วประเทศเฉลี่ยต่อวันที่ 38,000-40,000 ตัว แต่ผู้ประกอบการผลิตได้แค่วันละ 35,000-36,000 ตัวเท่านั้น”

สาเหตุที่ทำให้เนื้อหมูออกสู่ตลาดลดลง มาจากเมื่อ 2 ปีก่อนผู้เลี้ยงหมูต้องขาดทุนมาก ทำให้บางส่วนโดยเฉพาะรายย่อยเลิกกิจการและหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน

ประกอบกับเมื่อปลายปีที่แล้ว เกิดโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร หรือโรคพีอีดีระบาดในฟาร์มเลี้ยงเปิดอย่างรุนแรง ทำให้หมูตายเพิ่มขึ้นถึงเท่าตัว จากปกติตายเฉลี่ย 15% เพิ่มเป็น 30% ต่อหมู 100 ตัว และขณะนี้เข้าสู่ฤดูร้อนทำให้หมูโตช้าซึ่งเกิดขึ้นทุกปีส่งผลให้เนื้อหมูออกสู่ตลาดไม่เพียงพอ และมีราคาแพง
 
ส่วนแนวโน้มราคาเนื้อหมูในอนาคตยังคาดการณ์ได้ยาก ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการสูญเสียมากน้อยแค่ไหน

แต่ในช่วง 1-2 เดือน ราคาหมูยังทรงตัวระดับสูงที่ กก.ละ 130 บาท หรือขยับแพงขึ้นได้อีกหากยอดบริโภคไม่ลดลง แต่ถ้าถึงฤดูฝน เดือน มิ.ย.-ก.ค. ราคาน่าจะลดลง เพราะอากาศเย็นทำให้หมูโตไวขึ้น และความต้องการบริโภคเนื้อหมูจะลดลง เพราะมีพืช ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ตามฤดูกาลออกมาเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค ส่งผลให้การบริโภคและการผลิตสมดุลกันมากขึ้น
 
“ตอนนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าหมูจะกลับไป กก.ละ 120 บาทเมื่อไร แต่แนวโน้มหมูยังราคาแพงต่อ เนื่องจากผู้เลี้ยงหมูไม่กล้าเลี้ยงเพิ่ม เพราะกลัวขาดทุนหลังจากตอนนี้หมูเป็นราคาขึ้นมาค่อนข้างมาก เว้นแต่คนจะกินลดลงราคาก็น่าจะกลับมาถูกได้ ส่วนการเพิ่มกำลังการผลิตทั้งวงจร ยังต้องรอ เพราะผู้เลี้ยงเองกลัวว่า หากผลิตมากจะกลับมาขาดทุนอีกครั้ง แต่หากจะเพิ่มจริงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี เพราะวงจรชีวิตหมูตั้งแต่เกิดจนถึงโรงเชือดใช้เวลานาน”
 
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า จะเรียกผู้เกี่ยวข้องในวงจรหมูตั้งแต่ผู้เลี้ยงลูกหมู หมูเป็น โรงชำแหละ และผู้ขายหน้าเขียง


มาประชุมในเดือน เม.ย. นี้เพื่อหารือโครงสร้างราคาและต้นทุนการผลิตของแต่ละส่วนว่ามีต้นทุนจากไหน เพื่อนำมาพิจารณาสูตรคำนวณราคาและหากพบว่าสูตรปัจจุบัน คือ ราคาหมูเป็น คูณสอง บวกลบสอง เท่ากับราคาเนื้อหมูหน้าเขียง ไม่เป็นธรรมอาจปรับสูตรการคำนวณใหม่ให้เหมาะยิ่งขึ้น เพราะได้รับร้องเรียนว่ามีส่วนต่างกำไรของโรงชำแหละและผู้ขายหน้าเขียงสูงมาก
 
“ขณะนี้กรมได้ติดตามข้อมูลราคาหมูอยู่แล้ว ซึ่งทราบว่าปัญหามาจากเรื่องของขาดตลาด เพราะผู้เลี้ยงบางส่วนได้เลิกกิจการ และช่วงนี้หมูโตช้าเพราะอากาศร้อนจัด ทำให้เนื้อหมูออกสู่ตลาดน้อย ดังนั้นกรมจึงจะประชุมเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเพราะเมื่อได้ข้อมูลชัดเจนจะช่วยให้ทราบต้นทุนการผลิต และสามารถกำหนดราคาให้ลดลงได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงจะไม่จัดโครงการหมูธงฟ้า เพราะถูกโจมตีว่าเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด แต่จะเข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นตอ ที่สูตรการคำนวณราคา เพื่อให้ราคายุติธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงผู้บริโภค แต่ราคาที่ขึ้นขณะนี้ถือว่า เป็นไปตามฤดูกาลซึ่งเชื่อว่าหากเลยฤดูร้อนไป ราคาน่าจะลดกลับมาเท่าเดิมได้”.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์