เช็คช่วยชาติปลุกใช้จ่ายสงกรานต์

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 52

คาดว่าจะมีการใช้จ่ายที่ 98,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.18% เมื่อเทียบกับการใช้จ่ายของเทศกาลปี 51 ที่มีมูลค่า 96,100 ล้านบาท แต่เป็นการใช้จ่ายที่เติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมา โดยการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการใช้จ่ายผ่านเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ที่รัฐบาลแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ที่จะนำออกมาใช้จ่ายช่วงสงกรานต์ถึง 20-30% ของเช็คทั้งหมด หรือ 3,000-5,400 ล้านบาท จากโครงการเช็คช่วยชาติ 10,000-18,000 ล้านบาท
 
“ถ้าไม่มีโครงการเช็คช่วยชาติออกมา การใช้จ่ายในเทศกาลสงกรานต์ปีนี้คงเงียบเหงา เพราะหากนำเงินเช็คหักออกแล้วจะทำให้สงกรานต์ เหลือเงินสะพัดแค่ 93,000-95,000 ล้านบาทหรือติดลบ 1-3% เมื่อเทียบกับใช้จ่ายปีก่อน และ ถือเป็นการติดลบครั้งแรกที่ไม่เคยเกิดขึ้น สะท้อน ให้เห็นถึงความกังวลของภาคประชาชนต่อการ  ซึมตัวของเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน และสถานการณ์การเมือง”
 
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ภาพการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ แม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.18% แต่ยังเป็นอัตราขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 48

สะท้อนว่าสภาพเศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง ประชาชนกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงาน เห็นได้จากคำถามของขวัญที่คนไทยอยากได้มากสุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยส่วนใหญ่ตอบว่าต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องมากสุด 55.47% ขณะที่การแก้ไขปัญหาการเมืองมีผู้ตอบ 26.21% เท่านั้น
   
คนส่วนใหญ่ยังห่วงเรื่องปากท้อง โดยเฉพาะเดือน เม.ย. ที่เกรงว่าหลังจากสงกรานต์ แล้วจะเกิดปัญหาการเลิกจ้างงานตามมา

รวมถึงใกล้ช่วงฤดูเปิดเทอมทำให้ผู้ปกครองจำเป็น ต้องทยอยรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่าย โดย  ประชาชนเห็นด้วยที่ให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเม็ดเงิน 1.56 ล้านล้านบาท แต่ยังมีความไม่เข้าใจ และเป็นห่วงเรื่องของการกู้เงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจว่าจะได้ประโยชน์อย่างไร เพราะเกรงว่าจะทำให้ประเทศมีหนี้มากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเข้าใจเรื่องการกู้เงินให้กับประชาชน”
 
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แผนการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้เทียบกับปีที่แล้วในแง่มูลค่า
พบว่าเพิ่มขึ้น 50.1% แต่ในแง่ปริมาณ หรือจำนวนชิ้นที่ซื้อสินค้า ผู้ตอบส่วนใหญ่ตอบว่าลดลง 35.7% ซึ่งเป็นผลมาจากสินค้าราคาแพงทำให้คนชะลอการใช้จ่าย โดยการใช้จ่าย ผู้บริโภคส่วนมากจะไปทำบุญ 31.6% เฉลี่ยยอดทำบุญต่อคนที่ 1,441 บาท รองลงมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเฉลี่ยคนละ 3,251 บาท ทำอาหารทานที่บ้าน 12.5% เฉลี่ย 1,082 บาท สังสรรค์จัดเลี้ยง 11.3% เฉลี่ยต่อคน 2,993 บาท และซื้อสุรา 10.2% เฉลี่ยต่อคน 722 บาท
 
นางยาใจ ชูวิชา ประธานคณะจัดทำการสำรวจความคิดเห็นประเด็นธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

คือ อยากให้การเมืองปกติ เศรษฐกิจเติบโต โดยอยากให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจทุกทาง แก้ไขปัญหาการว่างงาน ส่งเสริม สินค้าภาคการเกษตร ควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพ ส่วนด้านการเมือง ควรมีความสามัคคีไม่แบ่งฝ่าย ลดความขัดแย้ง ปราบปรามการทุจริต  ลงโทษอย่างจริงจัง บริหารประเทศให้ความโปร่งใสและมีความซื่อสัตย์ ด้านสังคม สร้างความสามัคคีของคนในชาติ แก้ ไขปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิต.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์