จ่อปรับแอลพีจี เพิ่มอีก กก.ละ 25บ.

กระทรวงพลังงานจ่อปรับราคาก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นอีก กก.ละ 25 บาท

ชะลอ การใช้ก๊าซในประเทศ และหวังลดนำเข้าจากต่างประเทศ ดึงคนหันไปใช้ก๊าซเอ็นจีวีแทน คนที่มีรถใช้แอลพีจีเสียค่าใช้จ่ายอ่วมไม่แพ้น้ำมัน ส่วน รมช.คมนาคม “ทรงศักดิ์ ทองศรี” เตรียมหัก  “เสธ.หนั่น” ที่ค้านจัดหารถเมล์เพิ่ม 6,000 คัน หลังจากประชุมยืดเยื้อยังไม่ได้ข้อสรุป นัดถกใหม่อีกครั้ง 20 ส.ค.นี้ ถ้ายังหาข้อยุติไม่ได้ จะชงเข้า ครม.ชี้ขาด
 
ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 ส.ค. มีรายงานข่าวจาก สนพ. แจ้งว่า สนพ.เตรียมเสนอ แผนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคขนส่งให้ พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน

พิจารณาปรับขึ้นราคาใน 4 ขั้นตอน โดยขั้นที่ 1 ปรับเพิ่มอีก กก.ละ 5 บาท จากเดิมที่อยู่ 18.13 บาท เป็น 23.13 บาทต่อ กก. ซึ่งช่วยลดการใช้ก๊าซหุงต้มภายในประเทศ ได้เล็กน้อย แต่ไม่ช่วยชะลอการนำเข้าก๊าซหุงต้ม ขั้นที่ 2 ปรับขึ้นราคา 10 บาทต่อ กก. เพิ่มเป็น 28.13 ต่อ กก. จะช่วยลดการใช้ก๊าซหุงต้มในประเทศลงได้ 20% ขั้นที่ 3 ปรับขึ้น 15 บาทต่อ กก. เป็น 33.13 บาทต่อ กก. จะลดใช้ก๊าซในประเทศลง 40% และลดนำเข้าจากต่างประเทศได้ 50% ขั้นที่ 4 ปรับขึ้น 25 บาทต่อ กก. จะเป็น 43.13 บาทต่อ กก. ทำให้ไทยยกเลิกการนำเข้าก๊าชจากต่างประเทศลงได้ทันที
 
สำหรับแผนการปรับราคากระทรวงพลัง งานจะพิจารณาปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มทุกเดือน เพื่อชะลอการใช้ก๊าซฯ ในประเทศที่มีอัตราการใช้เพิ่มสูงขึ้น


และลดการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศเพราะหากปรับขึ้นเพียงครั้งละ 5 บาทต่อ กก. จะไม่ช่วยให้ปริมาณการใช้ลดลงแต่หากปรับขึ้นราคาตั้งแต่ 10-20 บาทต่อ กก. ก็จะทำให้ผู้ใช้รถ เครื่องยนต์ก๊าซหุงต้มหันไปใช้เครื่องยนต์เอ็นจีวีแทน รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า การปรับราคาก๊าซหุงต้ม รัฐบาลต้องกำหนดให้ชัดเจนและต้องปรับในอัตราที่มาก ไม่เช่นนั้นไม่ช่วยชะลอการใช้ก๊าซหุงต้มในประเทศลงได้ โดยอัตราที่ควรปรับเพิ่มน่าจะอยู่ที่ระดับ 15-20 บาทต่อ กก. ซึ่งเป็นสูตรใหม่ โดยยกเลิกสูตรคำนวณราคาเก่าที่คิดจากราคาส่งออก ราคาหน้าโรงกลั่นและต้นทุนโรงแยกที่จะปรับเพิ่มตามสัดส่วนจนถึงไตรมาสแรกของปี 52

ขณะเดียวกันการปรับราคาก๊าซหุงต้มต้องคำนึงถึงภาระของ ปตท. ในการนำเข้าด้วย เพราะกระทรวงพลังงานต้องหาเงินมาชำระคืนในส่วนต่างราคาก๊าซหุงต้มระหว่างราคาในตลาดโลกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 920 เหรียญสหรัฐต่อตัน

แต่ราคาขายในประเทศเพียง 320 เหรียญสหรัฐต่อตันเท่านั้น ที่สำคัญคณะกรรมการ ปตท. กำหนดกรอบการรับภาระค่าก๊าซหุงต้มไว้ที่ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น หากเกินวงเงินไม่สามารถอธิบาย ต่อผู้ถือหุ้นได้ ด้าน นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.คมนาคม กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแผนการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการจัดหารถโดยสารปรับอากาศที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี 6,000 คัน ที่มี พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า การประชุมวันที่ 20 ส.ค. นี้ จะต้องมีข้อสรุปโดยจะนำเรื่องส่งให้ ครม. เป็น ผู้ตัดสินชี้ขาด หากรัฐมนตรีบางท่านยังมีข้อสงสัย จะชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรในที่ประชุม ครม. แทน
 
นายทรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตามแผนการจัดหารถ 6,000 คัน คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ได้ เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร ต้องดำเนินการทุกส่วนพร้อม ๆ กัน

คือเปลี่ยนรถใหม่ทั้งหมดให้ครอบคลุมทุกเส้นทาง มีระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ จึงจะสามารถยกระดับคุณภาพการให้บริการของรถเมล์ทั้งระบบได้ ซึ่งมีการศึกษา พบว่า จำนวนรถดังกล่าวจะให้บริการได้ครบทั้ง 145 เส้นทาง และมีผลต่อความถี่ในการปล่อยรถ และเกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ภายในเวลา 10 ปี ภายใต้กรอบอัตราค่าเช่ารถรวมเหมาซ่อมและระบบที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการทุกอย่าง ในอัตราไม่เกินคันละ 5,100 บาทต่อวัน หากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไปจากนี้ อัตราค่าเช่า หรือระยะเวลาในการปล่อยรถอาจเปลี่ยนแปลงไปไม่เป็นไปตาม แผนที่กำหนด โดยขณะนี้ตนทราบว่ามีความพยายามที่จะให้ปรับลดการจัดหารถใหม่จาก 6,000 คัน เหลือ 4,000 คัน ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องไปตอบหรือชี้แจงในที่ประชุม ครม.แทน
 
“ในการประชุมวันที่ 20 ส.ค.นี้ มีความเป็นไปได้ที่อาจไม่มีข้อยุติ ผมเห็นว่าทางออกของ เรื่องนี้คงจะต้องเสนอให้ ครม.ชี้ขาด ผมได้หารือกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม แล้ว เพราะประชุมต่อไปก็คงไม่มีข้อสรุปแน่ แต่ก็ยินดีที่จะรับข้อสงสัยทุกประเด็นและชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรต่อ ครม.ทุกคนแทน” รมช. คมนาคมกล่าว.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์