คอสเพลย์ งานอดิเรกของหนุ่มสาวกระเป๋าหนัก

หากใครเห็นผู้ที่ชื่นชอบการ์ตูน 'แต่งตัวเลียน' แบบ 'การ์ตูน' ต่างๆ หรือเรียกอีกอย่างว่า 'คอสเพลย์' มาเดินโฉบเฉี่ยวในสถานที่แหล่งที่ชุมนุมของวัยรุ่น แน่นอน..ถามเจ้าตัวคำตอบที่ได้กลับมาไม่พ้นว่าเป็น 'งานอดิเรก' แต่เป็นงานอดิเรกที่ของคนกระเป๋าหนัก


"เฮ้ย !! นั่นเซเลอร์มูน โงกุนในดรากอนบอล มาเดินแถวนี้ได้ไงเนี่ย"

หากใครเห็นภาพหลายคนคงอุทานคล้ายๆ กัน เมื่อเห็นผู้ที่ชื่นชอบการ์ตูนแต่งตัวเลียนแบบการ์ตูนต่างๆ หรือเรียกอีกอย่างว่า "คอสเพลย์" มาเดินโฉบเฉี่ยวในสถานที่แหล่งที่ชุมนุมของวัยรุ่น

แน่นอน...ถามเจ้าตัว "การ์ตูน" คำตอบที่ได้กลับมาไม่พ้นว่าเป็นงานอดิเรก

ทว่า... งานอดิเรกของหนุ่มสาวการ์ตูนในโลกจริงนี้ ไม่ใช่ว่า "ใครๆ" จะสามารถทำได้ เพราะการแต่ง "คอสเพลย์" แต่ละครั้งใช้เงินไม่น้อยเลยทีเดียว

โบว์ งามอรุณโชติ สาวที่ชื่นชอบการแต่งตัวเป็นการ์ตูนสุดโปรด บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วการคอสเป็นความชื่นชอบของแต่ละคนซึ่งมองว่าเป็นการใช้เวลาว่างที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ส่วนเรื่องความสิ้นเปลืองไม่ได้ขอเงินพ่อแม่ แต่อาศัยทำงานพาร์ทไทม์ บางคนก็ทำของขาย ยิ่งถ้าใครมีความรู้ทางด้านงานศิลป์หรือการตัดเย็บก็จะตัดชุดขาย ค่าใช้จ่ายในการคอสต่อชุดขั้นต่ำจะอยู่ประมาณ 500-5,000 บาท ส่วนงานประกวดนั้นจะมีตั้งแต่งานเล็กๆ ในประเทศจนถึงงานประกวดระดับโลก



ส่วน เนโกอิ (นามแฝง) หนึ่งในสาวกที่นิยมชมชอบการแต่งคอสเพลย์ ได้บอกคำนิยามถึงการแต่งคอสเพลย์ว่า เป็นการเลียนแบบที่ไม่ใช่แค่การแต่งกายเหมือนเท่านั้น แต่รวมไปถึงลักษณะท่าทาง อากัปกิริยาด้วย ต้องเข้าใจถึงลักษณะของตัวการ์ตูนที่เราแต่งด้วย ครั้งแรกที่เริ่มแต่งคอสเพย์ คือแต่งไปงานโรงเรียน เมื่อพูดถึงงานประกวดอย่างที่ญี่ปุ่นจะไม่มากนัก เพราะที่นั่นจะเคร่งครัดเรื่องลิขสิทธิ์มาก ส่วนใหญ่จะจัดเป็นงานชุมนุมกันสนุกสนาน เพื่อพบปะถ่ายรูปกัน สำหรับที่ประเทศไทยก็จะมีงานอย่างของวิบูลย์กิจ คอมมิค เคยมีบ้างที่ประกวดสนุกๆ กับเพื่อน ซึ่งในช่วงแรกที่เริ่มคอสนั้น จะตัดชุดเองโดยไปเรียนเขียนแบบก่อน แล้วคุณแม่ก็ช่วยสอนด้วย แต่เดี๋ยวนี้มีร้านที่รับตัดชุดคอสเพลย์โดยเฉพาะ ก็สะดวกมากยิ่งขึ้น



ถึงแม้การคอสในแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็มีคนที่คลั่งไคล้ในการ์ตูนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ความหลงใหลนี้ให้เป็นประโยชน์โดยการประดิษฐ์อุปกรณ์คอสเพลย์ขายหารายได้ในการเป็นทุนแต่งคอสเพลย์ หรือเอาเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายชีวิตประจำวัน

ลิลิมุ (นามแฝง) เล่าว่า ปกติเป็นคนชอบงานฝีมืออยู่แล้ว บวกกับมีความชอบการ์ตูนเป็นทุนก็เลยลุกขึ้นมาประดิษฐ์อุปกรณ์คอสเพลย์ขาย เริ่มแรกตัดเสื้อผ้าใส่เองโดยมีแม่ช่วยสอนเรื่องการตัดเย็บ การใช้จักร หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ทำของขาย ลูกค้าเป็นแบบ 50-50 คือมีทั้งคนนอกและเด็กคอสเพลย์ สินค้าส่วนใหญ่ที่ขายจะเป็นจำพวกสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ซองโทรศัพท์ ผ้ากันเปื้อน และที่คาดผม (Headdress) ซึ่งสินค้าจะออกแบบเป็นโรลิต้า อิงไปทางลายลูกไม้เสียเป็นส่วนใหญ่ ลิลิมุ เล่าอีกว่า ของที่ทำยากที่สุดเท่าที่ทำมา คือ พวกหมวกที่มีกระบังเป็นลายลูกไม้อยู่รอบใบ (Bonnet) ราคาตกอยู่ที่ประมาณ 300-350 บาท ขึ้นอยู่กับเนื้อผ้าที่ลูกค้าสั่ง เมื่อทำของเสร็จก็จะเอาไปวางขายตามงานคอสเพลย์ หรือสั่งได้ที่บล็อค

ลิลิมุเผยว่า สินค้าที่ทำไม่ได้หวังผลกำไรเป็นที่หนึ่ง แต่สิ่งที่หวังคือ การมีความสุขที่ได้พบปะกับผู้คนและมีความสุขเมื่อลูกค้าหยิบของขึ้นมาชมว่าอันนี้น่ารัก อันโน้นน่ารัก เวลาที่ใช้ทำของขายส่วนใหญ่จะใช้เวลาว่างหลังจากเรียนเสร็จ

งานอดิเรกเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แต่หากต้องมีค่าใช้จ่ายมากเกินไป คงไม่สนุกนัก

ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11007


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์