กทม.โชว์อีกสวนเกษตรดาดฟ้าสนง.เขต

เขตหลักสี่เจ๋งไม่แพ้ทุ่งทานตะวัน เปิดโชว์ "สวนเกษตรดาดฟ้า"

ปลูกขายมาเกือบ 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2542 ครั้งแรกปลูกข้างสำนักงานเขต ก่อน จะย้ายขึ้นดาดฟ้า มีหมดทั้งคะน้า ผักบุ้ง กว้างตุ้ง กะหล่ำปลี ฯลฯ ส่งขายร้านเลมอนฟาร์ม และขายราคาถูกให้พนักงานเป็นสวัสดิการ แถมยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับประชาชนทั่วไปฟรีทุกอย่าง สอน ทำปุ๋ยอินทรีย์ นํ้าหมักชีวภาพ ฯลฯ คนแห่ดูงานเพียบตั้งแต่อนุบาลยันปริญญาตรี

หลังจาก "ข่าวสด" นำเสนอข่าวและภาพทุ่งทานตะวัน บริเวณหลังโรงเรียนสตรีวิทยา 2 ถ.เกษตร-นว มินทร์ เขตลาดพร้าว กทม. ไปแล้วนั้น

ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปชมความงาม พร้อมกับถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก และชื่นชมไอเดียของเขตลาดพร้าว ที่ใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่สำนักงานเขตหลักสี่ เลขที่ 999 หมู่ 2 แขวงทุ่งสองห้อง ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. มีกิจกรรมที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน คือ บนดาดฟ้าชั้น 9 มีสวนเกษตรขนาด 440 ตารางเมตร ปลูกผักตามฤดูกาล พืชสมุนไพร และพืชสวนกว่า 70 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นผักปลอดสารพิษ ชื่อว่า "สวนเกษตรดาดฟ้า"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อขึ้นไปยังสวนเกษตรแห่งนี้มีความร่มรื่น เย็นสบาย

พื้นที่ทั้งสองข้างบนดาดฟ้าเต็มไปด้วยแปลงผักที่กำลังเพาะต้นกล้า และแปลงผักที่เจริญงอกงามเต็มที่ มีศาลาร่มรื่นในสวนเกษตรที่ประดับตกแต่งด้วยพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด น.ส.เพ็ญศรี โตสะอาด ฝ่ายรักษาความสะอาด สำนักงานเขตหลักสี่ ผู้รับผิดชอบแปลงผัก เปิดเผย ว่า สวนเกษตรแห่งนี้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2542 โดยจะปลูกพืชผักตามฤดูกาล คือฤดูหนาวจะเน้นไปที่ผักสลัด ส่วนฤดูฝนและฤดูร้อนจะปลูกผักใบแข็ง รวมถึงผักกินต้นกินใบ กินดอกกินผล อาทิ ผักคะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักขม กะหลํ่าปลี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพร เช่น บวบ มะเขือเทศ หญ้าหนวดแมว ว่านหางจระเข้ เป็นต้น

สำหรับพันธุ์พืชที่นำมาปลูกจะเป็นการแลกเปลี่ยนกันกับผู้ที่สนใจด้านเกษตร ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งจะนำไปจำหน่ายที่ร้านเลมอนฟาร์ม
 
เนื่องจากเป็นแหล่งที่จำหน่ายผักปลอดสารพิษ อีกส่วนจะจำหน่ายในราคาถูกให้กับพนักงานเขตเหมือนเป็นสวัสดิการ เงินที่ได้จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และสามารถเลี้ยงตนเองได้โดยไม่ต้องใช้เงินรัฐ ส่วนวัสดุที่ใช้ปลูกพืชจะใช้กาบมะพร้าวนำมาปนกับดิน เพราะกากมะพร้าวจะดูดซับความชื้นได้ดี เมื่อนำมาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ที่คิดขึ้นเองจะได้ผลผลิตที่เจริญงอกงาม


น.ส.เพ็ญศรีกล่าวต่อว่า การดูแลสวนเกษตรแห่งนี้จะมีทีมงานทั้งหมด 3 คนช่วยกันดูแลให้นํ้า

ในเรื่องของการออกแบบซุ้มที่ใช้ปลูกพืชจะใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น ป้ายหาเสียงที่ทำจากพลาสติกหรือฟิวเจอร์บอร์ด และไม้ไผ่ที่ไม่ใช้งานแล้ว สวนเกษตรแห่งนี้เป็นเสมือนศูนย์การเรียนรู้ ที่เปิดให้ผู้สนใจเข้าชม ที่ผ่านมามีผู้สนใจไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กชั้นอนุบาลไปจนถึงนักศึกษาปริญญาตรี รวมถึงเกษตรกรต่างๆ มาฝึกอบรม ส่วนใหญ่จะมาเป็นกลุ่ม โดยตนจะทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องของการทำเกษตรฟื้นฟู นอกจากนี้เมื่อมีงานตามสถานที่ต่างๆ เช่น มหาวิทยา ลัยเกษตรศาสตร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จะออกบูธร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปอีกด้วย

ด้านน.ส.อมรรัตน์ กฤตยานวัช ผอ.เขตหลักสี่ เปิดเผยว่า สวนเกษตรเริ่มต้นทำตั้งแต่ปีพ.ศ.2542

อยู่ในความดูแลของฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ซึ่งมีที่ทำการอยู่ชั้น 7 อาคารสำนักงานเขตฯ แต่เดิมพนักงานฝ่ายรักษาความสะอาด ต้อง การพื้นที่สำหรับใช้ปลูกพืชผัก จึงไปขอใช้พื้นที่ของเอกชนด้านข้างสำนักงานเขตฯ เมื่อทำได้สักระยะเจ้าของที่ต้องการที่ดินคืน จึงต้องมองหาที่สำหรับปลูกพืชแห่งใหม่ประกอบกับเห็นว่าพื้นที่ของดาดฟ้าของสำนักงานเขต เป็นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึง ได้หารือกับวิศวกรถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างสวนเกษตรบนดาดฟ้า

เมื่อทางวิศวกรตรวจสอบแล้วบอกว่าสามารถทำได้ ฝ่ายรักษาความสะอาดจึงเริ่มทำแปลงเกษตรขึ้นโดยนำวัสดุเหลือใช้

เช่น ป้ายหาเสียง ไม้ไผ่ที่ใช้แล้ว รวมถึงกาบมะพร้าว มาทำเป็นระแนงเพื่อให้พืชเลื้อยเจริญเติบโต จากนั้นหาพันธุ์พืชและค้นคิดวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์ นํ้าหมักชีวภาพ โดยไม่ใช้สารเคมี และพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมา โดยสวนเกษตรดาดฟ้าแห่งนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแปลงสาธิตการปลูกผักสวนครัวในสภาพแวดล้อมแบบเมือง เช่น อาคารพาณิชย์ทั่วไป เพื่อการบริโภคในครัวเรือน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ผอ.เขตหลักสี่กล่าวต่อว่า การดำเนินการสวนเกษตรดาดฟ้าแห่งนี้ ประสบความสำเร็จได้รับความสนใจจากข้าราชการและหน่วยงานต่างๆ เข้าเยี่ยมชม

อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นกระแสรักษ์สุขภาพ การบริโภคอาหารสะอาด ผักปลอดสารพิษ ให้แก่บุคลากรของหน่วยงานและผู้เยี่ยมชม ทางนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. เคยมาเยี่ยมชมพร้อมทั้งบอกว่า พื้นที่เล็กน้อยบริเวณอาคารก็สามารถทำเป็นสวนหรือปลูกต้นไม้ได้

"นอกจากนี้ ทางฝ่ายรักษาความสะอาดยังเปิดสอนอาชีพเสริมให้กับผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ต่างๆ สารไล่แมลง การแยกธาตุอาหาร การเพาะเมล็ด เทคนิคการปลูกพืช สาธิตการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพจากขยะในครัวเรือน (โครงการขยะหอมของกทม.) พืชผักงอกงามเห็นความแตกต่างชัดเจน ส่วนอาชีพเสริมจะมีการทำเห็ดฟาง ทำไวน์ การทำนํ้ายาอเนกประสงค์ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่สนใจต้องการจะได้ความรู้ด้านใดประมาณ 3 เรื่อง ต่อ 1 ครั้ง ผู้ที่สนใจควรรวมกลุ่มกันให้ถึง 10 คน และทำหนังสือแจ้งล่วงหน้ามาทางสำนักงานเขตก่อน 1 สัปดาห์ เราจะเตรียมอุปกรณ์ในการอบรมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ในเวลา 08.00-16.00 น. ส่วนวันเสาร์เปิดครึ่งวัน"
ผอ.เขตหลักสี่ กล่าว

นายวิทูร วิมลศิลป์ อายุ 30 ปี กล่าวว่า ตนสนใจการปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมีมานานแล้ว

เมื่อทราบว่าที่สำนักงานเขตหลักสี่มีสวนเกษตรปลูกผักปลอดสารพิษจึงเดินทางมาเยี่ยมชม และมักจะซื้อผักปลอดสารพิษกลับไปประกอบอาหาร ตนยังเห็นว่า การใช้พื้นที่ของบ้านหรืออาคารปลูกพืชไม่ว่าจะเป็นชนิดใด สามารถช่วยลดโลกร้อนและมีประโยชน์เพราะสามารถนำมาบริโภคได้อีกด้วย

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์