เสวนาแฉภัยเด็กบนโลกออนไลน์ ชี้เว็บไซต์ที่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้าถึงตัวเด็กได้ง่าย
ทั้งชิงทรัพย์ ล่อลวง ข่มขืน หรือฆาตกรรม จี้ผู้ประกอบการเว็บไซต์ควรร่วมมือ ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเด็ก อาทิ ที่อยู่ หรือเบอร์โทรศัพท์ ด้านเอแบคโพลล์เปิดผลสำรวจเด็กไทยใช้อินเตอร์เน็ตหาคู่ พบวัยรุ่นชาย 38.8 เปอร์เซ็นต์ นัดพบคนรู้จักผ่านเน็ต ส่วนวัยรุ่นหญิง 22.4 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ชาย 26.6 เปอร์ เซ็นต์ เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักทางเน็ต ฝ่ายหญิง 8.2 เปอร์เซ็นต์ และอีก 60.9 เปอร์เซ็นต์ ชอบเล่นเกมส์ออนไลน์ประเภทต่อสู้ ยิงปืน ฟัน เตะ ต่อย
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะอนุกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของเด็กบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
จัดเวทีเสวนาเรื่อง "ผู้ร้ายล่อลวงเด็ก ภัยจากการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กบนโลกออนไลน์" โดยมี น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.พัฒนาสังคมฯ เป็น ประธาน มีผู้ประกอบการด้านเว็บไซต์จากภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โดยน.พ.พลเดช กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนใช้บริการเว็บไซต์มีลักษณะเป็นชุมชนกันมาก เช่น หาเพื่อน โพสต์ภาพ สนทนาบนเว็บบอร์ด มักต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ อี-เมล์ เพื่อสมัครใช้บริการ ขณะที่ผู้ให้บริการเว็บไซต์ สามารถนำข้อมูลส่วนตัวของเด็กมาเปิดเผยจนนำไปสู่ปัญหาร้ายแรง โดยเฉพาะมิจฉาชีพใช้ข้อมูลเข้าถึงตัวเด็ก เพื่อล่อลวงและนำสู่การลักพาตัว ชิงทรัพย์ ข่มขู่ ข่มขืน หรือฆาตกรรม
ด้านนางมรกต กุลธรรมโยธิน นายกสมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไทย กล่าวว่า
ช่องทางการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวของเด็ก เกิดขึ้นได้หลายช่องทางได้แก่ 1.ผู้ให้บริการทางเว็บไซต์เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลเอง สามารถใช้พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กแห่งชาติ มาตรา 27 ห้ามไม่ให้ผู้ใดเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก โดยมีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายได้ 2.มีผู้ดักหรือเจาะข้อมูลของผู้ให้บริการ สามารถใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก แล ะพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ได้ และ 3. เด็กถูกล่อลวงผ่านการให้ข้อมูลโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว สิ่งนี้ยังไม่มีมาตรการรองรับ ดังนั้นนอกจากมาตรการทางกฎหมายแล้ว ผู้ให้บริการเว็บไซต์ต้องไม่สนับสนุนให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล และมีมาตรการป้องกัน โดยโรงเรียนและผู้ปกครองควรสอนให้เด็กใช้อินเตอร์เน็ตอย่างปลอดภัย ไม่ใช่สอนให้ใช้เป็นเพียงอย่างเดียว อาจจำเป็นต้องบรรจุไว้ในหลักสูตรการสอน
ส่วนนายปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า
เห็นด้วยกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของเด็กบนเว็บไซต์ ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมาย Children"s Online Privacy Protection Act (COPPA) เรียกว่า คอปป้า กำหนดให้ผู้ให้บริการ เว็บไซต์ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี กฎหมายออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 และมีผลบังคับใช้ในปีพ.ศ.2543 สะท้อนให้เห็นว่า ต่างประเทศตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้ แต่ก็ยังเกิดปัญหา เพราะยังพบการล่อลวงเด็กผ่านข้อมูลที่ถูกเปิดเผยผ่านเว็บไซด์ในกลุ่มเด็กอายุ 15 ปี กฎหมายคอปป้าไม่สามารถครอบคลุมถึง ทำให้แต่ละเว็บไซต์จึงต้องดูแลกันเอง โดยห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี
โพลชี้โจ๋ชายหญิง นิยมเซ็กซ์ผ่านเน็ต
นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวต่อว่า ขณะที่ประเทศไทยแม้จะมีบางเว็บไซต์ที่เริ่มห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว
แต่ยังมีบางเว็บที่ยังไม่ให้ความร่วมมือ เพราะมองว่าข้อมูลเหล่านี้สามารถขายได้ เด็กจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือ จึงพบว่าในการค้นหาข้อมูลทางเว็บไซต์ คำที่นิยมใช้มากที่สุดคือ หาเพื่อน หรือ หาคู่ และตามด้วยจำนวนอายุที่ยังน้อยๆ ทำให้นำสู่การล่อลวงเด็กได้ง่าย ดังนั้นผู้ประกอบการเว็บไซต์ควรให้ความร่วมมือ ด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เช่น ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์
ขณะที่ นายนพดล กรรณิการ์ ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สำรวจพฤติกรรมและผลกระทบของการใช้อินเตอร์เน็ตจากกลุ่มเยาวชน กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปอายุ 15-24 ปี ในเขตกทม. ตั้งแต่วันที่ 15-17 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่าเด็กส่วนใหญ่มีจุดประสงค์ใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลความรู้ 88.2 เปอร์เซ็นต์, เล่นเกมส์ออนไลน์ 68.1 เปอร์ เซ็นต์, ดาวน์โหลดเพลง ภาพยนตร์ 65.1 เปอร์เซ็นต์, และใช้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ 57.9 เปอร์ เซ็นต์ ขณะที่ระยะเวลาการใช้อินเตอร์เน็ตน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน 13.6 เปอร์เซ็นต์, ระหว่าง 1-2 ชั่วโมง 23.9 เปอร์เซ็นต์, ระหว่าง 2-3 ชั่วโมง 20.3 เปอร์ เซ็นต์, ระหว่าง 3-4 ชั่วโมง 12.6 เปอร์เซ็นต์, ระหว่าง 4-5 ชั่วโมง 12 เปอร์เซ็นต์, และ 5 ชั่วโมงขึ้นไป 17.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนช่วงเวลาที่นิยมใช้มากที่สุด คือ 20.01-24.00 น. จำนวน 56.7 เปอร์เซ็นต์ และ 16.01-20.00 น. จำนวน 44.1 เปอร์เซ็นต์
นายนพดล กล่าวต่อว่า จากการจัดอันดับเว็บไซต์ที่เด็กเข้าชมบ่อยที่สุด 5 ลำดับแรก คือ
1.กูเกิ้ล 30.8 เปอร์เซ็นต์ 2.สนุกดอทคอม 11.3 เปอร์เซ็นต์ 3.ฮ็อตเมลล์ดอทคอม 9.9 เปอร์เซ็นต์ 4.กระปุกดอทคอม 5.9 เปอร์เซ็นต์ และ 5. ไฮไฟล์ต 3.9 เปอร์ เซ็นต์ นอกจากนี้ยังพบว่า วัยรุ่นชาย 20.8 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มวัยรุ่นเพศหญิง 12.2 เปอร์เซ็นต์ เคยประกาศหาคู่ทางอินเตอร์เน็ต ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับสื่อลามกบนอินเตอร์เน็ต เด็กและเยาวชน 53.2 เปอร์ เซ็นต์ เคยดูสื่อลามกทางอินเตอร์เน็ต ขณะที่ 46.8 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยดู
ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวอีกว่า ยังพบว่า 63.7 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ที่เคยดูสื่อลามกในอินเตอร์เน็ต
เคยใช้บริการดาวน์โหลดภาพ หรือวิดีโอโป๊ 63.7 เปอร์เซ็นต์ เล่นเกมผ่านเว็บโป๊ 15.7 เปอร์เซ็นต์ และใช้บริการขอรับภาพ หรือวิดีโอผ่านอี-เมล์ 13.9 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ช่องทางที่ทำให้รับรู้สื่อลามกทางอินเตอร์เน็ต คือรู้โดยบังเอิญ 52.2 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนแนะนำ 45.2 เปอร์เซ็นต์ รับรู้จากเว็บบอร์ด หรือกระทู้ต่างๆ 29.8 เปอร์เซ็นต์ และค้นหาจากเว็บไซต์ที่ให้บริการข้อมูล เช่น กูเกิ้ล เอ็มเอสเอ็น ไซแอมกรูรู 29.3 เปอร์เซ็นต์ โดยส่วนใหญ่เห็นว่าภาพโป๊ หรือวิดีโอโป๊เปลือยทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมทางเพศ เช่น ข่มขืน อนาจาร 81.4 เปอร์เซ็นต์ ทำให้วัยรุ่นหมกมุ่นเรื่องเซ็กซ์ 77.4 เปอร์เซ็นต์ และทำให้มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และเกิดการเลียนแบบ 76.5 เปอร์เซ็นต์
นายนพดล กล่าวว่า จากการสำรวจการเข้าใช้บริการเว็บไซต์ที่มีสาระ เมื่อเทียบกับเว็บไซต์บันเทิง พบว่า
56.3 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในระดับปานกลาง โดยปัจจัยที่ทำให้เข้าชมเว็บไซต์ที่มีสาระ เพราะต้องการหาความรู้ทั่วไป 72.5 เปอร์เซ็นต์ และหาข้อมูลประกอบการศึกษา 70.3 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ที่เคยได้รับผลกระทบจากการใช้อินเตอร์เน็ต อันดับ 1 คือมีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร หรือมีเพศสัมพันธ์กับคนในครอบครัว 39.9 เปอร์เซ็นต์ อันดับ 2 ถูกผู้อื่นกลั่นแกล้ง เช่น โพสต์ว่าเพื่อนคนนี้ขายตัว 37.2 เปอร์เซ็นต์ และอันดับ 3ถูกคุกคาม ทำร้าย ถูกกระทำอาชญากรรม 23.2 เปอร์เซ็นต์
ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สำหรับการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์
เด็กและเยาวชน 65.4 เปอร์เซ็นต์ เคยใช้บริการออนไลน์ หรือเว็บไซต์ ที่ต้องสมัครสมาชิก และกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ เพศ ที่อยู่ และหมายโทรศัพท์ และ 33.6 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนที่กรอกข้อมูลในเว็บไซต์ เคยถูกบุคคลที่ไม่รู้จักติดต่อเข้าถึงตัว ผ่านทางโทรศัพท์และอี-เมล์ มีทั้งพูดคุยธรรมดา ชักชวนออกไปพบกัน และใช้คำพูดลวนลามเรื่องเพศ โดยเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อมีบุคคลที่ไม่รู้จักติดต่อเข้าถึงตัว พบว่า ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ 30.4 เปอร์เซ็นต์ ถูกลวนลาม 21.4 เปอร์เซ็นต์ และถูกข่มขืน หรือทำร้ายร่างกาย 8.9 เปอร์เซ็นต์
นายนพดลกล่าวว่า ส่วนความเห็นเกี่ยวกับการสนทนาออนไลน์
พบว่าวัยรุ่น 83.8 เปอร์เซ็นต์ เคยพูดคุยผ่านทางโปรแกรมสนทนา และ 80.4 เปอร์เซ็นต์ เคยพูดคุยกับคนแปลกหน้า นอกจากนี้ในกลุ่มวัยรุ่นชาย 38.8 เปอร์เซ็นต์ เคยนัดพบคนที่รู้จักทางอินเตอร์เน็ต ขณะที่กลุ่มวัยรุ่นหญิง 22.4 เปอร์เซ็นต์ เคยนัดพบคนที่รู้จักทางอินเตอร์เน็ต ยังพบว่าในกลุ่มวัยรุ่นชาย 26.6 เปอร์เซ็นต์ เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักทางอินเตอร์เน็ต ขณะที่วัยรุ่นหญิง 8.2 เปอร์เซ็นต์ เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักทางอินเตอร์เน็ต และ 59.4 เปอร์เซ็นต์ ของวัยรุ่นหญิง ไม่เต็มใจต่อการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักทางอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้เยาวชนส่วนใหญ่ 60.1 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าแนวโน้มความรุนแรงของอาชญากรรมทางโลกออนไลน์ในอนาคตเพิ่มขึ้น
ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จากการสำรวจพฤติกรรมการเล่นเกมส์ออนไลน์ พบว่า
64.2 เปอร์เซ็นต์ เคยเล่นในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา และ 35.8 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคยเล่น สำหรับเนื้อหาสาระของเกมส์ที่ชอบเล่น คือ 1.เกมต่อสู้ ยิงปืน ฟัน เตะ ต่อย 60.9 เปอร์เซ็นต์ 2.เกมแฟนตาซี 36.8 เปอร์เซ็นต์ 3.เกมยิงตำรวจ 35.4 เปอร์เซ็นต์ 4.เกมแข่งขันกีฬา ฟุตบอล เทนนิส 28.8 เปอร์เซ็นต์ 5.เกมเปลื้องผ้า 15.2 เปอร์เซ็นต์ 6.เกมสะสมของ 13.1 เปอร์เซ็นต์ 7.เกมลับสมอง 12.9 เปอร์เซ็นต์ 8. เกมฝึกทักษะ 10.3 เปอร์เซ็นต์ 9.เกมดักฉุดหญิงสาว 4.5 เปอร์เซ็นต์ และ 10.อื่นๆ 2.5 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งจากการสำรวจพบว่าการควบคุมดูแลการใช้อินเจอร์เน็ตของผู้ปกครอง 41.5 เปอร์เซ็นต์ ยังคงปล่อยให้บุตรหลานใช้เหมือนเดิม ขณะที่ 23.9% จำกัดเวลาการใช้อินเตอร์เน็ต