บรมสุขหรือความสุขสูงสุดอันเป็นเป้าหมายในชีวิตของมนุษย์ที่พึงแสวงหาในทัศนะของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทหรือเรียกที่กันว่านิพพานนั้นมีลักษณะที่สำคัญคือเป็นภาวะของการดับกิเลสตัณหาอันเป็นเครื่องร้อยรัดตรึงและคอยเผาลนจิตใจของมนุษย์ไม่ให้สามารถบรรลุถึงนิพพานได้
ในพระสุตตันตปิฎกของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้กล่าวถึงนิพพานเอาไว้ว่าคือ ภาวะของการดับและการหลุดพ้นกิเลสและความทุกข์ต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องเผาลนจิตใจของมนุษย์ทำให้มีความเป็นอิสระปลอดโปร่ง ไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเพื่อทำให้เกิดความสุข เป็นความสุขอย่างแท้จริงมิใช่ความสุขปนทุกข์อย่างโลกียสุข ซึ่งการจะอธิบายถึงลักษณะของนิพพานนี้ว่าเป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก เพราะปุถุชนธรรมดาของโลกที่ยังคงเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ ยังเป็นผู้ที่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกตัวตนมาปรุงแต่งเพื่อบำรุงบำเรอและสนองต่อความต้องการคือกิเลสตัณหาทั้งทายกายและจิตใจ ทำให้หลงงมงายและยึดติดอยู่กับความสุขที่เป็นการสนองตอบกิเลสนั้นให้ขยายใหญ่ขึ้น เช่น ความสุขอันเกิดจากการมั่งคั่งเพิ่มพูนไปด้วยทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง มีคนรักใคร่เคารพนับถือมากมาย เป็นต้น
ปุถุชนเช่นนี้จึงไม่สามารถที่จะมีความคิดเห็นหรือเข้าใจได้ว่าความสุขที่ไม่ได้อาศัยปัจจัยจากภายนอกนั้นจะมีลักษณะที่เป็นความสุขได้อย่างไร ซึ่งพระพุทธเจ้าได้อธิบายถึงหลักคำสอนที่เป็นความสุขได้โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยเพื่อมาปรุงแต่งจากภายนอกหรือก็คือการบรรลุพระนิพพาน
พระนิพพานหรือวิมุตติสุขนี้เป็นสุขที่หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ปราศจากทุกข์แล้วเป็นความสุขที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุหรือกามทั้งหลาย มีความประณีตและละเอียดลึกซึ้ง เป็นอิสระ ปลอดโปร่ง เป็นความสุขที่แท้จริงมิใช่ความสุขที่ต้องอาศัยสิ่งเร้าอื่น ๆ เพื่อทำให้เกิดความสุข มีความเต็ม ความอิ่มเอิบ ความสมบูรณ์ในตนเอง ไม่มีความยึดติดในสิ่งใดแม้กระทั่งความสุขในพระนิพพานเองก็ไม่ ยึดติด ลักษณะของพระนิพพานนั้นดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 17 พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า " สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา[1]" และที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกก ทุก ติกนิบาต อุปปาทาสูตรเป็นสูตรที่ว่าด้วยความเกิดขึ้นแห่งพระตถาคตได้มีระบุว่า
" สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา[2] " ซึ่ง " ธรรม " หมายรวมถึงพระนิพพานด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกอีกหลายแห่งทั้งที่ระบุโดยตรงและโดยอ้อมที่มีนัยบอกว่า " นิพพานเป็นอนัตตา " คำว่าอนัตตานี้แปลว่า มิใช่ตัวตนคือ เป็นของสูญ เป็นสภาพหาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใครจริง ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามความปรารถนาหรือการบังคับบัญชาใด ๆ เป็นสภาวธรรมที่ดำรงอยู่หรือเป็นไปตามธรรมดาของมันเอง ซึ่งเป็นภาวะที่ตรงกันข้ามกับความเป็นอัตตาหรือตัวตน[3] ธรรมต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้น (ในที่นี้รวมไปถึงนิพพานด้วย) จึงลักษณะที่สำคัญคือมีความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อันหมายถึงไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดกาล ไม่เป็นนิรันดร์ เป็นทุกข์เพราะจะต้องมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งอยู่ได้ไม่นานก็มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาและไม่มีตัวตน
ส่วนบรมสุขในทัศนะของวัดพระธรรมกายนั้นจะเรียกกันว่า อายตนนิพพาน ซึ่งเป็นคำที่เรียกกัน เฉพาะตามแบบฉบับหลักวิชชาธรรมกายดั้งเดิมของหลวงพ่อสด จนทฺสโร โดยลักษณะของอายตนนิพพานกล่าวได้ว่าเป็น เอกันตบรมสุข คือ มีลักษณะที่เป็นความสุขเพียงอย่างเดียว ไม่มีความทุกข์ใด ๆ เจือปน ไม่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นที่ที่คงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นนิจนิรันดร์ เป็นนิจจัง สุขขัง และอัตตา[4]
คำว่าอายตนะนั้นแปลตามความหมายเดิมแปลว่า แหล่ง แดน บ่อเกิด ขุม ที่เกิด ที่ชุมนุม ส่วนคำว่านิพพานตามความหมายเดิมแปลว่า ไม่มีการพัดไป ไม่มีสิ่งร้อยรัด เมื่อนำทั้งสองคำนี้มารวมเข้าด้วยกันจึงหมายความถึงดินแดนหรือที่เกิดที่ไม่มีการพัดไปหรือไม่มีสิ่งร้อยรัดคือกิเลสตัณหา จึงสามารถตีความโดยรวมได้ว่า อายตนนิพพานเป็นดินแดนที่อยู่ในลักษณะเป็นสุขเพียง อย่างเดียวเพราะมีความจีรัง เป็นนิรันดร์ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงและไม่มีความทุกข์ใด ๆ
[1] สํ.ข. (ไทย) 17/12 - 15/27 - 28.
[2] อง.ติก. (ไทย) 20/137/385.
[3] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2551). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม. หน้า 485 - 486.
[4] พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย). (2540). เป้าหมายชีวิต ใน อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ เล่ม 11. ออนไลน์. ดังนั้นจะเห็นได้ว่าบรมสุขหรือนิพพานในทัศนะของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ปรากฏใน พระสุตตันตปิฎกกับบรมสุขทัศนะของวัดพระธรรมกายนั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องของ การอธิบายถึงลักษณะของนิพพานคือ ความเป็นอัตตากับอนัตตา โดยพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้ระบุและปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนในพระไตรปิฎกว่า นิพพานเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนและเป็นภาวะของการดับกิเลส หลุดพ้นจากความทุกข์ แม้กระทั่งความสุขที่เกิดจากการได้บรรลุนิพพานก็ไม่ควรยึดติด
ส่วนบรมสุขหรือนิพพานในทัศนะของวัดพระธรรมกายนั้นเรียกว่า "อายตนนิพพาน" คือไม่ใช่สภาวะอย่างทัศนะของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทแต่เป็นสถานที่ เป็นดินแดนที่มีความคงที่ เป็นนิจนิรันดร์เป็นนิจจัง สุขขัง และอัตตา ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่แตกต่างจากพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่ว่าอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาอย่างสุดโต่งคนละขั้ว นอกจากนั้นในทัศนะของวัดพระธรรมกายยังสอนว่าใน
อายตนนิพพานนี้มีความสุขเพียงอย่างเดียว แต่ในทัศนะของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทกล่าวว่าแม้แต่ความสุขก็ไม่นำมายึดติดเพราะจะนำไปสู่การเกิดอุปาทานอันเป็นเหตุก่อกิเลสอื่น ๆ ตามมา และคำว่าอายตนะที่ปรากฏในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมักใช้กับทางโลกียสุขมากกว่าทางโลกุตตรสุข โดยอายตนะ แปลว่า ที่เชื่อมต่อ เครื่องติดต่อ หมายถึงสิ่งที่เป็นสื่อสำหรับติดต่อกันที่ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น
แบ่งออกเป็น 2 ประการอันได้แก่
อายตนะภายในคือสื่อเชื่อมต่อที่อยู่ในตัวคนเพื่อการรับรู้มี 6 ประการคือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ โดยอายตนะภายในเหล่านี้เป็นที่เชื่อมต่อกับอายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ ซึ่งอายตนะภายนอกนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อารมณ์ เมื่อตาเห็นรูป เรียกว่า สัมผัส รู้ว่ามีการเห็นเรียกว่าวิญญาณ เกิดความรู้สึกขึ้น เรียกว่า เวทนา จะเห็นได้ว่าในทางพระพุทธศาสนานิกาย เถรวาทนั้น อายตนะมิได้มีความเกี่ยวข้องกับดินแดนหรือสถานที่แต่อย่างใด ฉะนั้นบรมสุขในทัศนะของ วัดพระธรรมกายจึงมีความแตกต่างเป็นอย่างมากกับบรมสุขในทัศนะของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท