ชนะไม่ได้ให้กลายเป็นพวก เล็งถอนยาบ้าจากยาเสพติด

ชนะไม่ได้ให้กลายเป็นพวก เล็งถอนยาบ้าจากยาเสพติด


เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซนทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว ศาลฏีกา ร่วมกับสำนักกิจการในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมประชุมเรื่อง ทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลก เพื่อนำผลของการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด( UNGASS ) ปี 2016 มาปรับใช้ในประเทศไทย โดยมี นายวีรพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เปิดการประชุม

 ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการแก้ไขยาเสพติดเมื่อ 28 ปีที่ผ่านมาว่า 

มีแนวคิดทำให้โลกปราศจากยาเสพติดด้วยประกาศสงคราม แต่เมื่อทำงานร่วมกับยาเสพติดมายาวนานจนถึงปัจจุบัน โลกยอมจำนนให้ยาเสพติด และกลับมาคิดว่าจะอยู่ร่วมกับยาเสพติดได้อย่างไร เปรียบเทียบได้กับคนเป็นมะเร็งที่ไม่มียารักษา ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งต่อไปให้ได้อย่างมีความสุข ขณะนี้ทิศทางเกี่ยวกับยาเสพติดกำลังเปลี่ยนไป หลายประเทศพูดถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้เสพ ทิศทางของการใช้ยาเสพติดเพื่อรักษาอาการป่วย แต่ยูเอ็นยังไม่กล้าเขียนและไม่กล้ายอมรับ ทั้งที่มีผลงานวิจัยยืนยันและมีทิศทางของการยอมรับมากกว่า 70% แล้ว

รมว.ยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า

 

ในที่ประชุม UNGASS ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เรียกร้องให้คำนึงถึงการลงโทษที่ได้สัดส่วน เช่น อันตรายของสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนที่มีต่อตนเองและผู้อื่นในสังคม บทบาทของผู้กระทำผิด มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก หลายประเทศนำแนวคิดของประเทศไทยไปใช้ แต่ในไทยทำไม่ได้เพราะติดขัดที่กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ถ้าไม่แก้กฎหมายก็เดินต่อไปไม่ได้ ตนจึงผลักดันให้ยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดทั้งระบบ

 ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา กฎหมายใหม่จะเปิดช่องให้ศาลมีโอกาสใช้ดุลยพินิจในการลงโทษจำคุก หรือการปรับที่น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เมื่อมีเหตุอันสมควรเฉพาะราย โดยพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของผู้กระทำความผิด และพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องดำเนินการให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ ปราบปราม ป้องกัน และบำบัด แต่ที่ผ่านมาการบำบัดทำไม่ได้ ติดขัดที่กฎหมาย ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีนจากยาเสพติดรุนแรงเป็นยาปกติ เพราะในทางการแพทย์ เมทแอมเฟตามีนมีผลทำลายสุขภาพและสมองน้อยกว่าบุหรี่และสุรา แต่สังคมกลับยอมรับบุหรี่และสุรา หลังจากนี้จะหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการยกเลิกเมทแอมเฟตามีนจากบัญชียาเสพติด.


ชนะไม่ได้ให้กลายเป็นพวก เล็งถอนยาบ้าจากยาเสพติด

ขอบคุณ >>dailynews.co.th

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์