โพลล์ชี้เด็กไทยติดเกมต่อสู้รุนแรงมากขึ้น

เอแบคโพลล์สำรวจพบเด็กไทยติดเกมต่อสู้รุนแรงมากขึ้น เสียเงินเฉลี่ยต่อเดือนร้อยละ 10-20 กับการเล่นเกม ชี้ทุกฝ่ายต้องเร่งแก้ไขปัญหา เสนอจัดเรตติ้งเกมเหมือนรายการโทรทัศน์

นายศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ และนายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผล


สำรวจเรื่อง “การเล่นเกมคอมพิวเตอร์และเกมออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต” ในกลุ่มเยาวชนอายุ 10-24 ปี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,441 ตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 93.5 เคยเล่นเกมคอมพิวเตอร์หรือเกมออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตในช่วง 30 วันที่ผ่านมา โดยร้อยละ 53 ชอบเล่นเกมต่อสู้มากที่สุด รองลงมาคือ เกมแฟนตาซีผจญภัย เกมแข่งขันกีฬา เกมลับสมอง และเกมฝึกทักษะ

ส่วนความถี่ในการเล่นโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์ พบว่า

ร้อยละ 24 เล่นทุกวัน/เกือบทุกวัน ร้อยละ 22 เล่น 3-4 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 23 เล่น 1-2 วันต่อสัปดาห์ โดยกลุ่มเยาวชนอายุ 10-15 ปี เล่นเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 44 นาทีต่อครั้ง อายุ 16-20 ปี เล่น 3 ชั่วโมง 13 นาทีต่อครั้ง กลุ่มอายุ 21-24 ปี เล่นเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 21 นาทีต่อครั้ง และพบว่าในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.01-20.00 น. เป็นเวลาที่เด็กเล่นเกมมากที่สุด ส่วนเหตุผลที่เล่นเกม 5 อันดับแรก คือ เพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเครียด พัฒนาทักษะทางคอมพิวเตอร์ เล่นแก้เหงา และรู้จักเพื่อนใหม่

เมื่อสอบถามถึงค่าใช้จ่ายในการเล่นเกม พบว่า

เยาวชน 10-15 ปี เสียค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 382 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 20 ของรายได้ เยาวชน 16-20 ปี จ่าย 633 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 16 ของรายได้ อายุ 21-24 ปี จ่าย 766 บาทต่อเดือน คิดเป็นร้อยละ 10 ของรายได้ โดยเพียงร้อยละ 35 ระบุว่าการเล่นเกมทำให้ติด สำหรับผลกระทบจากการเล่นเกม ได้แก่ เสียเงิน สายตาแย่ลง เสียเวลา ผลการเรียนลดลง และพักผ่อนไม่พอ

นายนพดล กล่าวว่า การสำรวจนี้พบว่า

เด็กเล่นเกมต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่เล่มเกมเชิงทักษะไม่เพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดูแลคุณภาพเด็ก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเด็กอายุ 10-15 ปี แม้จะใช้เวลาในการเล่นต่อครั้งน้อยกว่า แต่ความถี่ในการเล่นจะมากกว่าและเสียค่าใช้จ่ายในสัดส่วนสูงมาก ขณะที่นายศรีศักดิ์ เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอทีซี) เข้ามาดูแล หากปล่อยไปจะเป็นเหมือนสิ่งเสพติด พร้อมเสนอให้มีการจัดเรตติ้งเกมและศึกษาพัฒนาให้มีการเรียนด้วยการเล่นเกม

 

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย:



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์