ทีดีอาร์ไอ พบคนไข้สิทธิบัตรทองตายมากกว่า ขรก.70%

ทีดีอาร์ไอ พบคนไข้สิทธิบัตรทองตายมากกว่า ขรก.70%


เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) กล่าวว่า หลังจากที่ตนเขียนบทความที่อ้างอิงจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เรื่องโครงการศึกษาผลลัพธ์ทางสุขภาพ และความเป็นธรรมทางสุขภาพ ที่พบว่าปี 2550-2554 ผู้สูงอายุ 60 ปี สิทธิบัตรทอง ที่ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็ง จะเสียชีวิตในหนึ่งปีมากกว่าสิทธิข้าราชการถึง 70,000 กว่าคน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด อุบัติเหตุหลอดเลือดในสมอง และมะเร็ง จะเสียชีวิตมากผิดปกติ ต่างจากโรคอื่น 30,000 กว่าคน ทั้งนี้การเขียนบทความก็เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องหาทางแก้ไขป้องกันหยุดการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ซึ่งดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง กลับไม่ยอมรับในเรื่องนี้ และมีการออกข่าวว่าเป็นปัญหาในเรื่องการตีความงานวิจัย


 "อัตราการเสียชีวิตที่มากกว่า 70% ในบางโรคเช่นนี้ ถือว่ามีความผิดปกติ ผมมองว่าจำเป็นต้องหยุดการดำเนินการของสปสช.ก่อนที่จะหาสาเหตุ นั่นคือหยุดการซื้อยาแบบเหมาโหล ซึ่ง สปสช.ได้รับงบประมาณปีละแสนกว่าล้านบาท โดยหักเงิน 30% มาเพื่อซื้อยาแบบเหมา และบังคับแพทย์ให้รักษาคนไข้ด้วยวิธีนั้นวิธีนี้ จึงจะได้เงิน จึงอยากให้ สปสช.หยุดกระบวนการนี้ไว้ก่อน และหาทางแก้ไข เพื่อหยุดการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้"นายอานนท์ กล่าว 

นายอานนท์ กล่าวอีกว่า สปสช.เป็นผู้ว่าจ้างทำงานวิจัยนี้ แต่ผลออกมาแล้วกลับไม่อยากให้สังคมรับรู้ จึงเลือกเผยแพร่แต่ผลวิจัยที่ดีออกมา อย่างไรก็ตามในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ จะมีการประชุมอภิปรายเรื่องการตีความงานวิจัยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระหว่างนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานต่าง ๆ เช่น นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแแห่งชาติ (สนช.) และผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. ส่วนตัวจะขอให้ทีดีอาร์ไอ ส่งข้อมูลผลการวิจัยฉบับเต็มออกมา เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเลยว่าตีความผิดจริงหรือไม่ 

ทางด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษก สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับคุณภาพของขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือด( Stent) ที่ใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ที่ สปสช.จัดซื้อไม่มีคุณภาพ เพราะซื้อเหมาโหล ทำให้ผู้ป่วยบัตรทองเสียชีวิตเยอะกว่าสิทธิข้าราชการ ซึ่งตนขอยืนยันว่าสเต้นท์ที่ซื้อรวมผ่านองค์การเภสัชกรรมนั้น มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา และมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่อ้างเข้าใจกันว่าคืองานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี ที่ศึกษาผู้ป่วยสวัสดิการข้าราชการ และบัตรทอง ปี พ.ศ.2548 มาศึกษา แต่ สปสช.ร่วมกับ อภ.จัดหาสเต้นท์ให้ผู้ป่วย เริ่มดำเนินการในปี 2552 จากข้อมูลตรงนี้ก็ชัดเจนว่า ไม่สามารถเอามาสรุปได้ว่าเป็นเพราะการจัดซื้อรวมของ สปสช.ทำให้ ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองตายเยอะกว่าจริงตามคำกล่าวอ้าง

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์