รถเสียนาทีละร้อย ผู้ตรวจการชงไอเดียค่าปรับแก้จราจรติด

"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" จี้หน่วยงานเร่งแก้ปัญหาจราจร-ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

ชี้การบริหารจัดการขาดความเชื่อมโยง นโยบายรถคันแรกทำให้เกิดปัญหาจราจรเพิ่มมากขึ้น บี้โปลิศ-ขนส่ง เข้มงวดกวดขันพฤติกรรมผู้ขับขี่ ใครไม่มีพื้นที่จอดรถไม่ควรอนุญาตให้มีรถ พร้อมเรียกค่าปรับรถจอดเสีย-เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนนาทีละ 100 บาทเพื่อสร้างวินัยจราจรให้ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นายศรีราชา เจริญพานิช  ผู้ตรวจการแผ่นดิน  เปิดเผยว่า
 
จากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินการประชุมอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 แล้วเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ปัญหาหลักของสภาวะการจราจรและระบบการขนส่งมวลชนนั้นมีหลากหลายมิติมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล การบริหารจัดการการเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชนรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องใกล้ตัว อย่างวินัยการจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนน


รถเสียนาทีละร้อย ผู้ตรวจการชงไอเดียค่าปรับแก้จราจรติด

นายศรีราชา กล่าวอีกว่า ทางผู้ตรวจการจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อลดปัญหาการจราจรไป 3 ข้อ
 
คือ 1. ด้านการบริหารจัดการการจราจร เสนอแนะให้กรุงเทพมหานครศึกษาความเป็นไปได้และสำรวจเส้นทางต่าง ๆ เพื่อเชื่อมต่อถนนที่มีโอกาสใช้เป็นทางลัดโดยหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดินจากเอกชน พร้อมทั้งจัดทำแผนที่เส้นทางลัดเพื่อแจกจ่ายประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งการตัดแต่งกิ่งไม้ที่บังป้ายจราจรทำให้ทัศนวิสัยการขับขี่ยานพาหนะลดลงและเกิดอุบัติเหตุตามมา เสนอให้กรมทางหลวง รวมทั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยปรับปรุงและเพิ่มป้ายเครื่องหมายจำกัดความเร็วต้นถนนสายหลัก ทั้งทางด่วนและมอเตอร์เวย์ เป็นการช่วยเตือนให้ผู้ขับขี่ทราบถึงการใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด มากกว่าการเพิ่มกล้องดักจับความเร็วแล้วเรียกปรับค่าปรับภายหลัง  ตลอดจนเร่งการสำรวจและก่อสร้างถนนเพื่อเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง
 
โดยสร้างบนหรือคร่อมคลองสาธารณะแทนการเวนคืนที่ดินจากเอกชน อีกทั้งขยายช่องทางการจราจรบนทางหลวงพิเศษหมายเลข7 (มอเตอร์เวย์)
 
ทั้งขาเข้าและขาออก (ช่วงจุดตัดกับถนนวงแหวนสายตะวันออก) ที่ปัจจุบันนี้ปริมาณรถหนาแน่นและบางครั้งชะลอตัวจนถึงหยุดนิ่ง ด้วยการเพิ่มช่องทางซ้ายมืออีก 1 – 2 ช่องทางก่อนถึงทางออกถนนร่มเกล้าอีก 1 กิโลเมตร และขยายช่องจราจรด้านซ้ายก่อนแยกขึ้นบางปะอินและบางนาอีก 1 ช่องทาง เพื่อป้องกันรถเบียดหรือแซงเข้าช่องซ้าย เพื่อมิให้การจราจรติดขัดในช่วงขาออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเข้ากรุงเทพฯ อีกทั้งเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีแก่ชาวต่างชาติที่ไม่ต้องเผชิญการจราจรที่ติดขัด

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ลดจุดตัดของถนนหรือแยกหลายจุดที่เป็นปัญหาเรื้อรังด้วยการเสนอให้ทดลองใช้การเดินรถทางเดียว (one way)

เข้าและออกนอกเมืองคู่ขนานกันไปของถนนสายหลักที่คู่ขนานกัน เช่น ขาเข้าใช้ถนนพระรามที่ 4 ขาออกใช้ถนนสุขุมวิท หรือถนนเพชรบุรีเป็นขาเข้า ถนนพระรามที่ 9 เป็นขาออก ซึ่งหลายประเทศใช้วิธีการนี้แก้ไขปัญหาและประสบความสำเร็จอย่างดี  และที่เป็นปัญหาอย่างมากในขณะนี้ คือ จุด u-turn ต่าง ๆ โดยเฉพาะจุด u-turn ที่รับรถออกจากห้างสรรพสินค้า เช่น central สาขาแจ้งวัฒนะ ที่การจราจรติดขัดอย่างมาก เสนอให้ใช้ถนนสามัคคีเป็นจุด u-turn หรือ ทำสะพานกลับรถแทนการใช้ Barrier กั้นเป็นช่องทางให้ u-turn เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทั้งรถเบียดแซง และพุ่งชน barrier อีกทั้งเสนอให้แก้ไขวิกฤตจราจรบริเวณหน้าศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะด้วยการขุดอุโมงค์จากซอยแจ้งวัฒนะ 5 ลอดไปขึ้นถนนวิภาวดีหน้าโรงเรียนไผทอุดมศึกษาเพื่อระบายรถออกสู่ถนนวิภาวดี และทำสะพานลอยจากหน้าศูนย์ราชการยาวลงถนนเลียบคลองประปาเป็นการระบายรถออกสู่ถนนงามวงศ์วาน ทั้งนี้พร้อมเป็นองค์กรกลางเชื่อมประสานกรมทางหลวง กรุงเทพมหานคร สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง และบริษัท ธนารักษ์สินทรัพย์ จำกัด เพื่อหารือร่วมกันและยกร่างข้อสรุปเสนอรัฐบาลต่อไป

2.การเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ ให้เป็นโครงข่ายและเป็นทางเลือกที่มีคุณภาพและเป็นที่นิยมของผู้ใช้บริการ เช่น เรือต่อรถที่ท่าเรือราชปรารภ และต่อทางเดินลอยฟ้าเพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าได้ และให้หน่วยงานประชาสัมพันธ์เส้นทางอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งขอให้กรุงเทพมหานครปรับปรุงภูมิทัศน์และไฟส่องสว่าง ป้ายบอกทาง ป้ายแนะนำ เพื่ออำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ  นอกจากนี้ขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เห็นแก่สาธารณประโยชน์ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยขอใช้พื้นที่ราชพัสดุในบริเวณมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับการก่อสร้างถนนยกระดับที่เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างถนนวงแหวนสายตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกันที่ปัจจุบันนี้มีการขึ้นเสาเพื่อรองรับไว้แล้วจากถนนเกษตร - นวมินทร์ แทนข้อเสนอให้เปลี่ยนเป็นการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนาดเบา (Light rail)

ซึ่งที่จริงไม่อาจทดแทนกันได้ เพราะขนคนได้ไม่มาก ไม่คุ้มค่าเหมือนกับการสร้างถนนลอยฟ้า

ซึ่งเป็นถนนหลักเชื่อมระหว่างเส้นทางหลักทางตะวันออก (มอเตอร์เวย์สาย 4) มาเชื่อมกับถนนวิภาวดี – รังสิต เลยไปถึงถนนงามวงศ์วานและถนนรัตนาธิเบศร์ ก็ต้องให้กรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยพิจารณาและศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้างเส้นทางเพิ่มเติมระบายรถยนต์ลงสู่ภาคใต้เพื่อบรรเทาการจราจรจากกรุงเทพมหานคร โดยอาจพิจารณาต่อเชื่อมจากสายอำเภอบางใหญ่ ไปอำเภอดอนตูม และอำเภอปากท่อให้เป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากเส้นถนนเพชรเกษม และธนบุรี-ปากท่อ ซึ่งน่าจะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ

3.วินัยการจราจรและมารยาทการขับรถ โดยขอให้กองบังคับการตำรวจจราจรและกรมการขนส่งทางบกกวดขันและเข้มงวดต่อพฤติกรรมการขับขี่มากขึ้น เช่น กรณีฝ่าสัญญาณไฟแดงและย้อนศรซึ่งพบมากจากผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซต์ ทั้งในตัวเมืองและชนบท ดังนั้น ขอให้กรมการขนส่งทางบกปรับปรุงวินัยการจราจรอย่างเข้มงวด อีกทั้งในการซื้อรถใหม่ต้องแสดงว่าตนมีพื้นที่จอดรถด้วยเพื่อกรมการขนส่งทางบกใช้ประกอบการพิจารณาอนุญาตต่อไป โดยเฉพาะรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ถนนไม่พอรองรับ ดังนั้น การระบุที่จอดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ได้ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง
 
เร่งทบทวนเพื่อปรับปรุง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อกำหนดให้มีการอนุญาตการก่อสร้างอาคารต้องคำนึงการจัดพื้นที่จอดรถให้เพียงพอและเหมาะสมต่ออาคาร โดยเฉพาะหอพักเพื่อป้องกันมิให้มีการจอดรถบนถนนหรือทางสาธารณะลดการกีดขวางการจราจร ตลอดจนห้ามไม่ให้มีการจอดรถบนถนนสาธารณะเส้นหลักตลอดเวลา ส่วนถนนสาธารณะเส้นรองสามารถจอดได้เฉพาะตั้งแต่เวลา 22.00 - 05.00 น. เท่านั้น เพื่อเพิ่มพื้นที่การจราจรมากขึ้น รวมทั้งปรับผู้ที่ขับขี่รถแล้วไปเสีย หรือเกิดอุบัติเหตุตามท้องถนนโดยคิดค่าปรับเป็นรายนาที เช่น นาทีละ 100 บาท เพื่อสร้างวินัยการจราจรที่ดีเกิดความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพื่อผู้ขับขี่จะได้ดูแลรถยนต์ให้อยู่ในสภาพดี อุบัติเหตุและการสูญเสียจะลดน้อยลงไปด้วย 

“สภาพการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลหนาแน่นและติดขัดมากยิ่งขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณรถยนต์ใหม่จดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น และจุดบอดของถนนสายหลักตามจุดต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันรวมทั้งสุขภาพจิตของประชาชน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นปัญหาระดับชาติของคนเมืองและไม่เมืองไปแล้ว การระดมการแก้ปัญหาร่วมกันจะทำให้วิกฤตที่เรื้อรังนั้นดีขึ้นปัญหาการจราจรจะเบาบางลง หากหน่วยงานมีข้อจำกัดก็ต้องมาบูรณาการร่วมกันเพื่อให้การดำเนินโครงการและมาตรการต่าง ๆ เดินหน้าต่อไปได้ และต่อยอดการบริหารจัดการจราจรและระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น” นายศรีราชากล่าว.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์