เด็ก14ยึดเรยาด่าแม่จนโดดน้ำตาย

 

คมชัดลึก :"นิพิฏฐ์"ชมผู้จัด"ดอกส้มสีทอง"ปรับตามที่ขอ โยน"องอาจ" ปรับเวลาฉาย ย้ำหากข่าวเด็ก14 เลียนแบบ "เรยา" จนแม่ต้องไปโดดน้ำตาย เป็นจริง ละครเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นละครบาป ผู้สร้าง ผู้เขียนบท ผู้แสดง ต้องไปทำบุญให้แก่แม่ของเด็ก ด้านเครือข่ายครอบครัว ออกโรงหนุนอีกแรงจัดเรตรายการทีวีใหม่ เตรียมยื่นหนังสือ “นิพิฏฐ์-องอาจ-กสทช.” 9 พ.ค. นี้ พร้อมเสนอเป็นเจ้าภาพเปิดเวทีหาจุดร่วมกัน ระหว่าง ผู้ประกอบการ ภาครัฐ และเครือข่าย

  เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า
 
ขอชื่นชมผู้ผลิตละครดอกส้มสีทอง ที่ขึ้นคำเตือนและตัดภาพที่มีความรุนแรงออกไป ตามที่ วธ.ร้องขอ ซึ่งสิ่งที่ วธ.ได้ทำลงไปนั้น เพื่อเป็นตัวอย่างละครว่าอย่ามีความรุนแรง วาบหวิวจนเกินไปอีก ตนถือว่าทำงานมาถูกทาง และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เพราะคนดูจะเสียอรรถในการดู ที่มีตัวอักษรวิ่งว่า ละครเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง  สำหรับเรื่องเรตติ้ง น.18+ ต่อไปนี้จะต้องหลัง 4 ทุ่มครึ่ง จะมาฉายเป็นละครหลังข่าวดูกับเด็กไม่ได้ ส่วนเรต ฉ.20 ก็ต้องหลังเที่ยงคืน ซึ่งเมื่อมีมาตรการเหล่านี้ออกมาก็จะไม่ต้องไปตัดเนื้อหาละคร ไม่ต้องมานั่งไล่ตัดว่าฉากนั้นไม่ดี ถ้าฉายเวลานี้แล้ว ยังปล่อยให้เด็กมาดูอีกก็ช่วยไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ ตนทราบว่า ผู้ผลิตละคร กังวลว่า หากมีการปรับเวลาฉายละครไปหลัง 4 ทุ่มครึ่งจะไม่มีโฆษณานั้น เรื่องนี้ตนอยากให้ผู้ผลิตอย่าคิดถึงเรื่องกำไรจนมากเกินไป เชื่อว่า เมื่อละครย้ายไปหลัง 4 ทุ่มครึ่ง คนก็ยังจะตามไปดู เมื่อมีคนดูโฆษณาก็ต้องมีตามไปด้วย

 "เรื่องการถกปรับเปลี่ยนเวลาการฉายละคร ไม่ใช่หน้าที่ของผม เป็นหน้าที่ของท่านองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องให้ กบว.ช่อง ไปดูให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งผมทำหนังสือขอให้ทบทวนเวลาการฉายละครเรต น 18+ ถึงท่านไปแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของท่านที่จะดำเนินการอย่างไร ผมจะไม่ก้าวก่ายการทำงานระหว่างรัฐมนตรีด้วยกัน ใครจะมองว่อย่างไรก็ชั่ง ผมทำตามหน้าที่ของผม ที่เห็นว่า เป็นสิ่งที่ควรทำ"  นายนิพิฏฐ์  กล่าว

 สำหรับกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าเด็กอายุ 14 ปี ติดละครดังเรื่องดังกล่าว จนมีพฤติกรรมเลียนแบบก้าวร้าวต่อแม่ จนทำให้แม่น้อยใจ ไปกระโดดน้ำเสียชีวิตนั้น
 
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า หากเป็นจริงตามที่เป็นข่าว ที่เขาเห็นเรยา ทำกับแม่ได้ เขาก็ทำกับแม่เขาได้เหมือนกัน หากเป็นเช่นนั้นจริง จะปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กเลียนแบบละคร ที่ได้จดจำ คำพูด พฤติกรรม ไว้พอเขาไม่พอใจอะไรก็จะนำ คำพูด พฤติกรรมที่รุนแรง ออกมาใช้ นี่คือ สิ่งที่เรากังวล การที่เรยา เน้นย้ำหลายครั้ง ก็จะทำให้เด็กจดจำ ถ้าเด็กเขาบอกว่า ที่ทำกับแม่เลียนแบบจากละครเรื่องนี้แล้วละก็ทำให้แม่โดดน้ำตาย ทั้งผู้สร้าง ผู้เขียนบท ผู้แสดง ต้องไปทำบุญให้แก่แม่ของเด็กผู้นั้น เพราะผู้ผลิตเน้นย้ำเสมอว่า เป็นละครไม่ใช่เรื่องจริง ละครเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นละครบาป ตนจึงอยากเน้นย้ำว่า หากเด็กบอกว่าเลียนแบบละครจริง แล้วทำให้แม่เขาตาย จึงอยากให้ผู้ผลิตไปทำบุญสะเดาะเคราะห์


นางอัญญาอร พาณิชพึ่งรัช หัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวถึงการจัดเรตติ้งใหม่ ว่า
 
ทางเครือข่ายครอบครัวสนับสนุนเต็มที่ในการที่ภาครัฐ  ออกมาผลักดันเรื่องการจัดช่วงเวลาให้สอดคล้องกับการจัดเรตติ้ง เพราะเป็นเรื่องที่เครือข่ายครอบครัวเรียกร้องกันมานานมาก การผลักดันเรื่องช่วงเวลาจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบเรตติ้งมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตนไม่อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาให้สัมภาษณ์แล้วเงียบหายไป แต่อยากให้ดำเนินการอย่างจริงจัง ในเบื้องต้น ทางเครือข่ายครอบครัว จะออกมาร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผล โดยในวันที่ 9 พฤษภาคม ตนพร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายครอบครัว จะเดินทางเข้าพบ นายนิพิฏฐ์ พร้อมทั้งมอบเอกสารที่ได้ดำเนินการผลักดันการจัดระบบเรตติ้งให้เหมาะสมกับช่วงเวลาให้เป็นแนวทางในการดำเนินการอย่างเร่งด่วนด้วย

 นางอัญญาอร กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ทางเครือข่ายครอบครัว พร้อมเป็นเจ้าภาพ ในการจัดประชุม เพื่อหารือกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
 
โดยจะเชิญผู้ประกอบการ ผู้ผลิต ผู้แทนสถานีโทรทัศน์ ผู้เขียนบท หน่วยงานภาครัฐ และตัวแทนเครือข่ายครอบครัว มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อหาแนวทางร่วมในการกำหนดการดำเนินการจัดเรตติ้ง ซึ่งทางเครือข่ายครอบครัวไม่ได้โทษว่าทางผู้ประกอบการผิดหรือเป็น จำเลย แต่อยากหาทางจุดร่วมให้เข้าใจตรงกันว่า ถ้ามีรายการโทรทัศน์ที่ยังมีความล่อแหลม ทางด้านเนื้อหา ควรมองไปถึงครอบครัวที่ไม่พร้อม ให้พวกเขาคิดได้ว่าจะผลกระทบยังไง อยากให้ใช้ละครทุกประเภท สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับครอบครัวได้อย่างไร และให้ครอบครัวใช้ประโยชน์จากการบริโภคละครได้อย่างไร ทั้งนี้ ตนมองว่าหาเราสามารถดำเนินการเรื่องการกำหนดช่วงเวลาได้สำเร็จ ครอบครัวเองก็จะต้องทำหน้าที่ดูแลเด็กและเยาวชน

 "ที่ผ่านมา เราได้เสนอแนวทางการจัดเรตติ้งให้เหมาะสมกับช่วงเวลามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น จึงเกิดละครลักษณะที่ล่อแหลม ขาดการควบคุมเนื้อหา และภาพ ออกมาสู่สังคมให้เห็นกันเกลื่อน รวมไปถึงผลกระทบต่อเนื่อง อาทิ กรณีที่มีข่าวที่ลูกต่อว่าแม่ว่าทำตัวเลียนแบบละครดัง จึงทำให้แม่น้อยใจกระทั่งกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ดังนั้นถ้ามีการจัดทำเรตติ้งใหม่ ก็จะทำให้ลดปัญหานี้ลงไป เรื่องนี้ ตนไม่อยากเอามาผูกโยงกับละคร แต่มองว่าเด็กอาจจะมีภาวะทางอารมณ์ ด้วยสาเหตุจากที่แม่ดุด่า ส่วนจะโทษว่าเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมละครดังหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากพื้นฐานพฤติกรรมของเด็กว่าเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งอาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงอยู่แล้ว เมื่อชมละครที่มีเนื้อหารุนแรง ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่รุนแรงยิ่งขึ้น หรือ หากเด็กมีพฤติกรรมเหมือนเด็กทั่วไป ไม่ก้าวร้าว เมื่อชมละครก็อาจจะอยากเลียนแบบการกระทำของตัวละครได้" นางอัญญาอร กล่าว

 นายสงขลา วิชัยขัทคะ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า กรณีการจัดเรตติ้งทีวี

กำหนดโดยอาศัยประกาศหรือระเบียบหรือกฎเดิมของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งไม่มีสภาพเป็นกฎหมายแล้ว ดังนั้น ขณะนี้จึงใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ปี 2551 ที่ให้อำนาจของ กสทช. แต่เนื่องจาก กสทช.ยังไม่เกิด เมื่อไม่มี กสทช. บทเฉพาะกาลได้ให้อำนาจเลขาธิการสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีอำนาจสามารถสั่งระงับการเผยแพร่ได้ รวมถึงให้ยกเลิกได้ ตามมาตรา 37 ของกฎหมายดังกล่าว

 “สำหรับละครดอกส้มสีทอง ที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่เวลานี้ ถามว่ามีความผิดตามกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่ ซึ่งอาจจะต้องมีคนมาร้องเรียนก่อน ถึงจะถือว่าเข้าข่ายและสามารถเอาโทษได้ ซึ่งอาจจะระงับรายการ จนถึงเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายปี 2551 ซึ่งผิดกับภาพยนต์ถ้าขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อศีลธรรมอันดี ก็สามารถดำเนินการได้เลยไม่ต้องมีคนร้องเรียน แต่เรตติ้งโทรทัศน์จัดกันแบบหลวมๆ เท่านั้น ไม่ได้มีสภาพบังคับทางกฎหมาย เป็นแค่คำเตือน คำแนะนำเท่านั้น” นายสงขลา กล่าว


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์